สถาปัตยฯเก่าแก่ สู่การป้องวิบัติภัยน้ำท่วม

สถาปัตยฯเก่าแก่ สู่การป้องวิบัติภัยน้ำท่วม

โครงการก่อสร้างประตูน้ำ Mont St-Michel เพื่อป้องกันภาวะน้ำทะเลหนุนและท่วมเอ่อเข้าสู่พื้นที่เกษตรของประชาชนโดยรอบ

ประตูปิดเปิดน้ำประกอบด้วยคันชักไฮโดรลิก 9 ตัวทำหน้าที่ปิดเปิดควบคุมแบบอิสระ โดยวิศวกรชลประทานจะเป็นผู้ควบคุมปิดเปิดตามสัดส่วนของระดับน้ำขึ้นลงให้เกิดความสมดุลระหว่างน้ำทะเลที่หนุนกับน้ำจืดที่ไหลจากคลองในแผ่นดิน อีกทั้งยังเป็นประตูควบคุมระดับน้ำทะเลมิให้ไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ 2 ข้างคลองอันเป็นพื้นที่ชายน้ำด้านการเกษตรของประชาชนในพื้นที่

สถาปัตยฯเก่าแก่ สู่การป้องวิบัติภัยน้ำท่วม

ภาพ: ประตูน้ำปิดเปิดด้วยระบบคันชัก 9 ตัวทำงานด้วยไฟฟ้าควบคุมระดับน้ำ

ด้านหน้าของประตูน้ำออกแบบเป็นระเบียงคอนกรีตตกแต่งด้วยไม้เพื่อให้เกิดความนุ่มนวลกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เป็นพื้นที่ทางเดินพักผ่อนชมวิว ซึ่งเน้นการเปิดมุมมองออกสู่เกาะ Mont St-Michel วิหารประวัติศาสตร์ที่มีชื่อของท้องถิ่น พื้นที่ประตูน้ำจึงกลายสภาพเป็นพื้นที่จุดชมวิว พักผ่อนของคนเมือง พื้นที่ท่องเที่ยว ตลอดจนพื้นที่เปิดตัวก่อนเดินทางต่อไปยังวิหาร Mont St-Michel ซึ่งเป็นเกาะยื่นออกไปในคาบสมุทรแอตแลนติกอีก 2 กิโลเมตร 

สถาปัตยฯเก่าแก่ สู่การป้องวิบัติภัยน้ำท่วม

ภาพ: การออกแบบโครงสร้างและส่วนตกแต่งที่เคารพธรรมชาติ ทรายล้าง พื้นไม้หุ้มโครงสร้าง

นับเป็นนวัตกรรมทางวิศวกรรมเพื่อการแก้วิบัติภัยน้ำทะเลหนุน ร่วมกับการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้งานหลักและผลพลอยได้ที่สร้างสุนทรียภาพให้แก่บริเวณโดยรอบ ด้วยการใช้วัสดุเรียบง่าย กลมกลืนกับธรรมชาติ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและที่สำคัญกลไกทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าที่ประหยัด อันเป็นนวัตกรรมจากความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันวิบัติภัยจากธรรมชาติที่ใช้หลักการออกแบบโดยเคารพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

วิหารเกาะ Mont Saint Michel ก่อตั้งในยุคกลางศตวรรษที่ 10 ช่วงปี 979 โดยบาทหลวงนิกายคริสเตียน เป็นศาสดาผู้บุกเบิกการก่อสร้างวิหาร Mont Saint Michel แห่งนี้ด้วยศรัทธาของประชาชนในพื้นที่แคว้น Normandy วิหารบนเกาะหินธรรมชาติแห่งนี้ยืนออกจากแหลมรอยต่อระหว่างแคว้น Normandy และแคว้น Bretany แคว้นตอนบนด้านทิศตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส ห่างจากแผ่นดินใหญ่ 1 กิโลเมตร

