ชีวิตที่มีคุณภาพหลังการเกษียณ (1)

ชีวิตที่มีคุณภาพหลังการเกษียณ (1)

สำหรับหลายคนเดือน ก.ย.จะเป็นเดือนสุดท้ายของการทำงาน เพราะอายุครบ 60 ปี (หรือ 65 ปีหรือ 70 ปี) จึงจะเกษียณจากภาระที่รับผิดชอบมานานหลายสิบปี

ซึ่งจากประสบการณ์ของผมเองนั้นมองว่าน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของชีวิต

หลายคนอาจไม่คิดเช่นนั้น เพราะยังมีสุขภาพแข็งแรงและประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดชีวิตการทำงาน ก็จะยังทำประโยชน์ได้อย่างมาก นอกจากนั้นก็มีงานวิจัยหลายชิ้นที่มีข้อสรุปว่าคนที่ทำงานต่อไปเรื่อยๆ จะอายุยืนกว่าและสุขภาพดีกว่าคนที่หยุดทำงาน เพราะเมื่อหยุดทำงานก็มักจะนั่งกินนอนกิน และออกกำลังกายไม่เพียงพอ ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และการที่ไม่ได้เข้าสังคมและทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มบุคคลต่างๆ เป็นประจำ ก็ยังจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้มีภาวะโดดเดี่ยว จะทำให้จิตใจหดหู่และเกิดอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย บทความในหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal เรื่อง “The Case Against Early Retirement” (21 เม.ย.2562) ได้สรุปงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี หากท่านผู้อ่านอยากค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ครับ

แต่ผมขอมองในอีกมุมหนึ่ง ในฐานะของผู้ที่อายุใกล้ 63 ปีแล้ว โดยเห็นด้วยกับการจะต้องทำกิจกรรมต่างๆ แม้จะเกษียณตัวเองไปแล้ว แต่ผมจะให้ความสำคัญกับการทำกิจกรรมในเชิงของการสร้างคุณภาพให้กับสุขภาพของตัวเองและนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงวัยทุกคนมากกว่าการสร้างผลงานให้กับบริษัทหรือหน่วยงาน เหมือนกับเมื่อมุ่งมั่นทำงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ผมก็ยังติดตามและวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ เพราะยังให้ความและสนใจและอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมคุ้นเคยมานายหลายสิบปีแล้ว

ได้มีการประเมินอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาวะ (Health Adjusted Life Expectancy) จากแรกเกิด (at birth) ของประเทศไทยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Health Science March-April 2016 โดยคุณกนิษฐา บุญธรรมเจริญและคุณวิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ว่าผู้ชายไทยนั้นมีจะมีสุขภาพดีไปถึงอายุ 65 ปีและจะอายุยืนถึง 71 ปี แปลว่าช่วงปลายปีของชีวิต 6 ปีจะเป็นช่วงชีวิตอยู่ แต่สุขภาพไม่ดี สำหรับผู้หญิงนั้น จะมีสุขภาพดีไปจนกระทั่งอายุ 68 ปีและอายุยืน 77 ปี แปลว่าช่วงที่สุขภาพไม่ดีในช่วงบั้นปลายของชีวิตจะยาวนานถึง 9 ปี ทั้งนี้เป็นการประเมินโดยอาศัยข้อมูลในปี 2009 ตรงนี้ไม่ใช่ข่าวดีเลย แต่เป็นการคาดการณ์จากเมื่อแรกเกิด (at birth) ซึ่งตัวเลขจะแตกต่างออกไปสำหรับคนที่มีอายุแล้ว กล่าวคือข้อมูลที่รวบรวมจากองค์การอนามัยโลกและจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศของไทยนั้น ประเมินว่าอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดีหรือ HALE ในกรณีที่ปัจจุบันอายุ 60 ปีแล้วคือ 18 ปี สำหรับผู้ชายและ 20 ปีสำหรับผู้หญิง (ข้อมูลของสหประชาชาติประเมิน HALE ที่อายุ 60 ปีของคนไทยเอาไว้ที่ 15.2 ปี สำหรับผู้ชายและ 17.8 ปีสำหรับผู้หญิง) แปลว่าท่านที่เกษียณอายุแล้วสามารถคาดการณ์ได้ว่าน่าจะมีสุขภาพดีต่อไปได้อีกไม่เกิน 20 ปีโดยเฉลี่ย ซึ่งเมื่อเทียบแล้วเป็นเวลาที่เหลือไม่มากนัก เมื่อมองกลับไปแล้วจะเห็นว่าชีวิตของเราในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมานั้น เราได้ตั้งใจและเริ่มดูแลรับผิดชอบงานการทำเพื่อบริษัทหรือหน่วยงานและสร้างฐานะ ตลอดจนดูแลเลี้ยงลูกและเลี้ยงครอบครัวมาเป็นเวลานานและมีเวลาเหลือในอนาคตไม่มากนัก

