เส้นทางสายไหม : ยุคโบราณและยุคกลาง (ตอนที่ 4)

เส้นทางสายไหม : ยุคโบราณและยุคกลาง (ตอนที่ 4)

ประมาณ 1,000 ปี (ประมาณ 3 ศตวรรษก่อนคริตกาลจนถึงประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 700) ของพัฒนาการบนเส้นทางที่เรียกว่าทางสายไหม

ความรู้ความเข้าใจทางประวัติศาสตร์ในบริเวณแถบนี้อยู่ที่พัฒนาการปฏิสัมพันธ์การปรับตัวของ 1. พัฒนาการและปฏิสัมพันธ์ของชนเผ่าเร่ร่อนกับอารยธรรมหรือเศรษฐกิจ สังคมที่มีพื้นฐานทางเกษตรตั้งถิ่นฐาน พัฒนาการของชนเผ่าเร่ร่อนมาเป็นพ่อค้าตัวกลางทางการค้าที่เด่นมากคือกรณีของ Sogdians พัฒนาการของชนเผ่าเร่ร่อนเป็นรัฐหรือจักรวรรดิ 2. การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อการพัฒนาการเกษตรและการค้า การขนส่ง การเดินทาง 3. บทบาทของรัฐหรือราชอาณาจักรดิหรือจักรวรรดิในการดูดซับส่วนเกินทางเศรษฐกิจ แลกกับการให้ความคุ้มครองแก่ผู้มีส่วนร่วม ทั้งในทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านศาสนา 4. การก่อตัวและบทบาทของศาสนาในการเป็นกลไกหรือสถาบันที่สำคัญทั้งในแง่การพัฒนาการของสังคมและการเป็นเครือข่าย มีผลต่อการพัฒนาการค้า การแลกเปลี่ยนในทุกๆ มิติ

ช่วงก่อนที่อิสลามจะมีบทบาทและอำนาจแผ่ขยายเข้ามาในเอเชียกลาง จากดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียนประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 700 ยุโรปค่อนข้างจะล้าหลังกว่าจีน อินเดีย กรีก โรมันและเปอร์เซีย มองจากอารยธรรมและพื้นที่หรือมิติทางภูมิศาสตร์ ประเด็นสำคัญซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่เราพบ คือความโหดร้าย ความป่าเถื่อนหรือความไม่มีอารยะของชนเผ่าเร่ร่อนหรือการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง อำนาจหรือความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจักรวรรดิ ไม่ว่าจะเป็นกรีก โรมัน เปอร์เซีย หรือจักรวรรดิกุษาณะ (Kushan Empire) หรือจักรวรรดิคุปตะในอินเดีย หรือจักรวรรดิไบเซนไทน์ หรือจักรวรรดิราชวงศ์ในจีน ในระยะยาวการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจของจักรวรรดิเหล่านี้ แม้บางครั้งจะเป็นอุปสรรคต่อการค้าการแลกเปลี่ยนบนเส้นทางสายไหมในยูเรเซีย แต่มันไม่สามารถหยุดชะงักบั่นทอนความต้องการของคนชุมชนในที่ต่าง ๆ ต้องการที่จะทำการค้าแลกเปลี่ยน

ในช่วงเวลาดังกล่าว เส้นทางสายไหมได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามันค่อยๆ พัฒนาเป็นเครือข่ายที่มีความเป็นอิสระด้วยตัวมันเอง โดยเครือข่ายของนักเดินทาง นักบวช พ่อค้า คนที่มีความศรัทธาในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือรัฐที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการระดมทรัพยากรหรือมองหาส่วนเกินทางเศรษฐกิจหรือเพื่อขยายอาณาจักร ขยายดินแดน เป็นต้น ในการเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ การเติบโตของการค้า การแลกเปลี่ยนบนเส้นทางสายไหมนี้ บทบาทของศาสนามีความสำคัญมาก ศาสนาสำคัญเพราะมนุษย์ในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่ใช่มนุษย์สมัยใหม่ จะไม่ให้ความสำคัญกับวิทยาการความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่มากเท่ากับความเชื่อในเรื่องของจิตวิญญาณ ธรรมชาติ หรืออะไรที่เหนือธรรมชาติ

