อำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐชาติ กับ บรรษัทข้ามชาติไฮเทค

อำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐชาติ กับ บรรษัทข้ามชาติไฮเทค

ทศวรรษที่ผ่านมา บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงไทย มีการโยกย้ายการรายงานผลกำไรระหว่างแหล่งผลิตของบริษัทในเครือเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี

การหลีกเลี่ยงภาษีของบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้มีนัยสำคัญ ทั้งในเชิงสถิติ เชิงเศรษฐศาสตร์ และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การทวีความสำคัญของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิบัตรต่างๆ ได้เอื้อต่อการวางแผนภาษีของบรรษัทข้ามชาติ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยและสังคมไทยน้อยกว่าที่ควร เพราะขาดยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเพื่อดึงประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติสู่เศรษฐกิจและกระจายมายังคนไทยส่วนใหญ่ กลายเป็นเพียงมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและเคลื่อนย้ายทุนออกไป ทิ้งความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อม ความร่อยหรอของทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้กับลูกหลานของเรา

การขยายอำนาจของบรรษัทไฮเทคข้ามชาติ ทำให้รัฐบาลต่างๆ โดยเฉพาะในยุโรปหามาตรการในการกำกับดูแล นอกจากประเด็น “ภาษี” หรือ “การจัดการผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” แล้ว ยังมีประเด็นที่มีมิติการเมือง ยิ่งมีกรณีของบริษัท Cambridge Analytica ที่นำ Big Data จาก Facebook ไปใช้เพื่อแทรกแซงผลการเลือกตั้งในสหรัฐ เรื่องนี้ทำให้รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปตื่นตัวออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองความเป็นส่วนตัวและ Data ของประชาชน กฎหมายแบบนี้เวลาออกมาบังคับใช้ก็ต้องระมัดระวังเช่นเดียวกันเพื่อไม่ให้เกิดต้นทุนต่อธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลาง หรือเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในทางสร้างสรรค์

ส่วนอำนาจทางเศรษฐกิจ (การจัดเก็บภาษี) ของรัฐชาติ กับความสามารถในการหลบเลี่ยงภาษีของบรรษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ข้ามชาติยังคงเป็นประเด็นร้อนในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ย้อนกลับไปเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีคำสั่งบังคับให้รัฐบาลไอร์แลนด์เรียกเก็บจ่ายภาษีย้อนหลัง 1.3 หมื่นล้านยูโร จากบริษัท Apple หลังจากที่รัฐบาลไอร์แลนด์ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี จนบริษัท Apple จ่ายภาษีเพียง 0.005% ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ในยุโรปจ่ายภาษี 23% และยังมีประเด็นฟ้องร้องบริษัท Amazon ต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาลลักเซมเบิร์กอีก 250 ล้านยูโร

การออก พ.ร.บ. มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (transfer pricing) จะมีประสิทธิผลเมื่อมีบังคับใช้อย่างจริงจัง กฎหมายนี้จะแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีได้ระดับหนึ่ง จะช่วยเพิ่มข้อมูลเพื่อให้กรมสรรพากร สามารถคัดกรองและออกแบบกลไกการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ประเด็นการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากรายได้ภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นแหล่งรายได้หลัก สำหรับประเทศไทยนั้นได้พึ่งพารายได้จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด ระดับความเข้มงวดของการตรวจสอบบัญชีนั้น สามารถลดทอนแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรของบริษัทข้ามชาติในภูมิภาคได้อย่างมีนัยสำคัญ

จากงานวิจัยของ ดร.กฤษณ์เลิศ สัมพันธารักษ์ (สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์) และ ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ) ได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการรายงานกำไรของบริษัท และการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีในต่างประเทศของบริษัทต่างๆ ในเครือ โดยได้ควบคุม fixed effects ต่างๆ และพบว่า บริษัทข้ามชาติใน ASEAN5 มีการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอย่างมีนัยสำคัญ โดยการลดลงของอัตราภาษีต่างชาติลง 10 percentage point จะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติลดการรายงานกำไรในประเทศแหล่งลงทุน (host country) ถึง 10.3% โดยเฉลี่ย ทั้งนี้ งานวิจัยชี้ว่าแรงจูงใจในการโยกย้ายกำไรเพื่อหลบเลี่ยงภาษีนี้จะเด่นชัดสำหรับบริษัทในภาคการผลิตและบริษัทขนาดใหญ่

เพื่อแก้ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีในส่วนนี้ รัฐบาลควรให้ความสำคัญต่อมาตรการป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบบัญชี (auditing scrutiny) ให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงนโยบายภาษีของต่างประเทศ อย่างเช่น การลดอัตราภาษีนิติบุคคลของสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้วจากระดับ 35% เป็น 21% ทำให้บรรษัทข้ามชาติสัญชาติสหรัฐฯ หรือบรรษัทข้ามชาติในไทยที่มีสาขาในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจอย่างมีนัยสำคัญในการรายงานผลกำไรในประเทศไทยต่ำกว่าความจริง มีการลดการรายงานผลกำไรในไทยลง ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของไทยอย่างมีนัยสำคัญ จากการศึกษาวิจัยพบว่า รายได้ภาษีหายไปอย่างน้อย 4% จากกรณีดังกล่าว หากไม่มีการแก้ไข แนวโน้มรายได้ภาษีส่วนนี้ไทยจะเก็บได้ลดลงกว่าความเป็นจริงอย่างต่อเนื่องในอนาคต

ขณะเดียวกัน ในประเทศที่แพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่ได้พัฒนามากนักและต้องการส่งเสริมให้มีการขยายตัว การจัดเก็บภาษีเร็วเกินไปอาจส่งผลกระทบชะลอการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทคเหล่านี้ การจัดเก็บภาษีการขายสินค้าหรือบริการทางดิจิทัล เช่น โฆษณา cloud service อาจนำไปสู่การผลักภาระไปยังผู้บริโภคได้ ปัญหาเรื่องภาษีของบรรษัทข้ามชาติไฮเทคกับอำนาจทางเศรษฐกิจของรัฐชาติในการเรียกเก็บภาษีเป็นสิ่งที่ต้องมีความร่วมมือในระดับโลกเท่านั้น จึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง หากประเทศใดประเทศหนึ่งทำเพียงลำพังจะไม่ได้ผล ซ้ำร้ายบรรษัทเหล่านี้อาจย้ายฐานการผลิตหรือฐานการบริการหรือใช้การบันทึกทางบัญชียักย้ายถ่ายเทกำไร กลายเป็นว่า บางประเทศนอกจากจะสูญเสียรายได้ภาษีแล้ว ยังสูญเสียการลงทุนและความสามารถในการแข่งขันถดถอยลงอีกต่างหาก