เส้นทางสายไหม : ยุคโบราณและยุคกลาง (ตอนที่ 3)

เส้นทางสายไหม : ยุคโบราณและยุคกลาง (ตอนที่ 3)

ยูเรเซียเป็นภูมิภาคโลกที่อารยธรรมและศาสนาใหญ่ๆ ของโลกกำเนิดที่นี่

ด้วยเหตุที่ศาสนาหรือความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คำสอน ความเชื่อในเทวะในพระเจ้าย่อมไม่หยุดอยู่กับแหล่งกำเนิด การปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนในทางศาสนาหรือในทางปัญญาจึงเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นมาต่อเนื่องยาวนาน การลื่นไหลของสินค้าบริการ ความคิด ศิลปะวัฒนธรรม การดูดซับและผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม มีลักษณะของความร่วมมือและการแข่งขันทั้งในทางสันติและการใช้ความรุนแรง(สงคราม)

จักวรรดิโรมันอาจจะไม่ไกลจากตะวันออกของเอเชีย แต่อเล็กแซนเดอร์มหาราชน่าจะเป็นกษัตริย์นักรบคนแรกจาก Macedonia แถบเมดิเตอร์เรเนียน ที่นอกจากสามารถเอาชนะอียิปต์และจักวรรดิเปอร์เซียที่ยิ่งใหญ่ ยังสามารถแผ่ขยายอำนาจมายังเอเชียกลางไปจนถึงอินเดีย นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาของศิลปะวัฒนธรรมรวมทั้งศาสนาของกรีก ในเอเชียกลางและอินเดีย อย่างไรก็ตาม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการค้า การเดินทางในเส้นทางสายไหมนี้ ศาสนาพุทธหลังพระเจ้าอโศกมหาราชทรงประกาศเป็นพุทธมามกะในช่วงศตวรรษที่ 3 ก่อนคริตสกาล น่าจะเป็นศาสนาที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดจากเส้นทางสายไหมในช่วงแรกๆ จนเป็นศาสนาใหญ่ศาสนาหนึ่งของโลก เราได้เห็นการผงาดขึ้นของอิทธิพลของจักวรรดิเปอร์เซีย เช่น ภายใต้ราชวงศ์Sassanidในเวลาต่อมา หรือความสำเร็จกองทัพอิสลามที่สามารถครอบงำอาณาจักรเปอร์เซีย บริเวณเมโสโปเตเมีย แอฟริกาเหนือ สเปน มาจนถึงเอเชียกลางในกลางศตวรรษที่ 8 แต่เส้นทางสายไหมประมาณช่วงศตวรรษที่ 10 ได้เป็นเส้นทางการค้าที่ไม่เหมือนเดิมและเริ่มมีเส้นทางทะเลเป็นคู่แข่งที่สำคัญ

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ประมาณ 500 ปีเศษๆ ก่อนคริสตกาล แต่กว่าที่ศาสนาพุทธจะสามารถแผ่ขยายไปนอกอินเดียมาทางเอเชียและบทบาทของเส้นทางสายไหมในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นก็อยู่ประมาณศตวรรษแรกของคริสตกาล แน่นอนว่าในยูเรเซียทั้งตะวันออกและตะวันตกพื้นที่ทางปัญญา ทางเทวะวิทยามาจากแหล่งที่หลากหลาย ลัทธิ ความเชื่อหรือศาสนา ไม่ว่าจะเป็น ฮินดู พุทธ หรือโซโรแอสเทรียนิซึ่ม Manichaeism จากเปอร์เซีย หรือมาทางตะวันตก เช่น Judaism หรือศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และอิสลาม จึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ความสำเร็จของศาสนาใดจะเติบโตยิ่งใหญ่มีผู้นับถือมากขึ้นย่อมจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญๆ ตั้งแต่ชัยชนะบนสนามรบไปพร้อม ๆ กับการแสดงออกถึงความสูงส่งทางด้านวัฒนธรรมและความศักดิ์สิทธิ์ของเทวะหรือเทพเจ้า ขณะเดียวกันต้องมีผู้ปกครองสนับสนุนหรือคนในสังคมพบว่าคำสอนหรือความเชื่อสำคัญๆ น่าเชื่อถือและให้ความหวัง

ศาสนาพุทธแผ่ขยายออกนอกอินเดียตอนเหนือในช่วงประมาณคริสตวรรษแรก ภายใต้จักรวรรดิ กุษาณะ (Kushan Empire) ซึ่งปกครองดินแดน อาณาจักรแถบเอเชียกลางและอินเดียทางตอนเหนือประมาณ 300 ปี เหมือนกับหลายๆ ชนเผ่าเร่ร่อนซึ่งพัฒนามาจนสามารถเป็นผู้ปกครองสังคมเกษตรและสังคม ตั้งถิ่นฐานที่มีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติและวัฒนธรรม การที่ไม่มีภาษาวัฒนธรรมเป็นของตนเอง มีแต่ความสามารถดั้งเดิมคือการรบ แต่การที่อาณาจักรกุษาณะดำรงอยู่ได้มาหลายร้อยปีเป็นเพราะผู้นำสามารถใช้สถาบันท้องถิ่นที่มีมาก่อน ช่วยในการบริหารและปกครอง โดยใช้ชนชั้นนำหรือชนชั้นวรรณะต่างๆ สมาคมการค้าหรือ Guilds สถาบันทางศาสนา เป็นต้น

