ระวัง! แปรญัตติงบ ช่องโหว่ ‘โกงเชิงนโยบาย’

 ระวัง! แปรญัตติงบ    ช่องโหว่ ‘โกงเชิงนโยบาย’

“3.22 ล้านล้านบาท” ตัวเลขงบรายจ่าย ประจำปี 63 ที่ ครม.ลุงตู่ คำนวณไว้สำหรับการบริหารประเทศ โดยจะเข้าสู่การพิจารณาสภาฯ วาระแรก 17-18 ต.ค.นี้

ขณะที่ฝ่ายค้าน เตรียมเปิดศึกซักฟอกงบฯ อีกระลอก หลังอารมณ์ค้างมาจากญัตติที่เพิ่งรุมถามนายกฯ ที่ไม่แจกแจงรายละเอียดงบใดๆ ในการแถลงนโยบายรัฐบาล ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า “ต้องแสดงแหล่งที่มา ประมาณการรายได้ ผลสัมฤทธิ์ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาต่างๆ” 

แน่นอนว่า ตั้งแต่งบฯ เข้าวาระแรก ยันวาระสาม ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาลอิสระ และองค์กรตรวจสอบ ต่างสามัคคีกันจับจ้อง ส่องความโปร่งใส และความคุ้มค่าในการจัดสรรงบในโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลภูมิใจเสนอ

เพราะในรัฐธรรมนูญ ยังมีกฏเหล็กสำคัญ ที่กำหนดมาตรการในการป้องกันประโยชน์ทับซ้อนโดยระบุทั้งข้อห้ามและบทลงโทษไว้ชัดเจน ว่า ห้าม” สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือคณะกรรมาธิการ เสนอ แปรญัตติ และการกระทำด้วยประการใด ที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว.มีส่วนทั้งทางตรง ทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย ไม่เช่นนั้น ส.ส. ส.ว.จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้ง และอาจส่งผลให้ ครม.พ้นตำแหน่ง ยกคณะอำลาทำเนียบฯ ไปด้วย

จริงอยู่ ถึงแม้ในรัฐธรรมนูญจะมีทั้งมาตรการป้องกันและกำราบ แต่ประเด็นที่สังคมไม่ไว้ใจนักการเมือง คือ การหาช่องโหว่ ใช้เทคนิคทางกฎหมายเล่นแร่แปรธาตุ ยักย้ายถ่ายเทงบฯ ไปเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

ไม่ต้องไปควานหาตัวอย่างที่ไหนไกล หันไปก็เจอลูกหาบนายกฯลุงตู่ ที่ ป.ป.ช.เพิ่งชี้มูลความผิด กรณีทุจริต จัดสรรงบฯ สร้างสนามฟุตซอลในโคราช ที่ฟาดทั้ง นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ ในขบวนการถึง 24 ราย ซึ่งได้ร่วมขบวนการ แหกกฎในรัฐธรรมนูญฉบับ 50 ที่มีกติกาเหมือนฉบับ 60 เป๊ะๆ 

จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็น “กระบวนการทุจริตเชิงนโยบาย" ตั้งแต่ต้น ยันปลายทาง โดยเริ่มต้นด้วยการแปรญัตติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แล้วแบ่งหน้าที่กันโกย ตามบทบาท อำนาจ ที่แต่ละคนมีหัวโขน 

แม้ที่ผ่านมา หลายฝ่ายจะพยายามแก้ปัญหา แต่ยิ่งมี“กติกา”ใหม่ๆ “กติโกง” ก็ยิ่งแยบยลขึ้นเรื่อยๆ  

ฉะนั้นก็คงไม่พ้นภาระรัฐบาล ที่จะต้องเป็นหัวขบวน ในการสกัดและตัดวงจร ที่ก่อให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย ชนิดที่ต้องตามให้ทันวิธีโกง!