3 ทหารเสือ แห่ง แจ็คสันโฮลว์ 2562

3 ทหารเสือ แห่ง แจ็คสันโฮลว์ 2562

หาก 10 ปีที่แล้ว วิกฤตซับไพร์มได้สร้าง 3 ทหารเสือ อันประกอบด้วย

 เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ทิม ไกธเนอร์ อดีตประธานเฟด สาขานิวยอร์ก และ แฮงก์ พอลสัน อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ

การประชุมเฟดแจ็คสันโฮลว์ ปี 2562 ก็ได้สร้าง 3 ทหารเสือรุ่นถัดมา ซึ่งผมจะพาท่านมารู้จักในบทความนี้ ที่ทั้งหมดถือว่าเป็นม้ามืด อันประกอบด้วย ฟิลลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย มาร์ค คาร์นีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ และ วิลเลียมส์ ดัดลีย์ อดีตประธานเฟด สาขานิวยอร์ก โดยที่ทั้งสามได้แสดงสุนทรพจน์ที่ถือว่าเข้าตา ในความเห็นผมมากกว่าเจย์ พาวเวล ประธานเฟดท่านปัจจุบัน 

เริ่มจาก ฟิลลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารกลางออสเตรเลีย ซึ่งผมมีโอกาสได้เข้าฟังนายโลว์บรรยายให้ความเห็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ที่ออสเตรเลีย เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ผมยังรู้สึกในวันนั้นเลยว่า นายโลว์น่าจะถูกซื้อตัวไปเป็นประธานธนาคารกลางที่ไหนสักแห่งที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจโลกในอนาคต ได้กล่าวถึงความเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อจำกัดของนโยบายการเงินในโลกปัจจุบัน ดังนี้ 

นายโลว์ มองว่าปรากฏการณ์ในขณะนี้ นั่นคือ อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่ต่ำ ก็จะต่ำไปเช่นนี้อีกพักใหญ่ เนื่องจากเหตุผล 2 ประการ คือ 1. การตัดสินใจของคนในยุคนี้สำหรับการที่ตัดสินใจจะลงทุนหรือออมนั้น ถูกกดดันในทิศทางที่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลง ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของโลกที่สูงขึ้นมากในยุคนี้ จนส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน หรือการที่โลกเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้อุปทานในการออมมีอยู่ค่อนข้างมากจนอัตราดอกเบี้ยลดลงจนต่ำมากอย่างต่อเนื่อง 2. การที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมต่างๆ อยู่ในระดับสูง โดยนายโลว์ได้ยกตัวอย่างของ ธนาคารกลางออสเตรเลียได้ว่าจ้างคนทำงานเพื่อช่วยเขาในการ edit เอกสารในส่วนซอฟต์แวร์ ซึ่งแต่เดิมเขาใช้คนทำงานในออสเตรเลีย ทว่าในปัจจุบันเขาใช้คนอินเดียซึ่งทำงานอยู่ที่มุมไบและส่งงานมาทางอินเทอร์เน็ตด้วยคุณภาพของผลงานที่ดีกว่าและค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ามาก ตรงนี้ ได้ส่งผลให้ระดับค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อต่ำทั่วโลก 

ด้วยอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ จึงทำให้นายโลว์แนะนำให้ใช้นโยบายอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบยืดหยุ่น (Flexible inflation targeting) ในยุคนี้ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของประเทศหนึ่งๆ จะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนโยบายอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายแบบยืดหยุ่นจะมีความเหมาะสมมากกว่าในการใช้เป็นนโยบายการเงินสำหรับยุคนี้ 

ท้ายสุด ความไม่แน่นอนทางการเมือง อาทิ สงครามการค้า เบร็กซิท ฮ่องกง และอิตาลี ได้ส่งผลต่อปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมากและโดยตรง ซึ่งนายโลว์แนะนำว่านโยบายการคลังผ่านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการปฏิรูปเชิงโครงสร้างต่างหาก ที่จะมาช่วยกู้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงนี้ ให้ได้ผลดีกว่าการดำเนินนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียว

มาถึง มาร์ค คาร์นีย์ ได้กล่าวถึงปัญหาการใช้เงินดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักของโลก ภายใต้บรรยากาศการเติบโตทางเศรษฐกิจของปัจจัยต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งนี้ มาจาก 3 สาเหตุ ได้แก่ 1. ผลของอัตราเงินฝืดที่มาจากการปรับค่าเงินสกุลดอลลาร์ซึ่งไม่เป็นไปตามความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานต่อผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ก็ยิ่งทำให้ปัญหา เงินฝืดหนักขึ้นไปเรื่อยๆ 2. การที่ราคาไม่ปรับเปลี่ยนไปตามกลไกตลาดของอัตราส่วนราคาระหว่างสินค้าส่งออกต่อราคาสินค้านำเข้า จากค่าเงินดอลลาร์ที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ได้ส่งผลให้เกิดดุลการค้าที่ไม่สามารถปรับเข้าสู่สมดุลได้ในระยะยาว และ 3. การที่ประเทศในตลาดเกิดใหม่ถือครองหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนในสกุลเงินดอลลาร์ ในสัดส่วนที่สูงกว่าปริมาณการค้าของตนเองมาก ส่งผลให้ตลาดเกิดใหม่มีจุดอ่อนต่อการแข็งค่าของเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ นายคาร์นีย์แนะนำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก เริ่มถอยห่างจากการใช้เงินดอลลาร์เป็นสกุลหลักของโลก

มาถึงม้ามืดท่านสุดท้าย ได้แก่ วิลเลียมส์ ดัดลีย์ อดีตประธานเฟด สาขานิวยอร์ก ที่เสนอไอเดียหลังการประชุมแจ็คสันโฮลว์ที่น่าสนใจ ได้แก่ เมื่อนายทรัมป์เป็นต้นเหตุของสงครามการค้าหรือเทรดวอร์ ดังนั้นเฟดไม่สมควรที่จะต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เพื่อชดเชยความเสียหายจากเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าของทรัมป์ โดยข้อดีของแนวคิดดังกล่าว มีดังนี้

1.เป็นการชะลอการไต่ระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ของเทรดวอร์ โดยการเพิ่มต้นทุนทางเศรษฐกิจสหรัฐให้ทรัมป์ต้องรับผิดชอบจากเทรดวอร์ที่ตนเป็นผู้ก่อขึ้นมา

2.เป็นการนำความเป็นอิสระของเฟดกลับมาอีกครั้ง โดยการตีตัวออกห่างจากรัฐบาลของทรัมป์

3.เป็นการเก็บอาวุธของเฟดที่ในตอนนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ลดต่ำลงเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ผ่านมา

ปัญหาของตรรกะที่น่าสนใจมากของนายดัดลีย์ คือ นายพาวเวลหรือเฟดจะทราบได้อย่างไรว่า สัดส่วนมากน้อยแค่ไหนของตัวเลขอัตราการลดลงสำหรับการเติบโตของจีดีพีสหรัฐที่เป็นผลมาจากสงครามการค้าที่โดนัลด์ ทรัมป์เป็นต้นเหตุหลัก ซึ่งความยากของการที่จะแยกเอาส่วนความผิดพลาดของทรัมป์นั้น แน่นอนว่าเฟดคงจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยหรือไม่โดยจะคิดเฉพาะจากผลกระทบที่เกิดจากเชิงเศรษฐกิจ (ไม่เอาการเมือง) เพียงอย่างเดียว เป็นไปได้ยากมากๆ ในทางปฏิบัติ เนื่องจากจะส่งผลเสียทางอ้อมคือสร้างความสับสนและงุนงงต่อตลาดอย่างมหาศาล

ดังนั้น ผมจึงมองว่าทางออกที่ดีกว่าของเฟดที่จะบีบให้ทรัมป์ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทางเศรษฐกิจจากเทรดวอร์ คือนายพาวเวลต้องแสดงความกล้าในการส่งสัญญาณว่าเทรดวอร์ได้ส่งผลกระทบที่เลวร้ายต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และขอให้ทรัมป์หยุดมาตรการดังกล่าว เนื่องจากสิ่งที่ควรทำในทางหลักการ คือ ให้หัวหน้าของฝั่งนโยบายการเงินซึ่งคือนายพาวเวล ออกโรงเตือนหัวหน้าของฝั่งนโยบายการคลังซึ่งคือนายทรัมป์ อย่างที่นายเบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดเคยเตือนรัฐบาลสหรัฐชุดก่อนๆ ในการรักษาวินัยทางการคลัง

คำถาม คือ แล้วนายพาวเวลจะมีความกล้าพอไหม?