ความสามารถการเข้าทำสัญญากับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ

ความสามารถการเข้าทำสัญญากับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ

คดีค่าโง่โฮปเวลล์ เป็นคดีที่อยู่บนหน้าสื่อต่างๆ มาเป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปี นับตั้งแต่การเปิดประมูลในปี 2533 การบอกเลิกสัญญาในปี 2540 - 2541

นำไปสู่การฟ้องคดีของบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยอ้างว่ารัฐบาลไทยบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ ซึ่งต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการก็ได้มีคำชี้ขาดในปี 2551 ให้รัฐบาลไทยชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ จำนวนประมาณ 11,888 ล้านบาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี จนว่าจะชำระเสร็จ จากนั้นก็มีการเข้าสู่กระบวนการขอเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว จนในที่สุดเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ 

สิ่งที่สะดุดตาผู้เขียนคือ ภายหลังจากที่เสร็จสิ้นกระบวนการที่ศาลปกครองสูงสุดซึ่งควรจะทำให้คดีนี้ถึงที่สุดแล้ว แต่รัฐบาลไทยก็พยายามอาศัยช่องทางตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง เพื่อขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่โดยอ้างว่า ศาลปกครองสูงสุดรับฟังข้อเท็จจริงผิดพลาด และจะมีพยานหลักฐานใหม่ในคดีที่โต้แย้งเกี่ยวกับความสามารถในการเข้าทำสัญญาของบริษัทโฮปเวลล์ ซึ่งในขณะเข้าทำสัญญาเป็นการดำเนินการของคนต่างด้าว

และแม้ว่าเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของรัฐบาลไทยก็ตาม สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจคือ ข้อโต้แย้งของรัฐบาลไทยเรื่องความสามารถในการเข้าทำสัญญาของคนต่างด้าว ซึ่งจากข้อมูลที่ปรากฏในสื่อดูเหมือนกับว่ารัฐบาลไทยจะโต้แย้งว่า บริษัทโฮปเวลล์มีสถานะเป็นคนต่างด้าวในขณะที่เข้าทำสัญญากับรัฐบาลไทย ดังนั้น ในการที่บริษัทโฮปเวลล์จะประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้นั้นจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นกฎหมายที่ห้ามมิให้ “คนต่างด้าว” ประกอบธุรกิจบางประเภทตามระบุไว้ในกฎหมายดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับยกเว้นตามกฎหมายอื่น สำหรับกรณีบริษัทโฮปเวลล์นั้นก็ได้รับยกเว้นผ่านการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องรักษาสัดส่วนของผู้ถือหุ้นต่างด้าวตามที่กำหนดไว้ในบัตรส่งเสริมการลงทุน แต่ดูเหมือนจะมีหลักฐานปรากฏว่า ณ วันที่บริษัทโฮปเวลล์ เข้าทำสัญญากับรัฐบาลไทย บริษัทโฮปเวลล์ ผิดเงื่อนไขการดำรงสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างด้าว จึงเสมือนกับว่าบริษัทโฮปเวลล์ เป็นคนต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต

เรื่องนี้สามารถแยกพิจารณาออกเป็นได้สองประเด็นย่อยคือ

(1) ความสามารถในการเข้าทำสัญญาของนิติบุคคล และ

(2) ความสามารถในการเข้าทำสัญญาของคนต่างด้าว

ประเด็นแรก ในเรื่องความสามารถในการเข้าทำสัญญาของนิติบุคคลซึ่งเป็นบริษัทจำกัดอย่างบริษัทโฮปเวลล์ โดยทั่วไปแล้วจะดูได้จากวัตถุประสงค์ของบริษัทที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์ เช่น ในการเข้าทำสัญญาก่อสร้างระหว่างบริษัทโฮปเวลล์กับรัฐบาลไทย วัตถุประสงค์ของบริษัทโฮปเวลล์ก็จะต้องระบุถึงการรับก่อสร้างไว้ด้วย ข้อเท็จจริงนี้คู่สัญญาสามารถตรวจสอบได้โดยง่ายโดยการไปขอคัดสำเนาวัตถุประสงค์ของบริษัทโฮปเวลล์ที่กระทรวงพาณิชย์ ก่อนที่จะเข้าทำสัญญา

ประเด็นที่สอง เรื่องความสามารถของการเข้าทำสัญญาของคนต่างด้าว นิติบุคคลที่เข้านิยามคำว่า คนต่างด้าวรวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย แต่มีผู้ถือหุ้นเกินกว่ากึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าวด้วย ในกรณีที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ โทษที่กำหนดไว้มีแต่เพียงโทษจำคุกและโทษปรับเท่านั้น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงผลของนิติกรรมที่บริษัทได้ทำไปในระหว่างที่ประกอบธุรกิจโดยฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ และเท่าที่ผู้เขียนได้สืบค้นแนวคำพิพากษาศาลฎีกาในประเด็นนี้ก็ยังไม่พบว่ามีคำพิพากษาไว้แต่อย่างใด

ในบทความครั้งต่อไป ผู้เขียนจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาในเรื่องที่เห็นว่าพอจะเทียบเคียงกับกรณีดังกล่าวข้างต้นได้บ้าง

พบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทยจำกัด

Purita.Thanachoksopon@allenovery.com