มังกรนวัตกรรม: ลงทุนเพื่ออนาคต

มังกรนวัตกรรม: ลงทุนเพื่ออนาคต

ในช่วงที่ผ่านมาทุกคนคงได้ยินชื่อ หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หลายคนอาจจะใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อนี้

บางบริษัทอาจจะใช้อุปกรณ์โทรคมนาคมของเขา แต่สิ่งที่ทำให้ ชื่อของบริษัทหัวเว่ยเป็นที่รู้จักในวงกว้างชั่วข้ามคืนก็น่าจะเกิดจากกรณีของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน โดยที่ทางรัฐบาลสหรัฐได้สั่งห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย หรือแม้กระทั่งการจับกุมตัวลูกสาวของผู้ก่อตั้งบริษัท

พวกเราคงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อะไรที่ทำให้หัวเว่ยมีความสำคัญมากถึงขนาดที่ทางรัฐบาลสหรัฐจะต้องเป็นกังวล ทำไมประเทศอภิมหาอำนาจของโลกจึงต้องเปิดศึกกับบริษัทเอกชนเพียงรายเดียว คำตอบก็เพราะว่าโลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุค 5G ยุคที่อุปกรณ์ทุกอย่างจะถูกเชื่อมเข้าหากันโดยเทคโนโลยีที่เรียกว่า Internet of Things ยุคที่ข้อมูลจำนวนมหาศาลจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ผ่านเทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI), Big Data, และ Cloud หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ABC นั่นหมายความว่า ผู้ที่สามารถควบคุมเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ก็จะเป็นผู้ที่ควบคุมการไหลของข้อมูลในโลกอนาคต เปรียบเสมือนผู้คุมถนนหนทางด้านข้อมูลของทั่วโลก และหัวเว่ยคือหนึ่งในผู้นำชั้นแนวหน้าของโลกในเทคโนโลยีเหล่านี้

หากย้อนเวลากลับไปไม่นานนี้ บางคนยังไม่รู้จักไม่เคยได้ยินชื่อหัวเว่ยเลยด้วยซ้ำ ทว่า ณ วันนี้ หัวเว่ยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกได้ อะไรคือสิ่งที่ทำให้บริษัทที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเพียง 32 ปีในจีนซึ่งในยุคนั้นมีรายได้ประชาชาติต่อหัวที่ต่ำกว่าไทย และไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีของโลกเลยแม้แต่นิดเดียวแต่สามารถก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ได้ คำตอบที่ชัดเจนที่สุดก็คือการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ทุกๆปี หัวเว่ยจัดสรรงบประมาณลงทุนเป็นจำนวนมากกว่า 10% ของรายได้ในการวิจัยและพัฒนา ขอย้ำว่าไม่ใช่ 10% ของกำไร หากแต่เป็นการลงทุนมากกว่า 10% ของรายได้ ซึ่งคงมีบริษัทในโลกเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ให้ความสำคัญลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้วยเม็ดเงินที่สูงขนาดนี้

ทศวรรษที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุนไปแล้วถึง 480,000 ล้านหยวน (หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท) เมื่อลองหันมาเปรียบเทียบกับงบประมาณการวิจัยและพัฒนาของไทยที่ปีล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 1% ของ GDP หรือประมาณ 150,000 ล้านบาท โดยเป็นจำนวนรวมของทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในขณะที่หัวเว่ยลงทุนในการวิจัยและพัฒนาในปี 2561 เป็นจำนวนถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท (101,509 ล้านหยวน)

นอกจากนี้ สิ่งที่แสดงถึงความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยอีกหนึ่งอย่าง ก็คือ เมื่อไม่นานมานี้หัวเว่ยเพิ่งเปิดตัวศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาแห่งใหม่ของบริษัทที่เมืองตงก่วน (Dongguan) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเซินเจิ้น ในบริเวณที่ชื่อว่า Songshan Lake Hi-tech Zone โซนนี้มีขนาด 72 ตารางกิโลเมตร และเป็นที่ตั้งของบริษัททางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงกว่า 3,000 บริษัท ศูนย์วิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยมีชื่อเรียกว่า Ox Horn Campus ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมทะเลสาปขนาด 750 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยของอาคารทั้งหมดจำนวน 1.45 ล้านตารางเมตร ด้วยขนาดที่ใหญ่มากนี้จึงต้องแบ่งย่อยออกเป็น 12 หมู่บ้าน โดยจะมีพนักงานในศูนย์ทั้งหมดกว่า 25,000 คน การเดินทางภายในศูนย์จะใช้รถไฟเท่านั้น รถยนต์จะถูกจอดเอาไว้ในที่จอดรถใต้ดินบริเวณรอบนอกของศูนย์ ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

จากตัวอย่างนี้ทำให้เราเห็นว่าการลงทุนวิจัยและพัฒนา การจดสิทธิบัตรของหัวเว่ยเป็นหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ โดยสะท้อนความสำคัญและความจริงจังผ่านการลงทุนด้วยเม็ดเงินที่เป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับรายได้ อีกทั้งมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของไทยที่ผ่านมาอาจยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนามากนัก แต่เน้นที่การผลิต หรือซื้อเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามาโดยไม่ค่อยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง หรือแม้กระทั่งกรณีที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เราก็ยังได้ประโยชน์แต่เรื่องการจ้างงานเป็นหลัก หากแต่ไม่ได้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี (Technology Transfer) ทำให้ไม่สามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ หรือแม้กระทั่งสินค้าเกษตร เราก็ไม่มีการวิจัยและพัฒนามากนัก เช่น การปรับปรุงพันธุ์ การเพิ่มมูลค่า

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังแบบก้าวกระโดดกับการวิจัยและพัฒนามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ยุคนี้เป็นยุคของนวัตกรรม คงเป็นการยากที่เราจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทย ถ้าเรายังต้องขายข้าวหลายตันเพื่อแลกกับโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว

โดย... 

ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

Facebook.com/thailandfuturefoundation