ติมอร์-เลสเตกับอาเซียน 2562

ติมอร์-เลสเตกับอาเซียน 2562

กว่า 8 ปีแล้วที่ติมอร์ตะวันออก หรือติมอร์-เลสเต ยื่นขอเข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน แต่ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะประสบความสำเร็จในเร็วๆ นี้

นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอินโดนีเซียเมื่อปี 2542 ติมอร์-เลสเตได้แสดงความปรารถนาถึงการเป็นสมาชิกอาเซียนอันจะเห็นได้จากการเข้าร่วมเวทีการประชุมต่างๆ ของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง หลังจากได้รับสถานะผู้สังเกตการณ์อาเซียนในปี 2545 ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค (ASEAN Regional Forum) ในปี 2548 และร่วมลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation) ในปี 2550

และถัดมาในปี 2554 ติมอร์-เลสเตได้ยื่นเอกสารสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเป็นทางการ โดยดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อบูรณาการและเป็นส่วนหนึ่งเข้ากับประชาคมอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาสถาบันและกลไกการปกครองในประเทศ การตั้งสถานกงสุลหรือสถานทูตประจำในชาติอาเซียน และเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนในทุกนัด รวมถึงการประชุมสุดยอดปี 2562 ที่ไทยรับหน้าที่ประธานด้วยเช่นกัน

ถึงแม้ว่าติมอร์-เลสเตจะผ่านเกณฑ์การเข้าเป็นสมาชิกใหม่ตามมาตรา 6 ของกฎบัตรอาเซียนในเรื่องของที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนมีความกระตือรือร้นอย่างมากในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของอาเซียน ติมอร์-เลสเตต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการที่ยังไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของอาเซียนได้ ซึ่งก็มีเหตุผลดังต่อไปนี้

ประการแรก ชาติอาเซียนบางประเทศเห็นว่าติมอร์-เลสเตนั้นยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะดำเนินภารกิจในกรอบของอาเซียนได้ อาทิ การจ่ายค่าส่วนกลางสำหรับการบริหารกิจการอาเซียน การจัดประชุมสุดยอดในฐานะประธานอาเซียน และการฝึกซ้อมทางทหารกับชาติมหาอำนาจ เป็นต้น

การที่ติมอร์-เลสเต ซึ่งเป็นประเทศเกิดใหม่มีประชากรเพียงแค่ 1 ล้านคน และมี GDP เพียงแค่ 2,900 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ทำให้ชาติอาเซียนบางประเทศไม่มั่นใจว่าติมอร์-เลสเตจะสามารถปฏิบัติตามภารกิจของอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากต้องใช้บุคลากรและงบประมาณเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีประเด็นด้านช่องว่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจระหว่างติมอร์-เลสเตกับชาติสมาชิกอาเซียนอื่นๆ อันจะส่งผลให้เกิดการชะลอการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ประการที่สอง ชาติอาเซียนบางประเทศยังกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศของตนหากอาเซียนรับติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกใหม่ จากการจัดลำดับดัชนีเสรีภาพสื่อโดยองค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders) ติมอร์-เลสเตจัดได้ว่าเป็นประเทศให้เสรีภาพสื่อมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 84 ในขณะที่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมา อยู่ในอันดับที่ 124, 134 และ 138 ตามลำดับ

ดังนั้นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านอาเซียนต่างๆ เช่น กวี จงกิจถาวร และนาย Truston Jianheng Yu ได้เสนอความเห็นลงหนังสือพิมพ์อย่างในบางกอกโพสต์ และจาการ์ตาโพสต์ตามลำดับ ไปในทิศทางเดียวกันว่าหากติมอร์-เลสเตได้เป็นสมาชิกอาเซียน ชาติคู่เจรจาอาเซียนที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หรือองค์กรภาคประชาสังคมอาจยกติมอร์-เลสเตเป็นกรณีตัวอย่างในการเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองในชาติอาเซียน

แม้ว่าจะมีเหตุผลมากมายที่ชาติอาเซียนบางประเทศยังไม่ยอมรับติมอร์-เลสเตเข้าเป็นสมาชิกใหม่ แต่ปัจจุบันอาเซียนก็ได้พิจารณาถึงประโยชน์ในระยะยาว ที่ว่าติมอร์-เลสเตนั้นมีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund)ซึ่งรายได้หลักมาจากทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ อันมีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า และรายได้ดังกล่าวอาจจะเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของอาเซียนในการเสริมสร้างการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ยิ่งไปกว่านั้นการรับติมอร์-เลสเต เข้าเป็นสมาชิกจะเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและหมุดหมายความสำเร็จครั้งสำคัญของอาเซียน ที่แสดงให้เห็นว่าอาเซียนมีส่วนสำคัญต่อการสร้างสันติภาพในภูมิภาค รวมถึงในกรณีที่อินโดนีเซียสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านที่เคยมีความขัดแย้งและได้แยกตัวเป็นเอกราชออกไปแห่งนี้

ในปี 2562 นี้ ไทยในฐานะประธานอาเซียนได้สนับสนุนติมอร์-เลสเตอย่างเต็มที่ ดังที่เคยทำมาอย่างสม่ำเสมอ และได้ผลักดันให้มีคณะกรรมการสืบหาข้อมูล (Fact Finding Mission) ในการประเมินความพร้อมของติมอร์-เลสเตในด้านต่างๆ ซึ่งก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนในปลายปีจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร

โดย...

วรรณวัฒน์ เอมอ่อง

ผู้ช่วยผู้ประสานงานชุดโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) สกสว.