หมดเวลาปล่อยให้ผู้ใหญ่พาไปลงเหว

หมดเวลาปล่อยให้ผู้ใหญ่พาไปลงเหว

พรุ่งนี้จะเริ่มการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ก

การประชุมครั้งนี้มีเยาวชนหลายร้อยคนจากทั่วโลกเข้าร่วม รวมทั้ง เกรตา ธันเบอร์ก จากสวีเดน เกรตาเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยเรือใบซึ่งใช้เวลา 2 สัปดาห์แทนเครื่องบินซึ่งใช้เวลาเพียงวันเดียว ทั้งนี้เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการสนับสนุนให้ลดการใช้น้ำมันที่มีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน คงเป็นที่ทราบกันดีว่า เกรตาอายุเพียง 16 ปีและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากว่า 1 ปีแล้วจากการทำกิจกรรมสำคัญยิ่ง นั่นคืองดไปโรงเรียนบางวันเพื่อไปนำทำกิจกรรมจำพวกเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใส่ใจในปัญหาโลกร้อนมากขึ้น เธอเริ่มด้วยการไปถือป้ายประท้วง ณ หน้ารัฐสภาของสวีเดน

การประท้วงของเกรตาปลุกให้เกิดความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในหมู่เยาวชนทั่วโลก เป็นไปได้ว่าปลายปีนี้คณะกรรมการรางวัลโนเบลจะมอบรางวัลด้านสันติภาพให้เธอ หากเกิดขึ้นจริง เกรตาจะเป็นผู้ได้รับรางวัลนั้นด้วยอายุน้อยที่สุดแทน “มาลาลา ยูซาฟไซ” ซึ่งรับรางวัลเมื่อปี 2557 ด้วยอายุ 17 ปี แม้เกรตาจะไม่ได้รับรางวัลปีนี้ หรือปีต่อไป แต่การจุดประกายของเธอจะเป็นปัจจัยสำคัญในการปกปักรักษาโลกใบนี้ไว้ให้อยู่ในสภาพดีสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป การเคลื่อนไหวของเยาวชนครั้งนี้จะมีความสำคัญไม่น้อยกว่าของรุ่น “ฮิปปี้” เมื่อกว่า 50 ปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน ตอนนั้นการเคลื่อนไหวของเยาวชนอเมริกันส่งผลให้ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ออกคำสั่งก่อตั้งองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในปี 2513

ในช่วงนั้น การออกนำหน้าของมหาอำนาจเช่นสหรัฐก่อให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่มีผลดีต่อชาวโลกอย่างมีนัยสำคัญ แต่มาถึงวันนี้ สหรัฐมีท่าทีต่อต้านการจะเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกันมิให้โลกร้อนขึ้นไปจนส่งผลให้เกิดความเสียหายแบบแทบทำลายโลก เมื่อมหาอำนาจนำโดยผู้ใหญ่เป็นเสียเช่นนี้ ย่อมจึงถึงเวลาที่เยาวชนจะออกมากดดันเพื่อจะพิทักษ์โลกไว้สำหรับพวกเขาและชนรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งไม่มีโอกาสออกความเห็น

สำหรับเยาวชนไทย หากจะเคลื่อนไหวในแนวเดียวกับเกรตาคงไม่จำเป็นต้องไปถึงมหานครนิวยอร์ก ทั้งนี้เพราะในเมืองไทยมีเรื่องที่ผู้ใหญ่ไม่ใส่ใจในสิ่งที่ควรทำจำนวนมาก ขอยกตัวอย่างเกี่ยวกับพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดว่ายังถูกทำลาย ทั้งที่รัฐมีนโยบายที่จะไม่ยอมให้ทำ ซ้ำร้าย รัฐบาลปัจจุบันแสดงทีท่าว่าจะเร่งเปิดพื้นที่ป่าให้ทำเหมืองแร่และสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น เรื่องเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อป่าและเพิ่มปัญหาโลกร้อน ส่วนกิจกรรมปลูกป่าก็มักทำกันแบบฉาบฉวยจำพวกขึ้นป้ายถ่ายรูปเท่านั้น เยาวชนที่กำลังเรียนวิชาเกี่ยวกับป่าน่าจะออกมานำและทำกิจกรรมพิทักษ์ป่ากันจริงจังอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง การทำเหมืองแร่ย่อมโยงไปถึงเรื่องการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในธรรมชาติออกมาใช้จนหมดไป ยังผลให้คนรุ่นหลังไม่มี ด้วยเหตุนี้จึงมีแนวคิดที่เสนอว่าเพื่อความเป็นธรรมผู้นำทรัพยากรออกมาใช้จะต้องหาทางสงวนรักษาส่วนหนึ่งไว้ให้ตกถึงคนรุ่นหลัง แนวคิดนี้เป็นฐานของการตั้งกองทุนน้ำมันขึ้นมาในหลายประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันปริมาณมาก รวมทั้งนอร์เวย์ซึ่งมีประชากรเพียง 5 ล้านคนแต่มีกองทุนน้ำมันใหญ่เป็นลำดับ 1 ของโลกด้วยทรัพย์สินกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

แนวคิดนี้อาจนำไปใช้ในกรณีของแร่อื่นได้แม้จะยังไม่นิยมทำกันก็ตาม เมืองไทยมีทั้งน้ำมันและแร่อื่นหลายอย่าง แต่ยังมิได้ตั้งกองทุกจำพวกนี้ขึ้นเพื่อคนรุ่นหลัง จึงน่าจะถึงเวลาที่เยาวชนจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อกดดันให้ผู้ใหญ่ตั้งกองทุนขึ้น

นอกจากเรื่องที่อ้างถึงแล้วยังมีเรื่องอื่นอีกมาก จากการทิ้งขยะและการจะสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ซึ่งมีกากพิษสูงมากไปจนถึงการทำลายสภาพดินและน้ำด้วยกระบวนการต่างๆ รวมทั้งการใช้สารเคมีจำพวกยาฆ่าหญ้าซึ่งรัฐบาลเงื้อง่าว่าจะห้ามใช้แต่ยังไม่ทำ เมื่อผู้ใหญ่ได้แต่เงื้อง่า จึงถึงเวลาแล้วที่เยาวชนจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรักษาโลกให้อยู่ในสภาพดีสำหรับลูกหลานของพวกตน