เงินกู้หลอน“ธนาธร”

เงินกู้หลอน“ธนาธร”

กรณี “เงินกู้” พรรคอนาคตใหม่ กับหัวหน้าพรรค “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หลังจากนักข่าวจับประเด็นในวันที่ “ธนาธร”

 ไปพูดกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ตอนนั้น ตัวเลขยังไม่นิ่งว่า 250 ล้าน หรือ 110 ล้าน กระทั่ง “ธนาธร” รายงาน ป.ป.ช. นั่นแหละ คือตัวเลขที่เป็นการยืนยันจากเจ้าตัวว่า ได้ปล่อยกู้ให้พรรค 191 ล้านบาท

เมื่อฟังได้ ว่า “ธนาธร” ปล่อยกู้ให้พรรคอนาคตใหม่จริง ประเด็นก็คือ ผิดหรือ ไม่ผิดกฎหมาย

“ธนาธร” ในอีกสถานะหนึ่งเขาเป็นนักธุรกิจที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดในบรรดา ส.ส.ชุดนี้ คือ 5 พันล้านบาทเศษ

“ธนาธร” อธิบายว่า เงินกู้ดังกล่าว ตามหลักการทำธุรกิจ “เงินกู้” ไม่ใช้ “รายได้” ฉะนั้นหาก กกต.ตีความว่าเป็น “รายได้” ก็จะกระทบกับวงการธุรกิจเอกชน บริษัทห้างร้านจำนวนมาก ผิดหลักการอย่างสิ้นเชิง

“ธนาธร” ยกเอาหลักทางบัญชีมาอธิบาย “เงินกู้” หรือ “กู้เงิน” ฉะนั้นในมุมของเขาจัดให้พรรคการเมือง เป็น ธุรกิจเอกชนที่สามารถแสวงหากำรี้กำไรได้

ในมุมมอง อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เจษฎ์ โทณวณิก บอกว่า ต้องวางหลักการให้ชัด ว่า พรรคการเมือง มีสถานะเป็น องค์กรเอกชน” หรือ องค์กรมหาชน” หากเป็น “องค์กรเอกชน” เหมือนบริษัทห้างร้านทั่วไป ก็มีสิทธิ์จะทำอะไรก็ได้ที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามไว้

แต่ถ้า “พรรคการเมือง” เป็น “องค์กรมหาชน” ซึ่งไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไรเหมือนบริษัทห้างร้าน การจะทำอะไรในสิ่งที่แม้กฎหมาย ไม่ได้ห้าม ก็ทำไม่ได้ เพราะองค์กรมหาชน มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาชน จึงต้องมีข้อจำกัดบางอย่าง และมีความเคร่งครัดกับข้อจำกัดนั้น

ซึ่งนักกฎหมาย ก็มีมุมต่าง เพราะ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม บอกกับนักข่าวโดย “คาดการณ์” ว่า พรรคอนาคตใหม่ อาจไม่มีความผิด เพราะกฎหมาย ไม่ได้ห้ามการกู้เงิน

สำหรับกรณีดังกล่าว ช่วงหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ประธานกกต. อิทธิพร บุญประคอง เคยพูดไว้ครั้งหนึ่ง ว่า

"กฎหมายพรรคการเมือง ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ โดยเมื่อตรวจสอบกฎหมายพรรคการเมืองพบว่า เรื่องเงินรายได้ และการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมือง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2550 กับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ปี 2560 เขียนไว้ต่างกัน โดยปี 2550 มาตรา 53 (7) กำหนดให้มี ‘รายได้อื่น’ พรรคจึงอาจมีรายได้จากการกู้ยืมเงินได้ โดยในอดีตที่ผ่านมาก็มีถึง 20 พรรคการเมืองกู้ยืมเงินโดยอาศัย บทบัญญัติมาตราดังกล่าว ในการหารายได้ และมีการระบุไว้ในรายงานงบดุลประจำปีของพรรคที่รายงานต่อ กกต.

แต่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 62 ไม่ได้มีบทบัญญัติเรื่องรายได้อื่นแล้ว และกำหนดประเภทของรายได้ ไว้ 7 ประการ การที่พรรคจะ ‘กู้ยืมเงิน’ มาเป็น ‘รายได้’ ไม่น่าจะทำได้"

เงินกู้ ตามมาหลอน ธนาธรสามารถชี้เป็นชี้ตายอนาคตการเมือง พ่อส้มหวานกันเลยทีเดียว