การวางแผนสำหรับการเกษียณอายุ

การวางแผนสำหรับการเกษียณอายุ

วันที่ 1 ต.ค.นี้ ถือเป็นวันเริ่มต้นชีวิตใหม่สำหรับหลายๆ ท่านที่ต้องเกษียณอายุจากการทำงาน

 ในอดีตภาพของการเกษียณคือการยุติชีวิตการทำงานและเข้าสู่ช่วงพักผ่อน แต่ในยุคที่คนอายุยืนขึ้น อีกทั้งโอกาสต่างๆ เปิดกว้างมากขึ้น การเกษียณสำหรับหลายๆ ท่านกลับกลายเป็นการเริ่มต้นชีวิตบทใหม่ของชีวิต

ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้เกษียณกันมากขึ้น มีอาจารย์จาก Harvard Business School ชื่อ Teresa Amabile ที่ได้สัมภาษณ์ในเชิงลึกและตามติดชีวิต ผู้ที่กำลังจะถึงวัย และผู้ที่ถึงวัยเกษียณ แล้วพบว่าผู้เกษียณนั้น เมื่อเกษียณใหม่ๆ จะมีความสุขเสมือนกับช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์เมื่อแต่งงานใหม่ๆ นั้นคือชีวิตไม่ต้องเร่งรีบ ไม่ต้องตื่นตามนาฬิกาปลุกทุกเช้า ไม่ต้องเปิดดูตารางนัดหมายแล้วพบว่าตารางชีวิตของตนเองเต็มในทุกช่องที่มีอยู่ รวมถึงไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาของคนอื่นๆ อีกต่อไป ซึ่งช่วงเวลาอันหอมหวลสดชื่นนี้จะคงอยู่เพียงไม่กี่วัน สัปดาห์ หรือ เดือน หลังจากนั้นความจริงของชีวิตก็จะเริ่มเข้ามา นั้นคือ การจะต้องปรับตัวกับชีวิตหลังเกษียณ

การปรับตัวที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องเงินหรือเรื่องสุขภาพ แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวตนของแต่ละคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่จะทำให้ช่วงเวลาที่เหลือของชีวิต

ประเด็นสำคัญจากงานวิจัยชิ้นนี้คือ คนจำนวนมากจะมีการวางแผนกันสำหรับชีวิตหลังเกษียณ แต่เป็นการวางแผนในด้านการเงิน (ให้มีแหล่งเงินใช้อย่างเพียงพอหลังเกษียณ) กับวางแผนด้านสุขภาพกาย แต่สิ่งที่จะขาดไปคือการวางแผนถึงสิ่งที่จะทำหลังเกษียณ โดยเฉพาะในเรื่องของบทบาทและตัวตนของแต่ละคน (ประโยคภาษาอังกฤษท่ีเขาใช้คือ Who am I now?) งานวิจัยชี้ชัดเลยว่าผู้ที่วางแผนหรือคิดในเรื่องนี้ จะปรับตัวเข้าสู่ชีวิตหลังเกษียณได้ราบรื่นกว่า

นอกจากนี้งานวิจัยยังบ่งชี้อีกว่าเนื่องจากเมื่อเกษียณแล้วจะทำให้มีเวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้น ในกรณีที่คุณสุภาพบุรุษที่เกษียณ และมีภรรยาเป็นแม่บ้าน หลายคนอาจจะคาดหวังว่าเมื่อเกษียณแล้วจะมีเวลาให้กับภรรยามากขึ้น แต่งานวิจัยกลับพบว่าการเกษียณของสุภาพบุรุษกลับทำให้ชีวิตของคุณภรรยาปั่นป่วน วุ่นวาย และไม่สงบสุขอีกต่อไป

ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ปรากฎใน Harvard Business Review ที่มุ่งเน้นศึกษาการเกษียณอายุหรือการลงจากตำแหน่งของบรรดา CEO ทั้งหลายในบริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา และพบข้อเท็จจริงเหมือนกับการเกษียณอายุของบุคคลทั่วไป นั้นคือ CEO จำนวนมากจะมัวแต่ยุ่งกับการทำงานหรือการส่งงานต่อให้กับ CEO ใหม่ จนลืมคิดและวางแผนว่าหลังจากเกษียณหรือลงจากตำแหน่งแล้ว ชีวิตจะทำอะไรต่อไป

มี CEO บางท่านให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากมัวแต่ยุ่งกับงาน จนกระทั่งไม่ได้คิดหรือวางแผนที่จะคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ทำให้วันแรกๆ หลังจากลงจากตำแหน่งนั้นเหมือนกับตกเหวเลยทีเดียว เพราะนอกจากไม่มี งาน หน้าที่ ความรับผิดชอบที่ต้องทำแล้ว อำนาจ รวมทั้งสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ติดตัวมาขณะเป็น CEO ก็หายไปด้วย

อย่างไรก็ดี ข้อที่แตกต่างระหว่าง CEO กับพนักงานบริษัทธรรมดาก็คือ บรรดา CEO เหล่านั้นจะมีโอกาสต่างๆ มารอถึงหน้าประตูเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้า CEO สามารถบริหารงานองค์กรได้ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น CEO ทั้งหมดในการศึกษาอาจจะมีช่วงที่สับสนกับชีวิตหลังเกษียณบ้างในช่วงแรกๆ แต่หลังจากนั้นก็สามารถหาสิ่งที่จะทำต่อไปกับชีวิตได้ ทั้งงานสาธารณกุศล งานช่วยองค์กรอื่นๆ งานให้ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์กับรุ่นต่อไป ฯลฯ สุดท้าย CEO ทั้งหมดก็มีความสุขกับชีวิตหลังเกษียณ เนื่องจากไม่ต้องอยู่ในกรอบหน้าที่ ความรับผิดชอบของการทำงานแบบเต็มเวลา แต่ขณะเดียวกันก็มีอิสระที่จะทำในสิ่งที่อยากจะทำมานาน

บทสรุปที่สำคัญคือไม่ว่าจะทำงานในระดับไหน เมื่อชีวิตเข้าใกล้วัยเกษียณ ก็จะต้องเริ่มคิด เริ่มวางแผนแล้วว่าชีวิตหลังเกษียณจะเป็นอย่างไรต่อไป

ป.ล.บทความนี้เขียนจากมุมมองของผู้ที่ยังไม่เกษียณนะครับ