ความสัมพันธ์เมียนมา-เกาหลีใต้กับความอัศจรรย์แห่งแม่น้ำอิรวดี

ความสัมพันธ์เมียนมา-เกาหลีใต้กับความอัศจรรย์แห่งแม่น้ำอิรวดี

ท่ามกลางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ลดลง การเดินทางเยือนเมียนมาของนายมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีแห่งเกาหลีใต้ เมื่อช่วงต้น ก.ย.ที่ผ่านมา

 ได้สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับสื่อมวลชนเมียนมาอยู่ไม่น้อย ด้วยคำมั่นของผู้มาเยือนที่เน้นย้ำถึงอนาคตความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แนบแน่น พร้อมหยอดคำหวานปิดท้ายว่า ณ บัดนี้ความความอัศจรรย์แห่งแม่น้ำฮันกังก็ได้เชื่อมโยงสู่ความอัศจรรย์แห่งแม่น้ำอิรวดีแล้ว

ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2560 ประธานาธิบดีมุน แจ-อิน ประกาศกรอบนโยบาย “เคลื่อนลงใต้ครั้งใหม่” (New Southern Policy) เพื่อเร่งรัดส่งเสริมความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดีย เนื่องจากเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศในคาบสมุทรเกาหลี และด้วยศักยภาพทางด้านการลงทุนทั้งปัจจัยแรงงานราคาถูก และทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงความโดดเด่นทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมียนมาที่อยู่กึ่งกลางระหว่างจีน อินเดีย และอาเซียน เมียนมาในยุคหลังการปฏิรูปภายใต้การนำของนางอองซานซูจี จึงเป็นอีกจิ๊กซอว์หนึ่งในแนวยุทธศาสตร์การรับประกันความเสี่ยงในภูมิภาคของเกาหลีใต้

ความสัมพันธ์เมียนมา-เกาหลีใต้กับความอัศจรรย์แห่งแม่น้ำอิรวดี

ที่มาภาพ: mmtimes.com

ความสำเร็จของการเยือนของผู้นำเกาหลีใต้ครั้งนี้ ปรากฏเป็นข้อตกลงทวิภาคีด้านเศรษฐกิจจำนวน 10 ฉบับ ครอบคลุมความช่วยเหลือด้านเงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารและการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน ความร่วมมือด้านการขนส่งทางเรือ การพัฒนาอู่ซ่อมเรือ และการบริหารจัดการท่าเรือ ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ความร่วมมือด้านนวัตกรรมและธุรกิจ ความร่วมมือด้านการเงินเพื่ออสังหาริมทรัพย์ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการด้านการลงทุน (Korea Desk) โครงการพัฒนาพื้นที่ที่อยู่อาศัยที่เขตดาลา (Dala) กรุงย่างกุ้ง และโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพเมียนมา-เกาหลีใต้ ทั้งนี้ โครงการที่จะเป็นหมุดหมายของความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่แนบแน่นของทั้ง 2 ฝ่ายนับจากนี้ ก็คือโครงการนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่อย่าง Korea Myanmar Industrial Complex (KMIC) ซึ่งได้มีพิธีลงนามกันไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2562 และคาดว่า การลงทุนจากเกาหลีจะเต็มรูปแบบในปี 2567

ด้วยเนื้อที่ 2.25 ตารางกิโลเมตรและที่ตั้งที่ไม่ไกลจากย่างกุ้งมากนัก รัฐบาลเมียนมาคาดการณ์ว่า โครงการ KMIC จะสร้างการจ้างงานได้ระหว่าง 50,000-100,000 คน ถือเป็นการยกระดับฐานการผลิตในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรมหรือการส่งออก รวมทั้งด้านการเพิ่มทักษะแรงงานในภาพรวมได้อีกด้วย โครงการ KMIC จึงถูกจัดวางเป็นกลไกหนึ่งเพื่อรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการสร้างดุลความสัมพันธ์กับมหาอำนาจในภูมิภาคผ่านโครงการเขตนิคมอุตสาหกรรมพิเศษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจ ติลาวา เจ้าพิว หรือทวาย ซึ่งก็มีมหาอำนาจอย่าง จีน และญี่ปุ่น ที่กำลังขับเคี่ยวสร้างอิทธิพลทางเศรษฐกิจใน เมียนมาอยู่เช่นกัน

บทบาทของเกาหลีใต้ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจเมียนมาไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ การเยือนกรุงเนปิดอว์และย่างกุ้งของมุน แจ-อินที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำว่าเกาหลีใต้จะยังคงเป็น ตัวแสดงสำคัญต่อการพัฒนาและการปฏิรูปเศรษฐกิจในประเทศลุ่มแม่น้ำอิรวดี ด้วยปริมาณการลงทุนในเมียนมากว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีบริษัทขนาดใหญ่สัญชาติเกาหลีใต้อย่าง POSCO Dawwoo Daewoo Motors Lotte Group และ Hyundai เป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ศูนย์ข้อมูลด้านความช่วยเหลือจากต่างประเทศของเมียนมา (Aid Information Management System) ระบุว่า เกาหลีใต้มอบความช่วยเหลือด้านการพัฒนาให้แก่เมียนมาผ่านองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลี (Korea International Cooperation Agency: KOICA) รวมทั้งสิ้น 112 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ อาทิ โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแรงสูง โครงการขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ต โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพเกาหลี-เมียนมา โครงการวางพื้นฐานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และโครงการยกระดับทางรถไฟ เป็นต้น

เกาหลีใต้จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของเมียนมาในการแสวงหาการรับประกันความเสี่ยงทางยุทธศาสตร์ (Strategic Hedging) ในความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งในและนอกภูมิภาค ที่การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับสหรัฐและสหภาพยุโรปยังไม่ราบรื่น ตลอดจนการดำเนินความสัมพันธ์กับจีนที่ยังยากต่อการสร้างสมดุล มิให้ห่างเหินจนหวาดระแวงหรือใกล้ชิดจนเกิดภาวะการพึ่งพิงมากจนเกินไป อย่างไรก็ตาม การดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวของเมียนมาต่อเกาหลีใต้จะยังคงมีอุปสรรค ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดด้านสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน อันได้แก่ กระบวนการพิจารณาออกใบอนุญาตที่ล่าช้า ความไร้เสถียรภาพด้านพลังงาน ระบบการเงินการธนาคารที่ยังไม่มีมาตราฐาน ข้อจำกัดด้านฝีมือแรงงาน รวมถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของแรงงานต่างชาติพันธุ์ในประเทศ

สถานการณ์ทางการเมืองภายในของเมียนมาเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐยะไข่ก็เช่นกันที่อาจเป็นเหตุให้อเมริกาและสหภาพยุโรปเพิกถอนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร อันจะกระทบต่อแรงจูงใจของนักลงทุนต่างชาติในการขยายฐานการผลิตเข้าสู่เมียนมา และยิ่งเมื่อพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบถึงศักยภาพและความพร้อมทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค อย่างเช่น เวียดนาม ด้วยแล้วนั้น ประเด็นนี้ก็ยิ่งกลายเป็นข้อกังวลสำคัญสำหรับนักลงทุนชาวเกาหลีใต้

ความอัศจรรย์ของเมียนมาในท้ายที่สุดจึงมิได้ถูกกำหนดขึ้นด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจแต่โดยลำพัง หากแต่ยังต้องคำนึงถึงความสามารถของรัฐบาลในการจัดการประเด็นปัญหาทางการเมืองและความเป็นประชาธิปไตยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในองค์รวมด้วยเช่นกัน

โดย... 

ผศ.ดร.ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร

ผู้ประสานงานร่วมชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)