เมื่อกองทัพกุษาณะข้ามภูเขาฮินดูคุชมาได้ ชนชั้นนำรับความเชื่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของอินเดีย โดยเฉพาะวัฒนธรรมพราหมณ์ฮินดู และที่สำคัญมากคือพุทธศาสนา กษัตริย์กุษาณะเป็นชาวพุทธที่ดี ขณะเดียวกันพวกเขาก็ยอมรับมรดกทางด้านการเมืองและวัฒนธรรมจากผู้ปกครองเดิม ไม่ว่าจะเป็นเปอร์เซีย กรีก พาร์เทียน เป็นต้น พวกกุษาณะไม่ได้พยายามสร้างระบบจักวรรดิ สังคมเกษตรที่มีระบบราชการรวมศูนย์ที่เข้มแข็งคุมส่วนต่าง ๆ ของสังคม เช่น ไม่ลงไปที่หมู่บ้านเพื่อเก็บภาษีจากชาวนา กษัตริย์กุษาณะบูชาความศักดิ์สิทธิ์ของบรรพบุรุษ เชื่อในอำนาจสูงสุดของสรวงสวรรค์ กษัตริย์กุษาณะเรียกตัวเองว่าเป็นบุตรแห่งสวรรค์ บุตรแห่งพระเจ้า ราชวงศ์กุษาณะประสบความสำเร็จในการปกครองสังคมเกษตร โดยการให้ความสนับสนุนวัฒนธรรมกับศาสนาที่หลากหลายที่มาก่อนหน้า เช่น Hellinsit และอินโด กรีก หรือของอาณาจักรเปอร์เซีย (รวม Bactria) ซึ่งเชื่อในพิธีกรรมแท่นบูชาไฟของศาสนาโซโรแอสเทรียนิซึ่ม เทพีนานาจากเมโสโปเตเมีย เทพเจ้าของกรีก เช่น เฮอร์คิวลิส อิทธิพลของวัฒนธรรม Hellinsit ในอัฟกานีสถานและในรัฐอินโดกรีก บริเวณตะวันออกของภูเขาฮินดูคุช นานมาแล้วค่อนข้างจะคุ้นเคยกับประเพณีของเอเชียใต้ โดยเฉพาะศาสนาพุทธ กษัตริย์ของกรีก เช่น Menander ก็เป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธที่สำคัญ

การที่ไม่มีภาษาเป็นของตนเองผู้นำกุษาณะใช้ Script ของชนที่เขาปกครองเพื่อจะให้ได้มาซึ่งรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพสามารถเก็บภาษีหรือบันทึกธุรกรรมทางการค้าในเมืองที่พุทธศาสนารุ่งเรือง เช่น Bactria Gandhara Mathura Kushan ใช้ตัวอักษรกรีกและใช้ Script ที่พัฒนามาจาก Script Aramaic ซึ่งชาวเปอร์เซียนำเข้ามาที่อินเดียเพื่อเขียนเป็นภาษาสันสกฤตท้องถิ่น อักขระของกรีกค่อนข้างจะเป็นที่นิยมใน Bactria Gandhara เนื่องจากพวกโรมันเป็นคู่ค้าที่สำคัญ จักรวรรดิกุษาณะออกเหรียญทองโรมัน (Aureus) ขณะเดียวกันก็มีเหรียญทอง เหรียญเงินและเหรียญทองแดงของจักรวรรดิกุษาณะ ซึ่งมีรูปของกษัตริย์และเทพเจ้าของ ซุเมเรียน หรือเทพเจ้าของเปอร์เซีย เทพเจ้าของฮินดู (เช่น พระศิวะ) รวมทั้งพระพุทธเจ้า

การที่จักรวรรดิกุษาณะเป็นจักวรรดิที่เข้ามาควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทางสายไหม ซึ่งเติบโตทางด้านการค้า ขณะเดียวกันจักรวรรดิก็เป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาพุทธทำให้เป็นพลังสำคัญต่อการเติบโตรุ่งเรืองทั้งของจักรวรรดิและสถาบันทางศาสนาพุทธ ต่างก็เสริมซึ่งกันและกัน ช่วงที่จักรวรรดิกุษาณะควบคุมเส้นทางการค้าหลักตั้งแต่กลางคริสตวรรษแรกถึงกลางคริสตวรรษที่ 3 ในช่วงเวลาดังกล่าวศาสนาพุทธขยายไปที่ประเทศจีนและประเทศเอเชียอื่น ๆ ผ่านถนนสายไหม