โรงพยาบาลธงฟ้า ของกระทรวงพาณิชย์

โรงพยาบาลธงฟ้า ของกระทรวงพาณิชย์

เรื่อง โรงพยาบาลธงฟ้า ราคาประหยัดสำหรับโรงพยาบาลเอกชน ของกระทรวงพาณิชย์นี้ ไม่แน่ใจว่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายธงฟ้าราคาประหยัดแค่ไหน

เพราะจริงๆแล้ว ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนมีทั้งหมดเกือบ 800 แห่งในประเทศไทยนี้ ก็แบ่งตลาดกันค่อนข้างชัดเจนมานานแล้ว 

มีตั้งแต่เน้นบริการกลุ่มลูกค้าระดับบนรายได้สูง ( High end) กับชาวต่างชาติเป็นหลัก กลุ่มลูกค้าระดับกลางสำหรับผู้มีรายได้ปานกลาง มีประกันสุขภาพ มีสวัสดิการจากหลักประกันต่างๆ และกลุ่มลูกค้าระดับล่างที่รวมผู้ประกันตนในประกันสังคม และผู้ใช้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวางตำแหน่งทางธุรกิจขององค์กร (Position) เป็นอย่างไรแล้ว การทำการตลาดก็เป็นไปตามแนวทางการทำธุรกิจของแต่ละองค์กร

แน่นอนว่า ใครก็อยากได้ลูกค้าระดับสูงประเภทจ่ายไม่อั้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพและได้รับบริการรักษาพยาบาลอย่างดีทั้งนั้น แต่ทุกโรงพยาบาลก็มีข้อจำกัดของตัวเอง จึงต้องพยายามหาช่องทาง (Niche) ที่จะทำให้ได้ลูกค้าจำนวนมากพอที่จะสร้างผลกำไรให้กับโรงพยาบาลได้

ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งชั้นโรงพยาบาลเอกชน ที่ทำกันเองอยู่แล้ว แต่กรณี เป็นเรื่องของการสร้างความชัดเจนให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รู้ล่วงหน้าก่อนที่จะเดินไปเข้าโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่งว่าสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ถ้าได้ใช้บริการที่โรงพยาบาลนั้นได้หรือไม่ มากกว่า ถ้าคิดว่าไม่ได้ ก็ไม่ต้องเข้าตั้งแต่ต้น ยกเว้นเป็นเรื่องวิกฤติฉุกเฉินที่สามารถเข้าได้ทุกโรงพยาบาล ก่อนถูกส่งต่อหลังการรักษาพยาบาลขั้นฉุกเฉินตามที่กฎหมายกำหนด

ที่จริงมีหลายธุรกิจที่มีการจัดเรทติ้งสร้างความแตกต่างกันชัดเจน เช่นธุรกิจโรงแรม ธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจการบิน ที่ผู้ใช้บริการสามารถเลือกได้ว่าฐานะของตัวเองควรใช้บริการแบบไหน คงมีคนที่เงินเดือน 15,000 บาท ไม่กี่คนที่จะบินสายการบินชั้นหนึ่ง First Class ทุกครั้ง พักโรงแรมชั้นหนึ่งห้าดาวทุกคราว เข้าร้านอาหารห้าดาวระดับมิชลินทุกมื้อ นอกจากจะมีรายได้อื่นมากพอที่จะหาความสบายใส่ตัว มีรายได้อื่นจ่ายไม่อั้น

อย่างไรก็ตาม เรื่องของบริการทางการแพทย์ในปัจจุบันก็มีความซับซ้อนไม่น้อย เหตุเพราะกลุ่มโรงพยาบาลภาครัฐทั้งของสถาบันโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลจังหวัด ของ กระทรวงสาธารณสุข และแม้กระทั่งโรงพยาบาลชุมชน ตามอำเภอต่าง ก็กำลังพัฒนาปรับปรุงการให้บริการพิเศษ ทั้งคลีนิกพิเศษ ทั้งคลีนิกนอกเวลา

ถ้าจะให้ธงฟ้า ก็อาจจะต้องมีธงสีอื่นๆ ตามมาอีกไม่น้อย ทั้งนี้เพราะ การบริการทางการแพทย์ของสถานพยาบาลภาครัฐก็พัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นกัน รวมทั้งการให้บริการด้วยวิธีการรักษาและใช้ยานอกบัญชีที่มีประสิทธิภาพในการรักษามากกว่ายาทั่วไปในบัญชี ที่จะทำให้ผู้เข้ารับบริการต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

โรงเรียนแพทย์หลายแห่งถึงขนาดเปิดเป็นโรงพยาบาลพิเศษสำหรับรักษาพยาบาลลูกค้าระดับ High End แข่งกับโรงพยาบาลเอกชน ด้วยเทคโนโลยีการรักษาพยาบาล การใช้ยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งการบริการที่ไม่ใช่แค่โรงหมอแต่เป็นระดับโรงแรมห้าดาว เช่นนี้ คงจะสร้างความซับซ้อนในการจัดกลุ่ม และการปักธงสีต่างๆไม่น้อย

ถ้า กระทรวงพาณิชย์ จะทำเรื่องนี้คงต้องปรึกษาหารือกันให้ดีๆ เพราะถ้าทำไปแล้วเกิดมีผลกระทบกับการให้บริการ ก็อาจมีผลต่อเนื่องกว้างไกลทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจสุขภาพที่เรากำลังเดินมาอย่างแข็งแรง มีความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศสูง กลับต้องสะดุดหยุดลง เพราะเมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาล โดย กระทรวงพาณิชย์ จะโยนความรับผิดชอบไปให้ภาคเอกชนเป็นผู้รับบาปเคราะห์แต่เพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูกต้อง