ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง

ยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง

สิ่งสำคัญที่สุดอยู่ที่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา

ช่องว่างของพัฒนาการด้านอุตสาหกรรมล้วนกินเวลายาวนานเกินกว่าชั่วอายุของคนมาโดยตลอด นับตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่เรารู้จักนำเอาเครื่องจักรมาใช้ทุ่นแรงในช่วงปี ค.ศ. 1698 แต่เราก็ใช้เวลาถึง 172 ปี กว่าจะเข้าสู่โลกอุตสาหกรรมยุคที่ 2 ราวปี 1870 ที่รู้จักการสร้างสายพานการผลิตเพื่อผลิตสินค้าจำนวนมากๆ โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ไม่ใช่เครื่องจักรไอน้ำเหมือนในอดีต

หลังจากนั้นเราอาศัยเวลาเฉียดๆ 100 ปีคือตั้งแต่ปี 1870 ถึงปี 1969 ที่รู้จักใช้ประสิทธิภาพของคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างระบบโรงงานอัตโนมัติที่ทุกอย่างควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ยกระดับการผลิตได้เพิ่มอีกมหาศาล

และจากวันนั้นจนถึงวันนี้ที่เรากำลังปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ซึ่งมุ่งเน้นการใช้อินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์อัจฉริยะที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย โดยการปรับตัวในยุคนี้กินเวลาประมาณ 50 ปีเท่านั้นซึ่งเป็นครั้งแรกที่ระยะเวลาระหว่างยุคหดสั้นลงจนไม่เกิน 1 ชั่วอายุคน

หากจะนับเวลาที่โลกจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ ซึ่งเราเริ่มเห็นเค้าลางแห่งการเปลี่ยนแปลงกันมาบ้างแล้ว ก็แน่นอนว่ามันจะกินเวลาสั้นลงไปอีก เพราะผลกระทบที่เกิดจากเทคโนโลยีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากมายมหาศาลจนเราจินตนาการไปไม่ถึง

ทุกวันนี้เราจึงเจอเรื่องราวใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจและอุตสาหกรรมมากมาย เช่น บิ๊กดาต้า, อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) ปัญญาประดิษฐ์(เอไอ), ฟินเทค ที่ไม่เพียงเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารงาน แต่ยังเข้ามาแทนที่หลายๆ บริษัทที่ปรับตัวไม่ทันจนต้องปิดตัวลงไปมากมายทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวันเช่นคลาวด์คอมพิวติ้ง, บล็อกเชน,ไบโอเทค, นาโนเทค ซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบกับวิถีชีวิตในการทำงานของเราไปจนถึงชีวิตส่วนตัวที่ถูกโลกดิจิทัลรุกรานมากขึ้นเรื่อยๆ จนเชื่อได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคอุตสาหกรรมในครั้งหน้านั้นจะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่ปีนับจากนี้

สอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่ระบุว่าอีก 20 ข้างหน้าจะมีตำแหน่งงานที่หายไปเพราะถูกเทคโนโลยีเข้ามาทำหน้าที่แทนถึง 47% ซึ่งทุกวันนี้เราจะเห็นข่าวการลดพนักงานของธนาคาร สถาบันการเงิน ธุรกิจสื่อ ฯลฯ ต้องปิดกิจการลงจำนวนมาก

มีตัวอย่างมากมายที่ทำให้เราเห็นว่าเทคโนโลยีล้ำยุคอย่างเอไอจะเข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ ทั้งแพทย์ ทนายความ นักวิเคราะห์การลงทุน ฯลฯ​ เพราะความสามารถในการหาข้อมูลและประมวลผลที่สูงกว่าจนทำให้หลายคนตื่นตระหนกว่างานที่ทำ บริษัทที่ทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่ทุกวันนี้จะปิดกิจการลงเมื่อไรก็ได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ววิกฤติก็มาพร้อมโอกาสเสมอ เพราะแม้อาชีพที่อาจหายไปตามงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีถึง 47% นั้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีอาชีพที่เกิดใหม่เพื่อตอบรับกับกระแสเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 67% ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าจะเป็นอาชีพอะไรเพราะเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น

ปัญหาใหญ่ของเราคือ มักยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ หรือไม่ก็คิดถึงความยิ่งใหญ่ในอดีตโดยไม่กล้าที่จะรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคต ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรในอดีตได้เลย

แต่เราทำวันนี้ให้ดีที่สุดได้เพื่อรับความผันผวนในอนาคต แม้เราจะมีอดีตที่ไม่สวยหรูเพราะเคยล้มลุกคลุกคลานมาก่อนก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องล้มเหลวอีกในอนาคต เพราะอดีตที่ผิดพลาดไปนั้นเราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ แต่บทเรียนที่ได้มาจะเป็นต้นทุนสำคัญให้เราป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

สิ่งสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาและกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อหาทางในการก้าวไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ให้เร็วที่สุด