ในกรณีของศาสนาในแถบตั้งแต่เอเชียกลางจนถึงจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เติบโตและเด่นที่สุดบนเส้นทางสายไหม ที่เป็นเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะว่าศาสนาพุทธกำเนิดขึ้นก่อนศาสนาที่สำคัญของโลก เช่น คริสต์และอิสลาม อีกสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะแหล่งกำเนิดในประเทศที่ใหญ่ เช่น อินเดียและการแพร่ขยายไปยังประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนอย่างน้อยก็ถึงราชวงศ์ถังในศตวรรษที่ 7 ที่การเติบโตของศาสนาคริสต์ในจีนเริ่มอิ่มตัว หรือมีอุปสรรคจากผู้ปกครอง เชื่อกันว่าความสามารถในการปรับตัวในเรื่องคำสอนทำให้ทฤษฎีต่างไปจากการปฏิบัติ ทำให้ชาวพุทธในอินเดียและในจีนมีความนิยมในศาสนาพุทธ มันตอบสนองความต้องการของเขา ในกรณีของอินเดียแน่นอนว่ากษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะส่งเสริมและศรัทธาในศาสนาพุทธหรือในเวลาต่อมา กรณีของพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ที่สำคัญการเติบโตทางด้านการค้า การผลิตทางการเกษตรทำให้เมืองในเขตปกครองของจักรวรรดิกุษาณะเจริญรุ่งเรือง ซึ่งศาสนาพุทธก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความต้องการสะสมความมั่งคั่ง คำสอนและการปฏิบัติเน้นให้ชาวพุทธหากำไร ทำกำไรสะสมทุนจากการค้าการทำงาน 

นอกจากนี้ การค้าที่รุ่งเรืองในแถบด้านเหนือของอินเดียกลายเป็นแร่งดึงดูดผู้คนอพยพเข้ามามากขึ้นจากบริเวณตะวันออกแถบลุ่มแม่น้ำคงคา ประชากรที่เป็นชาวพุทธเพิ่มมากขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกับการเติบโตของจักรวรรดิ การเติบโตของเมืองและการค้าบนเส้นทางสายไหมที่จักรวรรดิกุษาณะมีอำนาจควบคุมและต่อมาได้ขยายไปในที่อื่น ๆ ในแถบเอเชียกลาง ไปที่จีนและไปที่เมดิเตอร์เรเนียนแม้ว่าจะไม่มาก

ความเชื่อเรื่องการบริจาคให้กับพระให้กับวัดเพราะเชื่อในผลตอบแทนที่จะมาในชาติหน้าและชาตินี้ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ทำให้สถาบันพุทธร่ำรวยมีความมั่งคั่งและความสมบูรณ์ของสิ่งอำนวยความสะดวกหรือสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ตามมา เช่น การสร้างศาสนสถาน เช่น วัด สถูปเจดีย์ การแกะสลักสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ยิ่งสูงยิ่งบอกถึงบารมีของเมืองและกษัตริย์หรือจักพรรดิ การดัดแปลงถ้ำเป็นที่สักการะที่ประชุมนัดพบหรือเป็นพักสำหรับผู้เดินทาง เป็นต้น เกิดวัด ถ้ำวัด สถูปเจดีย์เป็นร้อยเป็นพัน รวมทั้งพระพุทธรูปขนาดใหญ่มหึมาจาก Bamiyan ทางตอนกลางเหนือของเอเชียไปจนถึง Yungang ทางตะวันออกของจีน ทั้งหมดนี้เรียงรายบนถนนสายไหมจากเอเชียกลาง (ในกรณีของฮินดูและศาสนาพุทธมหายานจะมีลักษณะเป็นปราสาท (Temple) 

ในกรณีของฮินดูหรือมหายานก็คือเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของเทพเจ้า คือมีห้องเป็นคูหาไว้ประดิษฐานรูปเคารพทางศาสนาซึ่งต่างกับสังคมพุทธเถรวาท เช่น ของไทย พม่า ลาว เขาพระสุเมรุมาศ คือ สถูปเจดีย์ที่ชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุจะเป็นโครงสร้างที่ไม่มีห้องคูหา) และที่สำคัญมากมีผลต่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืนยาวนานอีกหลายร้อยปี อันเนื่องมากจากความมั่งคั่งของสถาบันพุทธ โดยเฉพาะอินเดียและจีน สถาบันพุทธกลายเป็นผู้บริโภครายใหญ่ไม่ใช่สำหรับสินค้าที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิต แต่สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีราคาแพงต้องนำเข้า เช่น ไหมราคาแพง คุณภาพสูงจากจีน จากเปอร์เซียหรือจักรวรรดิไบเซนไทน์ เครื่องเงินชั้นดี เป็นต้น

แต่ตัวละครสำคัญซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น คือ ผู้ปกครองและชนชั้นนำซึ่งในหลายกรณีก็เติบโตมาจากการเป็นชนเผ่าเร่ร่อนมาก่อนล้วนใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ฟุ่มเฟือย นอกจากเป็นผู้บริโภคใหญ่จะต้องมีนโยบายส่งเสริมหรือผูกขาดทำให้มีการเกิดและการเติบโตของอุตสาหกรรมฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะการผลิตไหม