สองเทคโนโลยีกลืนอาชีพ ด้านการท่องเที่ยวไทย

สองเทคโนโลยีกลืนอาชีพ ด้านการท่องเที่ยวไทย

การเข้ามาของเทคโนโลยีจึงส่งผลกระทบมากมายต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวในวงกว้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

สัปดาห์ที่แล้วหนังสือพิมพ์ ไฟแนนเชียล ไทม์ส ได้ตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึงอนาคตของการท่องเที่ยวไทยที่กำลังเผชิญปัญหากับการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวจีนโดยระบุว่า รายได้จากการท่องเที่ยวในปัจจุบันคิดเป็นราว 10% ของจีดีพี ประเทศไทย แต่ปัจจุบันกำลังมีปัญหากับการลดลงไปอย่างมากของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนโดยให้เหตุผลไว้ 3 ประการคือ 1.เกิดจากปัญหาทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่มีผลกระทบจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลก 2.ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และ 3.ปัญหาจากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถจะก้าวตามทันได้

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือ ระบบการจองบริการต่างๆ มีออนไลน์แพลตฟอร์มที่เป็นรายใหญ่เข้ามาคุมตลาดทั้งหมด โดยมีที่พัก สายการบิน รถเช่าและบริการต่างๆ อย่างมากมายอยู่ในเครือข่าย ทำให้ผู้คนจำนวนมากเลือกใช้บริการจึงส่งผลให้แพลตฟอร์มต่างๆ เหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างมาก และเข้าสู่โมเดลธุรกิจของแพลตฟอร์มที่เป็นลักษณะ Winner Take all

แพลตฟอร์มเหล่านี้มีระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ที่ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่มาวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค ยิ่งมีผู้ใช้มากขึ้นแพลตฟอร์มก็จะได้ข้อมูลมากขึ้น แพลตฟอร์มก็จะยิ่งมีรายได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ จะมีการลงทุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีต่อยอดสร้างระบบบิ๊กดาต้า ระบบเอไอให้เก่งยิ่งขึ้นไปอีก สุดท้ายรายเล็กๆ และรายใหม่ๆ ก็ไม่สามารถแข่งขันได้เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้ชาญฉลาดกว่า มีวิธีการเข้าถึงผู้บริโภคได้ดีกว่า

ประเด็นสำคัญคือ แพลตฟอร์มเหล่านี้หักค่าธรรมเนียมจากผู้ประกอบการต่างๆ ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่ไม่ได้เสียภาษีในประเทศไทย ดังนั้นแพลตฟอร์มจึงสร้างผลกระทบทำให้ผู้ประกอบการที่เป็น ทราเวล เอเจนท์ ในประเทศไทยรายได้ลดหายลงไปอย่างมาก

นอกจากนี้แพลตฟอร์มอย่างแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) ก็กำลังสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมอย่างมาก เพราะนักท่องเที่ยวจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนจะเลือกจองที่พักผ่านแอร์บีเอ็นบี ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยที่อาจไม่เสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นบางครั้งนักท่องเที่ยวจีนเลือกที่จะพักในคอนโดมิเนียมที่มีเจ้าของเป็นคนจีนมาซื้อไว้ บางครั้งรายได้และการชำระเงินก็ผ่านไปยังแอร์บีเอ็นบี โดยไม่มีการทำธุรกรรมหรือมีการเสียภาษีในประเทศเลย

เทคโนโลยียังมีผลต่อระบบการชำระเงิน ในอดีตนักท่องเที่ยวอาจจะต้องแลกเงินสด ซึ่งทำให้ธุรกิจต่างๆ ในประเทศมีรายได้จากการทำธุรกรรม แต่ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกที่จะใช้บริการชำระเงินผ่านอาลีเพย์ หรือวีแชท ระบบการชำระเงินเหล่านี้เป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศ จึงอาจมีการจ่ายเงินข้ามประเทศไทยไปโดยไม่มีธุรกรรมเข้ามาในประเทศ ตัวอย่างเช่น กลุ่มทัวร์ไปเลือกร้านขายอาหารหรือร้านขายสินค้าซึ่งมีคนจีนถือหุ้น และเมื่อมีการชำระเงินส่วนหนึ่งก็อาจมีการจ่ายค่าบริการไปยังต่างประเทศ

เทคโนโลยีก็ยังมีส่วนทำให้อาชีพและหลายอาชีพหายไปอีก กรณีไกด์นำเที่ยวเป็นตัวอย่างหนึ่ง เพราะปัจจุบันมือถือสามารถทำให้นักท่องเที่ยวค้นข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว เช่น มีระบบแนะนำสถานที่เที่ยว มีโปรแกรมแปลภาษา ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งตัวแทนหรือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่อยู่ในประเทศ

การเข้ามาของเทคโนโลยีจึงส่งผลกระทบมากมายต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวในวงกว้างโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน หากในอนาคตระบบปัญญาประดิษฐ์เก่งขึ้นและมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งทำให้พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปมากขึ้นกว่าเดิม ผู้ประกอบการจึงจำเป็นจะต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้เข้าใจถึง เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง ต้องปรับคุณค่าที่จะให้กับลูกค้าของตัวเองและบางครั้งต้องทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นกับองค์กรตัวเอง

ขณะที่ภาครัฐบาล ควรจะต้องมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ไนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย จะต้องออกนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสำคัญสุดต้องเร่งพัฒนาบุคลากรของประเทศให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต