นโยบายการเงินกับค่าเงินบาท

นโยบายการเงินกับค่าเงินบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกเสมอว่าดอกเบี้ยนโยบายไม่สูงเกินไป

และได้นำเอาดอกเบี้ยนโยบาย “จริง” คือดอกเบี้ยนโยบายมาลบกับเงินเฟ้อของไทยไปเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายจริงของบางประเทศให้เห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายจริงของไทยปัจจุบันคือประมาณ 0.6% (1.5-0.9=0.6%) นั้นต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายจริงของหลายประเทศหลัก ทั้งนี้ก็อธิบายเสมอมาว่าการแข็งค่าของเงินบาทนั้นมีสาเหตุมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

เป็นสำคัญ

ผมขอนำเสนอแนวคิดอีกด้านหนึ่งเพื่อให้ท่านผู้อ่านนำไปเปรียบเทียบดูครับ

1.เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่า 15% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดัชนี NEER ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับเงินสกุลอื่นและดัชนี REER ซึ่งเปรียบเทียบค่าเงินพร้อมกับหักลบกับเงินเฟ้อของไทยและประเทศอื่นๆ (เพื่อให้ได้มาซึ่งการแข็งค่า “จริง”) ของเงินบาท สะท้อนให้เห็นว่าเงินบาทแจ้งค่าขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

นโยบายการเงินกับค่าเงินบาท

จากตาราง แปลว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้น 16.78% เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้า-คู่แข่งของไทย (ถ่วงน้ำหนักด้วยปริมาณการค้า) ซึ่งเป็นการแข้งตัวที่รวดเร็วมากคือเฉลี่ย 5% ต่อปี ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามส่งออกปีละ 200,000-250,000 ล้านเหรียญ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้น 3 บาท (เช่นจาก 33 บาทเป็น 30 บาท คือไม่ถึง 10%) ก็แปลว่าผู้ส่งออกมีรายได้เป็นเงินบาทลดลงไป 600,000-750,000 ล้านบาทไปแล้ว ส่วน REER ที่ต่ำกว่าคือ 12.7% นั้นแปลว่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้ผู้ส่งออกต้องพยายามลดต้นทุนโดยการกดราคาสินค้าภายในประเทศ ทำให้เงินเฟ้อของไทยต่ำกว่าประเทศคู่ค้าประมาณ 4% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหรืออีกนัยหนึ่งคือจาก 16.78% นั้น ผู้ส่งออกรรับภาระ 12.70% ส่วนอื่นๆ รับภาระ 4.08%

2.เงินเฟ้อต่ำเป็นเพราะราคาน้ำมัน/e-commerce ฯลฯ ได้มีการอธิบายในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาว่าดัชนีราคาผู้บริโภคที่ใช้วัดเงินเฟ้อไทยนั้นไม่แม่นยำและที่สำคัญคือราคาน้ำมันโลกตกต่ำอย่างมาก ทำให้ต่ำเกินกว่าจริงหรือต่ำเกินกว่าปกติเป็นการชั่วคราว และต่อมาก็พูดถึง e-commerce ว่าจะมีผลในเชิงโครงสร้างที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ผสมผสานกับการแก่ตัวของประชากรไทย ทำให้การปรับราคาขึ้นยิ่งทำไม่ได้ ดังนั้นจึงมีข้อสรุปว่าเป้าเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยทำข้อตกลงเอาไว้กับกระทรวงการคลังที่ 2.5% ต่อปีนั้นสูงเกินไปและธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่เคยทำได้ตามเป้าดังกล่าวเลย แต่จะบอกว่าเมื่อเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าแล้วก็เป็นเรื่องดี ดังนั้นจึงจะสามารถหันไปให้ความสนใจกับเป้าอื่นๆ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคิดว่ามีความสำคัญ เช่น เสถียรภาพทางการเงิน search for yield ฯลฯ แต่การที่เงินเฟ้อตกต่ำมากๆ เป็นเวลานานนั้น ก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นเหมือนญี่ปุ่นที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดมากว่า 20 ปีแล้ว และเมื่อเกินขึ้นพร้อมกับการแก่ตัวของประชากร (ซึ่งไทยก็กำลังจะเผชิญสภาวะเดียวกันใน 20 ปีข้างหน้า) ก็ได้มีส่วนสำคัญในการทำให้จีดีพีของญี่ปุ่นไม่โตเลยในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เช่น ในปี 2017 จีดีพีญี่ปุ่นเท่ากับ 4.872 ล้านล้านเหรียญ แต่ในปี 1995 อยู่ที่ 5.449 ล้านล้านเหรียญ แล้วลดลงมาที่ 4.033 ล้านล้านเหรียญในปี 1998 ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