สถาปัตยฯเก่าแก่ สู่การป้องวิบัติภัยน้ำท่วม

วิหารที่ก่อสร้างด้วยหินเรียงตามสถาปัตยกรรมสมัย Gothic จากฐานจนถึงยอดวิหารใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ศตวรรษ และเกิดเป็นชุมชนรายล้อมจากฐานเกาะลดหลั่นถึงทางเข้าวิหารตอนกลางของเกาะ ปัจจุบันวิหารดังกล่าวได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติให้เป็น 1 ใน 8 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกแห่งหนึ่ง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศฝรั่งเศสอย่างมากมายแห่งหนึ่ง 

จากทำเลที่ตั้งที่อยู่ติดคาบสมุทรแอตแลนติกด้านตะวันตกของประเทศฝรั่งเศส พื้นที่อยู่ในเขตระบบนิเวศคาบสมุทรที่มีน้ำเค็มเป็นตัวกำหนดระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งนับวันจากการเปลี่ยนแปลงโดยภาวะอุณหภูมิความร้อนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เริ่มรุนแรงในเชิงลบมากขึ้น ปรากฏการณ์ภาวะธารน้ำแข็งจากขั้วโลกเหนือที่ละลาย ก่อให้เกิดภาวะน้ำทะเลหนุนกระทั่งก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ที่ไหลบ่าย้อนเข้าสู่ลำน้ำสายหลักของประเทศฝรั่งเศส สร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรน้ำจืดที่อยู่ในแผ่นดินในพื้นที่ใกล้เคียงกับเกาะ Mont St-Michel

สถาปัตยฯเก่าแก่ สู่การป้องวิบัติภัยน้ำท่วม

ภาพ: คันชักกั้นควบคุมระดับน้ำเข้าออกและเป็นจุดกั้นกรองขยะมิให้ออกสู่ทะเล

ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้แก่โบราณสถานแห่งนี้โดยท่วมขังตัดถนนที่เชื่อมต่อจากแผ่นดินใหญ่ วิถีชีวิตและการท่องเที่ยวในพื้นที่ต้องหยุดชะงักอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ พื้นที่เกษตรชายฝั่งซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรน้ำกร่อย ถูกน้ำทะเลท่วมหนุนสร้างความเสียหายจนเกิดการขาดสมดุลของระบบนิเวศน้ำกร่อยที่พอดี กลับกลายสภาพเป็นพื้นที่น้ำเค็มท่วมขัง สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่ภาคการเกษตรนับหลายพันไร่อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ 

จากวิกฤติภาวการณ์เปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอากาศแบบฉับพลันครั้งนี้ ก่อให้เกิดความเสียหายด้านสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งท้องถิ่นได้มีปฏิบัติการด้านการป้องกันการสูญเสียสภาพสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศชายฝั่งอย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการต่างๆ นับตั้งแต่คืนสภาพระบบนิเวศต้านภัยทางธรรมชาติ ปลูกป่าเป็นแนวกันชน ยกระดับถนนเชื่อมต่อเกาะวิหาร Mont St-Michel เพื่อเป็นแนวป้องกันลมและคลื่น โดยสร้างเส้นทางเชื่อมโยงเกาะวิหาร Mont St-Michel สายนี้เป็นแนวเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชื่อมต่อแผ่นดินใหญ่กับเกาะ

สถาปัตยฯเก่าแก่ สู่การป้องวิบัติภัยน้ำท่วม

ภาพ: บริเวณลานชมวิวด้านหน้าที่ซ่อนระบบคันชักประตูน้ำทำให้เกิดภาพที่สวยงาม

ในขณะเดียวกันโครงการสร้างประตูน้ำกั้นน้ำทะเลหนุนบริเวณปากลำน้ำ ก็เป็นโครงการหลักสำคัญอีกโครงการหนึ่ง โดยการสร้างประตูกั้นและระบายน้ำที่สอดแทรกเทคโนโลยีทางวิศวกรรมชลประทาน ด้วยโครงสร้างการออกแบบที่กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่กลมกลืนในพื้นที่อันได้ทั้งประโยชน์ด้านการป้องกันวิบัติภัยจากน้ำทะเลหนุน และสร้างพื้นที่ชมวิวที่งดงามในพื้นที่อีกทางในเวลาเดียวกัน

โดย... 

รศ.ดร.เอกรินทร์ อนุกูลยุทธธน

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คณะกรรมการรับรองการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก