บอกอะไรก็ไม่ยอมเชื่อ

บอกอะไรก็ไม่ยอมเชื่อ

เรื่องยากที่สุดเรื่องหนึ่ง แต่มักเจอกันบ่อยมาก คือต้องทำงานกับคนที่พูดอย่างไรก็ไม่ยอมฟัง ยกหลักฐาน ยกเหตุผลที่ดีแค่ไหนก็ไม่ยอมฟัง

เถียงกลับแบบข้างๆ คูๆ เป็นสรณะ บอกว่ามีลูกน้องแย่ๆ ก็ถามกลับว่าใครไม่มีลูกน้องแย่ๆ บ้างในโลกนี้ ถ้าเจอคนแบบนี้ในการทำงาน อย่าเพิ่งรีบโกรธ แล้วโต้ตอบไปในทำนองเดียวกัน คือแกว่าอะไรมา ฉันตะแบงไปทางอื่นหมดเหมือนกัน เพราะไม่ยอมฟังนั้น ที่จริงแล้วอาจเป็นแค่ฟังไม่รู้เรื่อง เมื่อไม่รู้เรื่อง การโต้ตอบจึงดูเหมือนถามหาเรื่อง ถ้าไม่ทำใจไว้ก่อนว่า คนที่เราทำงานด้วยนั้น ไม่ได้ฉลาดอย่างที่เราคาดคิด พอตอบมาแบบนี้ก็เลยตีความว่าไม่ยอมฟังเพราะจะหาเรื่องกับเรา โหมดป้องกันตัวก็จะตามมา คราวนี้ไม่ใช่การสนทนา หารือกันอีกต่อไปแล้ว กลายเป็นการป้องกันการโจมตี และการตีโต้ตอบ หลักการหายหมด ตรรกะไม่เหลืออีกต่อไป

ถ้าไม่ฟังเพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่องนั้น ให้สังเกตดูก่อนว่า ที่ตอบกลับมานั้น ดูท่าทางว่าจะเป็นการตอบของคนที่รู้เรื่องนั้นจริงหรือไม่ ถ้าเห็นชัดๆ ว่ากำลังคุยกับคนไม่ฉลาด ก็ไม่ต้องต่อล้อต่อเถียงอีกต่อไป ไม่ต้องพยายามทำให้ยอมฟังเรา เพราะพยายามเท่าใดก็ไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด บางเรื่องนั้นถ้าฉลาดไม่พอ ก็ยากที่จะสรรหาวิธีการสื่อสารให้เชื่อได้ ยิ่งเป็นเรื่องความก้าวหน้าใหม่ๆ ยิ่งทำให้ยอมรับเทคโนโลยีนั้นอย่างจริงจังได้ยาก ต้องรอจนกว่าจะฉลาดใช้ของใหม่นั้นสักระดับหนึ่งถึงจะยอมเชื่อในเรื่องใหม่ๆ เหล่านี้ ไปบอกคนที่ไม่ใช่คนดิจิทัลให้เชื่อว่าอย่าไปซื้อข้าวซื้อของจากกลุ่มไลน์ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อการค้าขาย จะซื้ออะไรก็ไลน์ตรงๆ กับคนขาย อย่าไปใส่ชื่อ ที่อยู่ ในการแชทในกลุ่มเพราะจะเสียความเป็นส่วนตัว คนที่สนุกอยู่กับการสั่งซื้อของในกลุ่มไลน์ก็ไม่ยอมเชื่อ สั่งซื้ออะไร คนทั้งกลุ่มรู้กันหมด ที่ไม่เชื่อไม่ใช่เพราะต้องการลองดี แต่ไม่เชื่อเพราะใช้เป็นอย่างเดียว ไม่รู้เรื่องว่าต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนตัวอย่างไรบ้าง

แบบที่สองที่ไม่ยอมฟัง เพราะตั้งใจที่จะไม่ฟัง รู้เรื่องนั้นเป็นอย่างดี แต่ไม่อยากรับรู้ความจริงนั้นเรื่องนั้น เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกใจ รู้แล้วเต็มอกว่ามีลูกน้องแย่แค่ไหน ไม่สบายอกสบายใจที่ใครจะมายืนยันความจริงนั้น การตอบโต้การสนทนา จึงไม่ใช่การแลกเปลี่ยนสาระระหว่างคู่สนทนา แต่เป็นการป้องกันตนเองจากความไม่สบายใจทั้งหลายทั้งปวง จึงเป็นธรรมดาที่จะทำท่าทางให้ดูประหนึ่งว่าไม่ฟัง แต่ที่จริงนั้นสาระความจริงเข้าไปเต็มหัวแล้ว สังเกตดูว่าถ้าเรื่องนี้บอกกล่าวไปแล้ว ตอบมาดี อีกเรื่องกลับตอบแบบกวนๆ แสดงว่าเขาอยากฟังบางเรื่อง และไม่อยากฟังในบางเรื่อง ดังนั้น ถ้าความจริงที่เราจะบอกเขานั้น เราคาดเดาแล้วว่า ถ้าเป็นคนมีสติปัญญาปกติ และอยู่ในยุคบิ๊กดาต้า ต้องได้รับทราบความจริงนั้นแล้ว ผ่านช่องทางใดทางหนึ่ง ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปบอกกล่าวความจริงนั้นกับเขาอีก เพราะเขารู้เขาเข้าใจความจริงนั้นอยู่แล้ว อย่าหวังดีในความจริงที่คาดเดาได้ว่าเขาไม่อยากยอมรับความจริงนั้น จะได้ไม่ต้องเสียความรู้สึกจากการตอบโต้กลับมา

แบบที่สามที่ไม่ฟังคือ ไม่คิดว่าจำเป็นต้องฟังความจริงนั้น ซึ่งอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็นเพราะเป็นคนใหญ่คนโต แต่คนบอกเป็นเล็กคนน้อย คิดว่าคนใหญ่คนโตไม่มีความจริงอะไรที่จะทำให้เดือดร้อนได้ บอกไปว่าลูกน้องแย่ ก็คิดว่าฉันใหญ่ ลูกน้องแย่ๆไปทำอะไร ฉันไม่จำเป็นต้องแคร์ ถ้าเขาคิดว่าเขาไม่จำเป็นต้องฟังเรา ก็ไม่มีประโยชน์ที่เราจะพยายามบอกความจริง ถ้าเจ้าของกิจการ คิดว่าเขาไม่จำเป็นต้องฟังพนักงานเสียงนกเสียงกา ก็ไม่ต้องพยายามบอกว่ายอดขายตกลงไปเกือบหมดแล้ว เอาความพยายามบอกกล่าวคนที่ไม่แคร์เสียงนกเสียงกานั้นไปใช้หางานใหม่ทำจะดีกว่า อย่างน้อยที่สุด ก็ไม่ต้องหางานใหม่ภายใต้ความขมขื่นจาการตอบโต้ของนายใหญ่

คนสามแบบที่ไม่ควรพยายามกล่าวความจริง คือ คนโง่ดักดาน คนที่ไม่ยอมรับความจริง และคนที่คิดว่าไม่มีความจริงใด ๆจะทำให้เขาเดือดร้อนได้