3.ความเชื่อมโยงกันระหว่างค่าเงิน เงินเฟ้อ และดอกเบี้ย เงินเฟ้อคือการเสื่อมค่าของเงิน เช่น เงินเฟ้อ 2% ต่อปี แปลว่าเงิน 100 บาทตอนต้นปีจะเสื่อมค่าหรือเสื่อมกำลังซื้อลงไป 2 บาทเหลือ 98 บาทตอนปลายปี ตัวเลขล่าสุดในเดือนกรกฎาคมจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อไทยเมื่อเทียบกับประเทศหลักนั้นต่ำมาก 

นโยบายการเงินกับค่าเงินบาท

แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลประเทศ ก. กับประเทศ ข. ย่อมสะท้อนการเสื่อมค่าของเงินของประเทศทั้งสองที่แตกต่างกัน เช่นหากประเทศ ก. มีเงินเฟ้อ 2% แต่ประเทศ ข. มีเงินเฟ้อ 1% เงินของประเทศ ข. ก็จะต้องแข็งค่าขึ้นปีละประมาณ 1% เมื่อเทียบกับเงินของประเทศ ก. ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคของไทยอยู่ที่ประมาณ 100 เมื่อกลางปี 2016 และปัจจุบันอยู่ที่ 103 แปลว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาราคาสินค้าของไทยเพิ่มขึ้นเพียง 3% หรือไม่ถึง 1% ต่อปี

เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% นั้น ในทางปฏิบัติแปลว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะต้องควบคุมปริมาณเงินในระบบให้มีปริมาณเงินในระบบเพียงพอที่จะทำให้ดอกเบี้ยที่กู้ยืมกันข้ามคืนเท่ากับ 1.5% ซึ่งเราก็ทราบกันดีว่าปริมาณเงินนั้นหากมีมาก เงินเฟ้อก็จะต้องสูงขึ้นและหากปริมาณเงินมีน้อย เงินเฟ้อก็จะต้องต่ำลง ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงอาศัยการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกำหนดปริมาณเงินในระบบเพื่อนำไปสู่เงินเฟ้อที่เหมาะสม ซึ่งตามที่ตกลงเอาไว้กับกระทรวงการคลังนั้นจะต้องพยายามทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% ต่อปี แต่เมื่อเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 1.1% ต่อปี ก็ต้องแปลว่ามีปริมาณเงินในระบบไม่เพียงพอที่จะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นถึง 2.5% ต่อปีมาโดยตลอด

4.ไอเอ็มเอฟแนะนำให้ลดดอกเบี้ย ไม่ใช่ขึ้นดอกเบี้ยในปี 2018 เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2018 (6 เดือนก่อนธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นดอกเบี้ย) ไอเอ็มเอฟออกแถลงการณ์ผลการประเมินเศรษฐกิจไทยประจำปี 2018 ภายใต้มาตรา 4 สรุปสาระดังนี้

-ในส่วนของคณะกรรมการไอเอ็มเอฟ (Directors) นั้น เสียงแตกคือ “A number of Directors agreed that money easing…could help steer inflation back to target…A number of Directors considered the current monetary policy to be sufficiency accommodative…” 

-เจ้าหน้าที่ไอเอ็มเอฟ (staff) มีจุดยืนชัดเจนว่า “Staff recommends an expansionary policy mix including fiscal stimulus, monetary easing…monetary easing would help steer inflation to target…curtail risks of low inflation, and help balance capital flows, FX intervention should be limited…”

ในปี 2019 staff ยังยืนยันจุดยืนเดิมคือให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย