นัยแห่งบทสนทนาของ “อำนาจนิยม”

นัยแห่งบทสนทนาของ “อำนาจนิยม”

ในสังคมที่ก้าวหน้าและให้คุณค่ากับความเป็นประชาธิปไตย ล้วนตระหนักและให้ความสำคัญกับการสนทนาหรือพูดคุยกันเสมอภาค เท่าเทียมกันของผู้คนร่วมสังคม

โดยไม่พยายามผูกขาด ควบคุม กระทำการ หรือ ครอบครองการสนทนาไว้ที่บุคคล/ ผู้คน/ กลุ่มคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และ/ หรือพยายามกีดกัน ปิดกั้นการเข้าร่วมสนทนา ในทางกลับกันสังคมที่ยึดถือหรือตกอยู่ในสภาวการณ์ที่เบี่ยงเบนไปจากความเป็นประชาธิปไตย หรือพื้นที่ทางสังคมและการเมืองถูกยึดยื้อครอบครองโดยระบอบ อำนาจนิยม โดยทั่วไปมักนิยมใช้ อำนาจ เป็นพลังบังคับ สั่งการ ควบคุม ชักจูง ครอบงำ กระทำการให้บรรลุอุดมการณ์ แรงจูงใจ แรงปรารถนา ความต้องการทางการเมือง ฯลฯ

อำนาจสำคัญประการหนึ่งของ “อำนาจนิยม” คือการสร้าง- ผลิตซ้ำ ตัวบทการสนทนา และทำให้ตัวบทสนทนานั้นประสบความสำเร็จ ด้วยการใช้อำนาจรัฐและทรัพยากรของสังคมอย่างหลากหลาย กระทั่งสามารถ ครอบครองการสนทนา” นั้นอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยวิธีการที่เรียกว่า การครอบครองการสนทนาที่ต่อเนื่อง เช่น การขอร้อง โน้มน้าว สร้างแรงจูงใจ ครอบงำ สร้างจินตนาการ สร้างแรงบันดาลใจ อารมณ์ ความรู้สึกร่วม และ การครอบครองการมีส่วนร่วมสนทนา” โดยมองว่าประชาชนเป็นคู่สนทนาที่เป็นของตาย ที่สามารถรปิดกั้น กีดกัน จำกัด ตัดสิทธ์ การบังคับ สั่งการ ควบคุม การใช้กฎหมาย จนกระทั่งบทสนทนาทั้งหลายสามารถลงหลักปักฐานในความรู้สึก การรับรู้ทั่วไปของผู้คน ปรากฏตัวบทสนทนาในกฎหมาย นโยบาย แผน โครงการ กลไกและสถาบันรัฐ

กล่าวได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานับแต่การก่อรัฐประหารครั้งล่าสุด ระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทยได้ค่อยๆสถาปนาขึ้นอย่างแข็งแกร่งและทรงพลัง ด้วยการครอบครองการสนทนาต่อเนื่องจากจุดเริ่มต้น “ขจัดความขัดแย้ง คืนความสงบสุข ถึงการผูกขาดสร้างประชาธิปไตย สร้างอนาคตฝ่ายเดียว” ดังบท “กำลังสร้างบ้าน สร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง ไม่ให้ใครมาทำลาย” “เขียนยุทธศาสตร์เป็นการเขียนวางแผนอนาคตเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ไม่ใช่รักษาอำนาจไว้” “การฟื้นฟูชื่อเสียงเกียรติคุณ” “การเติบโตเชิงคุณภาพ” เป็นต้น  

เมื่อประสม-ประสานเข้ากับการครอบครองการมีส่วนร่วมการสนทนา จากการปิดกั้น กีดกัน จำกัด ตัดสิทธ์การสนทนาด้วยการบังคับ ขู่เข็ญ ทำร้าย ควบคุม การใช้กฎหมาย การเลือกปฏิบัติ การรังแกโดยกฎหมาย การใช้อำนาจมืด ดังรูปธรรมที่สะท้อนผ่านข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เนตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ “iLAW” ที่ระบุว่าตลอดระยะเวลา 5 ปี ของการครองอำนาจมีการออกกฎหมาย คำสั่งพิเศษ ประกาศ มากกว่า 500 ฉบับ มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองถึงเกือบ 1,000 คน

