อาเซียนกำลังเข้าสู่ยุคทองการลงทุน

อาเซียนกำลังเข้าสู่ยุคทองการลงทุน

อาเซียนเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดของโลก ที่มูลค่า 1.49 แสนล้านดอลลาร์ในปีทีแล้วเพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า

จากข้อมูลของ United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD) ในปี 2018 ภูมิภาคอาเซียนขยับขึ้นมาเป็นภูมิภาคที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากที่สุดของโลก ที่มูลค่า 1.49 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า สวนกระแส FDI Inflows ของทั่วโลกที่ลดลงถึง 13%

ด้วยคุณสมบัติด้านภูมิศาสตร์อันโดดเด่น ประกอบไปด้วย 10 ประเทศ มีจำนวนประชากรรวมกันสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือจำนวน 660 ล้านคน เกินกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 30 ปี อาเซียนจึงอยู่ในความสนใจของธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงแหล่งผู้บริโภคที่กำลังขยายตัว

ต้นทุนทางการผลิตที่แข่งขันได้ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมถึงกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับ คือปัจจัยที่ช่วยด้านการลงทุนให้กับภูมิภาคนี้ จากข้อมูลของรายงาน Investing in ASEAN 2019/2020 ที่จัดทำโดยประชาคมอาเซียน ภูมิภาคอาเซียนมีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลที่รวดเร็วที่สุดในโลก เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 124,000 คน ต่อวัน ดิจิทัลเจเนอเรชั่นนี้เองจะเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการด้านผลิตภัณฑ์และบริการด้านเทคโนโลยี ที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกต่อการดำรงชีวิตในด้านต่าง ๆ ผลักดันให้เกิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการลงทุนด้านเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี ด้วยขนบธรรมเนียม ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมีเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศในอาเซียน นักลงทุนหรือธุรกิจที่ต้องการขยายกิจการในภูมิภาคนี้ ควรทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ถึงสภาพการดำเนินธุรกิจและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

สำหรับตลาดอาเซียนที่น่าลงทุนที่สุดในขณะนี้ ได้แก่

สิงคโปร์ มีแรงงานที่มีการศึกษาสูง และระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของบริษัทต่าง ๆ ในการเข้ามาทำการศึกษาตลาด ก่อนที่จะขยายกิจการออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อัตราการเติบโตของ FDI มาจากการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา รวมถึงภาคธุรกิจบริการที่เกิดขึ้นมารองรับการเติบโตของธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล

อินโดนีเซีย เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดของอาเซียน ธุรกิจด้านอุปโภคบริโภคจึงน่าลงทุน โดยเฉพาะบริการที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์มการทำธุรกรรมผ่านมือถือ หรือบริการส่งอาหาร เป็นต้น

มาเลเซีย เป็นที่รู้จักเรื่องตลาดแรงงานที่มีฝีมือสูง และภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มั่นคง มาเลเซียจึงมีการลงทุนของต่างชาติในด้านการผลิต อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และบริการ จากข้อมูลของกระทรวงการคลังของมาเลเซีย ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มาเลเซียดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศไปแล้ว 7.1 พันล้านดอลลาร์ ในทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 73.4% จากปีที่แล้ว

ประเทศไทย จากข้อมูลของ UNCTAD และธนาคารแห่งประเทศไทย ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมการผลิตแห่งอาเซียน ในปีที่ผ่านมา ไทยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงขึ้นเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินลงทุนในภาคการผลิตทั้งสิ้น

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และเส้นทางการค้าที่เป็นที่รู้จักคุ้นเคย ทำให้เหมาะสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่ง ด้านภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็เติบโตเช่นกัน จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพบว่า ในปี 2561 มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติการลงทุนแล้วรวมมูลค่าทั้งสื้น 1.2 พันล้านดอลลาร์ในอีก 5 ปีข้างหน้า รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าโครงการ EEC จะสามารถเพิ่มเม็ดเงินของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนได้สูงถึง 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์

ตลาดอีคอมเมิร์ซก็มีการเติบโตอย่างมาก โดยไทยขึ้นมาเป็นหนึ่งในตลาดค้าขายออนไลน์แบบ B2C ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นจากการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาครัฐ และประชากรคนรุ่นใหม่ นิยมการใช้เทคโนโลยี

เวียดนาม ถือว่าเป็นดาวเด่นของภูมิภาคนี้ จากข้อมูลของ UNCTAD และกระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนาม ชี้ว่าเวียดนามได้รับเงินลงทุนจากต่างประเทศรวมมูลค่าว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีที่แล้ว และ 1.847 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

เวียดนามจะเป็นประเทศคู่ค้าและตลาดการค้าที่สำคัญของประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า จากการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงแผนพัฒนาของรัฐบาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตนิคมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง

เราจะมาเจาะลึกถึงตลาดเวียดนามกันในตอนหน้า...