ไทยใกล้เป็นอาณานิคม?

ไทยใกล้เป็นอาณานิคม?

แม้ไม่เคยเสียเอกราชให้แก่ผู้ล่าอาณานิคม แต่ไทยกำลังตกอยู่ในกระบวนการสูญเสียอิสรภาพ ในระดับบุคคล

ตัวชี้บ่งได้แก่ภาวะหนี้สินซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เรื่องนี้คงเป็นที่ทราบกันดีแล้ว ล่าสุด ธปท. คาดว่าปีนี้ ภาระหนี้ครัวเรือนจะสูงถึงเกือบ 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจากไม่ถึง 52% เมื่อปี 2550

เนื่องจากผู้เป็นหนี้มีความจำเป็นที่จะต้องชำระตามกำหนดเวลา เมื่อมีรายได้ ส่วนหนึ่งต้องถูกกันไว้สำหรับชำระหนี้ ภาระหนี้ยิ่งสูงขึ้นเท่าไร ลูกหนี้จึงยิ่งต้องสูญเสียอิสรภาพในด้านการจัดรายได้เพื่อการใช้จ่ายสูงขึ้นเท่านั้น ข้อมูลเกี่ยวเนื่องกับภาระหนี้บ่งชี้ว่าคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นหนี้ต่อไปตลอดวัยชรา แนวโน้มต่างๆ บ่งชี้ถึงปมปัญหาไม่ว่าจะเป็นยอดคงค้างทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หรือหนี้ที่ชำระไม่ได้ส่งผลให้ต้องปรับโครงสร้าง ลูกหนี้ที่เข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ย่อมมีสภาพไม่ต่างกับผู้สูญเสียอิสรภาพแบบแทบสมบูรณ์

ตัวเลขเหล่านี้ชี้บ่งถึงปัญหาขั้นน่าวิตก กองทุนการเงินระหว่างประเทศจึงออกมาเตือน แต่ตามรายงานของสื่อ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจแก้ต่างว่าคนไทยเป็นหนี้มากขึ้นเพราะลงทุนเพิ่มขึ้น การแก้ต่างแนวนี้น่าอับอาย ทั้งนี้เพราะหากเป็นจริง รัฐบาลคงหลับตาสร้างแรงจูงใจให้การลงทุนเพิ่มขึ้น การลงทุนส่วนใหญ่จึงเป็นแบบไม่คุ้มค่าส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจใกล้ติดลบพร้อมกับการพอกพูนของหนี้ค้างชำระทำให้ต้องปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นด้วย

กระบวนการสร้างหนี้ที่ส่งผลให้เกิดการสูญเสียอิสรภาพดังกล่าวอาจมองได้ว่ามิใช่ปรากฏการณ์ใหม่ มันเริ่มขึ้นอย่างจริงจังตั้งแต่ครั้งเกิดแผนเร่งรัดพัฒนาประเทศ กระบวนการเร่งรัดพัฒนาส่งผลให้ถนนและไฟฟ้าขยายเข้าไปในชนบทห่างไกลพร้อมกับชาวนาชาวไร่เข้าถึงแหล่งเงินกู้อย่างกว้างขวาง ถนนและไฟฟ้ากระตุ้นให้ชาวไร่ชาวนาบริโภคมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าจำพวกโทรทัศน์ พัดลมและตู้เย็น ชาวไร่ชาวนาจำต้องแสวงหารายได้เพิ่ม หนทางของพวกเขาส่วนใหญ่ได้แก่การลงทุนในนา ในไร่ โดยวิธีผลิตใหม่ๆ ซึ่งต้องใช้เงินกู้ ทั้งจากแหล่งในระบบและนอกระบบ

ดังที่ทราบกันดี การลงทุนมิใช่จะได้ผลคุ้มค่าเสมอไป ยิ่งกว่านั้น การลงทุนในภาคเกษตรกรรมมีคำสาปแฝงอยู่ กล่าวคือ เมื่อผู้ลงทุนได้ผลผลิตจำนวนมากพร้อมกัน ราคาของผลผลิตนั้นมักตกต่ำจนทำให้ขาดทุนกันอย่างกว้างขวาง นอกจากนั้น ภาคเกษตรกรรมมักถูกซ้ำเติมด้วยสภาพดินฟ้าอากาศซึ่งอาจผิดปกติเมื่อไรก็ได้ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ภาระหนี้สินของเกษตรกรพอกพูนขึ้นจนในที่สุดนำไปสู่การสูญที่ดิน เกษตรกรไร้ที่ทำกินของตนเองจึงเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับมหาเศรษฐีมีที่ดินเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับเกษตรกร การเป็นหนี้จนสูญที่ดินย่อมหมายถึงการสูญเสียอิสรภาพ

ในระดับประเทศ รัฐบาลยังสร้างหนี้ทั้งภายในและภายนอกเพิ่มขึ้นส่งผลให้รัฐสูญเสียอิสรภาพในการใช้จ่ายไปในระดับหนึ่งเช่นเดียวกับเอกชน ข้อมูลหาได้ไม่ยาก จึงมักมีการทักท้วง อย่างไรก็ดี ยังมีหนี้ที่ไม่ค่อยมีผู้เฉลียวใจว่าอาจส่งผลให้สังคมไทยไร้อิสรภาพ หรือเป็นอาณานิคมได้ นั่นคือ การลงทุนของต่างชาติที่รัฐบาลไทยพยายามจูงใจให้พวกเขาเข้ามา ในบรรดาแรงจูงใจได้แก่การให้ซื้ออสังหาริมทรัพย์และเช่าที่ดินได้ยาวถึง 99 ปี แม้จะได้มากขนาดนั้น แต่ต่างชาติยังไม่พอ จึงรุกต่อไปรวมทั้งการเข้าครอบครองที่ดินผ่านการใช้คนไทยเป็นตัวแทนและการทำกิจการแนวผิดกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ไทยมองข้าม หรือรู้เห็นเป็นใจเพราะได้รับสินบน

แรงจูงใจทั้งหลายมองได้ว่ามีค่าเท่ากับการเปิดประตูบ้านให้ต่างชาติเข้ายึดเมืองไทยได้แบบแทบจะสมบูรณ์ แต่รัฐบาลต่างชาติที่จะทำได้ต้องมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เป็นเผด็จการที่สามารถควมคุมภาคเอกชนได้ มีกำลังทางเศรษฐกิจสูง มีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวและมีชาวไทยร่วมมือ ปรากฏการณ์หลากหลายในช่วงนี้รวมทั้งการจ้องมองจะเข้าครอบครองพื้นที่เกษตรของไทยอาจมองได้ว่าบางประเทศพยายามทำโดยชาวไทยไม่ตระหนักยกเว้นเศรษฐีที่ดิน เศรษฐีเหล่านี้คงให้ความร่วมมือเต็มที่เพราะตนจะได้กำไรในอัตราสูง

เมื่อทั้งภาคเอกชนรวมทั้งชาวนาชาวไร่และภาครัฐค่อย ๆ สูญเสียอิสรภาพ สังคมไทยย่อมค่อย ๆ กลายเป็นอาณานิคม