ดังนั้นจึงต้องยอมรับข้อเท็จจริงว่ามาวันนี้เวลาในอนาคตเหลือน้อยกว่าเวลาในอดีตแล้ว ดังนั้นเวลาที่เหลือจึงมีค่าและต้องทำให้มีคุณภาพมากที่สุด ซึ่งในความเห็นของผมนั้นจะต้องเป็นช่วงเวลาที่ใช้ในการฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรงและสมบูรณ์เพื่อที่จะสามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้ ไม่ใช่ต้องติดบ้านและติดเตียงและย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดกล่าวคือมากกว่าการจะได้มาซึ่งเงิน ทอง ตำแหน่งสูงๆ หรือบารมี ที่สำคัญคือการมีสุขภาพดี แปลว่าเราจะไม่เป็นภาระให้กับลูกหลานและไม่ต้องไปแก่งแย่งทรัพยากรด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งมีความต้องการเกินกว่าที่ระบบสาธารณสุขจะตอบสนองอยู่แล้ว (ลองไปที่โรงพยาบาลดูว่าหาที่จอดรถได้ยากแค่ไหนและต้องรอหมอนานเท่าไร)

การมีสุขภาพดีในความเห็นของผมคือ

1.สามารถเดินได้วันละ 7-8 กิโลเมตร (แปลว่าโดยเฉลี่ยเดิน 10,000 ก้าวทุกวัน) ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อไม่มีโรคประจำตัว เช่น เข่าเสื่อม เจ็บหลัง โรคหัวใจ ซึ่งมักหมายความว่าต้องไม่อ้วน (วัดรอบเอวได้ ½ ของความสูง) และหากไม่อ้วนก็มักจะไม่เป็นโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูงอีกด้วย

2.ไม่เป็นโรคร้ายที่ไม่มียารักษา คือเป็นโรคมะเร็งหรือโรคสมองเสื่อม ซึ่งจากการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับโรคทั้งสองพบว่า การดำเนินชีวิตให้ถูกต้องจะลดความเสี่ยงดังกล่าวได้มาก เช่น งานวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ผมเคยเขียนถึงว่าการดำเนินชีวิตตามกฎ 5 ข้อทำให้ผู้ชายอายุ 50 ปีจะอายุยืนขึ้นไปอีก 12.1 ปี (ถึง 87.6 ปี) และผู้หญิงอายุ 50 ปีจะอายุยินขึ้นไปอีก 14.1 ปี (ถึง 93.1 ปี) แต่ที่สำคัญคือผู้ที่ทำตามกฎ 5 ข้อจะลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจได้ 82% และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งได้ 65% ในส่วนของการเป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia) นั้นส่วนใหญ่ (และที่น่ากลัวที่สุด) คือการเป็นโรคอัลไซเมอร์ซึ่งสถิติพบว่าประมาณ 1/3 ของคนอายุ 85 ปี หรือมากกว่าจะเป็นโรคนี้ แต่งานวิจัยล่าสุด 2 งานที่นำเสนอต่อที่ประชุม Alzheimer’s Association International Conference สรุปว่าการดำเนินชีวิตตามกฎ 5 ข้อ (ที่เกือบเหมือนกับกฎ 5 ข้อของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) จะลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ 30-60% สมมุติว่าเรามองในแง่ดี ก็แปลว่าการดำเนินชีวิตตามกฎ 5 ข้อจะทำให้

  • อายุยืนต่อไปอีก 27.6 ปี สำหรับผู้ชายวัย 60 ปีในวันนี้
  • อายุยืนต่อไปอีก 33.1 ปี สำหรับผู้หญิงวัย 60 ปีในวันนี้
  • โอกาสเป็นโรคหัวใจลดลงไป 82%
  • โอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ลดลงไปสูงถึง 60%

เป็นอนาคตที่สดใสอย่างยิ่งและอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองอย่างมากครับ