ภาคปฏิบัติ นโยบาย Coding

ภาคปฏิบัติ นโยบาย Coding

Coding (โค้ดดิ้ง) ถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล มุ่งเน้นให้เด็กไทยคิดเป็น มีตรรกะเหตุผล เท่าทันโลก

ถือเป็นหลักสูตรที่ทันสมัยเทียบเคียงประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศที่ได้บรรจุหลักสูตรนี้เข้าไปในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาทิ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เป็นต้น ดร.คุณหญิงกัลยา รัฐมนตรีช่วยศึกษาผู้ปลุกปั้นนโยบายนี้ได้เล่าให้ฟังถึงการนำนโยบายใหม่นี้ลงสู่สนามในภาคปฏิบัติ

จะเข้าใจ Coding ให้ง่ายต้องเปรียบเทียบเหมือนแม่น้ำ คือมีต้น กลาง และปลายน้ำ Coding เบื้องต้น คือการเรียนรู้ในเชิงตรรกศาสตร์ สอนให้คิดอย่างเป็นระบบ เสริมทักษะด้านการอ่าน เขียน ความคิดสร้างสรรค์ การคำนวณและการแก้ปัญหา ถือเป็นต้นน้ำ ที่เหมาะกับนักเรียนประถม เพราะง่ายต่อการเข้าใจ ใช้อุปกรณ์ไม่มาก ไม่มีความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์

กลางน้ำและปลายน้ำของ Coding คือการนำความรู้และความคิดเป็นระบบแล้วนั้นมาออกแบบชิ้นผลงาน เช่น หุ่นยนต์ เกม เว็บไซต์ โดยการสั่งการชิ้นงานผ่านคอมพิวเตอร์หรือแผงวงจรเพื่อการเคลื่อนไหว หรือคำสั่งอื่น ๆ ตามที่ได้ Coding ไว้ ซึ่งเหมาะกับมัธยมศึกษาและระดับสูงกว่า และสามารถต่อยอดไปได้ถึงการทำ Big data, การวิเคราะห์เชิง Analytics เป็นต้น

นโยบายนี้มุ่งเน้นต้นน้ำที่เด็กประถมต้น มุ่งเน้นในความยั่งยืนคุ้มค่าจึงจะเริ่มโครงการโดยการอบรมครูจำนวน 1,000 คนเพื่อเป็นหัวเชื้อหรือโค้ช แล้วจึงพัฒนาต่อยอดเพิ่มจำนวนครูที่มากขึ้นในแต่ละปี ซึ่งมุ่งเป้าขยายผลเป็น 30,000 โรงเรียนในอนาคต โดยใช้บทเรียนที่เกี่ยวกับ Coding มีอยู่แล้วของ สสวท.และทีมวิทยากรมาเป็นแกนหลักของเนื้อหาการอบรม

เฟสแรกของการอบรมที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนนี้ เปิดรับครูและผู้บริหารสถานศึกษาผู้สนใจแล้วและเต็มแล้วอย่างรวดเร็ว โดยจะมีการอบรมถึง 3 วันที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ระดมครูกว่า 1,000 คนทั่วประเทศเพื่อนำร่องโครงการ โดยครูที่มาอบรมไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าแต่ครูวิทยาศาสตร์เท่านั้น เพราะแท้จริงแล้ว Coding ต้นน้ำนี้คือการสอนตรรกศาสตร์และบูรณาการศาสตร์อื่น ๆ ในช่วงชั้นปฐมวัย ทำให้ไม่มีกำแพงสำหรับครูผู้มาอบรม

การอบรมจะสอนให้ครูทั้ง 1,000 คนเข้าใจถึงทฤษฎี หลักการ ตลอดจนนำความรู้ในเชิงวิชาการนั้นลงสู่ภาคปฏิบัติที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของตนเพื่อไปสอนต่อ อาทิ การสอนให้นักเรียนคิดอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการวางแผนจากบ้านมาโรงเรียน ว่ามีกี่วิธี จะต้องใช้ยานพาหนะใดบ้าง ต้องข้ามแม่น้ำภูเขาหรือไม่อย่างไร ดังนั้นคำตอบจึงไม่ตายตัว มีหลากหลายลูกเล่น เปิดจินตนาการเด็กให้ออกนอกกรอบคิดเดิม โดยใช้หลักการและเหตุผลคิดวิเคราะห์เองเป็น

ผู้บริหารสถานศึกษาก็เป็นอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งของนโยบายนี้ เพื่อเป็นผู้นำสู่การเปลี่ยนแปลงและอำนวยความสะดวก สร้างสรรค์บรรยากาศในโรงเรียนเพื่อทำให้นโยบายนี้ออกมาอย่างเป็นรูปธรรม จึงมีการอบรมพิเศษเพิ่มเติมสำหรับผู้บริหารที่มีความสนใจนำร่องโครงการนี้ด้วย

หากมองในอนาคตอันใกล้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้แล้ว เราจะน่าเห็นโรงเรียนเป็นพันเป็นหมื่นโรงเรียนสอน Coding พื้นฐานในระดับประถมต้น เพื่อเด็กพัฒนาต่อยอดสู่กลางและปลายน้ำออกเป็นชิ้นงานอย่างเช่น หุ่นยนต์ และเข้าสู่ระดับอาชีวะหรือมหาวิทยาลัยด้วยอาวุธติดตัวจนสามารถผลิตชิ้นงานหรือแก้ปัญหาระบบได้ อย่างเช่น การออกแบบโรงงานหรือแขนกลอัตโนมัติ หรือแม้กระทั่งสามารถประมวล Big data สร้างเว็บไซต์และ app ที่สวยงามทันสมัยตอบโจทย์ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นกำลังให้ประเทศในอนาคตแน่นอน

ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงอยากจะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง ชวนให้จับตามองต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายของการศึกษาไทย และเอาใจช่วยให้ภาคปฏิบัติให้ฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อเป็นเรือธงนำประเทศไทยสู่ความก้าวหน้า และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทยทั่วกัน