ทำให้กลุ่มอำนาจนิยมประสบความสำเร็จในการ เปลี่ยนนัยแห่งบทสนทนา” และทำให้นัยนั้นกลายเป็นการสนทนาที่สามัญที่ผู้คนยอมรับด้วยกระบวนการการเลือกตั้ง แม้ในเชิงระบบ/ โครงสร้างทางการเมือง และระบอบประชาธิปไตยหลังการเลือกตั้งจะอยู่ในลักษณะที่เรียกว่า การกำกับ-ควบคุม และ การปันแบ่งประสานผลประโยชน์ของกลุ่มอำนาจนำ ที่ประกอบด้วย รัฐ ราชการ ทุนขนาดใหญ่ ทุนท้องถิ่นสวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนทนาพาทีถูกคอ ภาษาเดียวกัน มากกว่าการสนทนากับประชาชนทั่วไปที่ฟังได้เพียงเสียงอู้อี้ (Mumble)

กระนั้นท่ามกลางบทสนทนาที่ถูกกำกับด้วยกลุ่มอำนาจนิยม ก็ไม่สามารถ ปิดบทสนทนาใหม่ๆ” ให้ผู้คนเข้ามา เปล่งเสียงสนทนา ได้ โดยเฉพาะหลังจากการประกาศให้มีการเลือกตั้ง บทสนทนาใหม่ๆ บทสนทนาที่แตกต่าง ได้ส่งเสียงออกมา ในพื้นที่สังคม/ทางการเมืองได้โดยไม่พะวักพะวง เป็นบทสนทนาที่หลุดออกจากการถูกพันธนาการ และยิ่งชอบธรรมมากขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะประชาธิปไตยแบบปันแบ่งประสานผลประโยชน์มักจะกระทำในทุกวิถีทางในการแย่งชิงทรัพยากรไปจากสังคม ทำให้สังคมเกิดการตื่นตัว พยายามลุกขึ้นแสวงหา ช่องทางสร้างเปล่งบทสนทนา ท้าทายประชาธิปไตยในลักษณะที่ว่านี้

การครอบครองการสนทนาและครอบครองการมีส่วนร่วมสนทนายังคงต่อเนื่องต่อไป จากบทสนทนาชวนเชื่อใหม่ของรัฐบาลที่พรางร่างเป็น “อำนาจนิยมลูกผสม” บทสนทนาที่ แจ้งชัด แฝงฝัง เบี่ยงบัง” ในนโยบาย กฎหมาย กลไก สถาบันการเมืองเช่น รัฐสภา วุฒิสภา ระบบราชการ กองทัพ อย่างหนาแน่น มั่นคง และมีบทบาทสำคัญในการประคับประคอง สร้างเสถียรภาพสืบอำนาจได้ยาวนานออกไปอย่างไม่คาดคิด

การทลายกำแพงการสนทนาในลักษณะนี้ต้องประสานพลังคนรุ่นใหม่ พลังของข้อมูลความรู้ พลังเครือข่ายทางสังคมใหม่ๆที่เติบโตขึ้นในระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเข้าสู่สังคมผู้ประกอบการ เครือข่ายชุมชน สภาองค์กรชุมชน สังคม ภาคประชาชนและประชาสังคม ด้วยการสร้างบทและมารยาทการสนทนาใหม่ๆ การใช้สื่อสังคมออนไลน์ ที่สนองรับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนผู้ถูกกระทำ การทำให้สอดคล้องกับกระแสความคิด ทิศทางการพัฒนาสากล การพัฒนาประชาธิปไตย การกระจายอำนาจ การขยายฐานความคิด การจัดการ/ กำหนดอนาคตตนเอง ปฏิบัติการไม่ยินยอม ฝืนทนกับการสนทนาและการกระทำของโครงสร้างอำนาจนิยมกลุ่มเดิมที่พยายามแสดงตนเป็นอภิสิทธิ์ชนเหนือสังคมการเมืองเหนือประชาธิปไตยในแบบอย่างที่ไม่คู่ควร การไม่ยอมรับ ขัดขืน แสดงออกอย่างตรงไปตรงมาให้เห็นว่า “ไม่มีสิทธ์ทำลายความฝันของสังคมด้วยบทสนทนาอันหยาบคาย ไร้อนาคตและทำให้บทสนทนาใหม่ๆกระเทาะร่อนอำนาจนิยมในคราบเงาประชาธิปไตยให้หมดสิ้นไปจากสังคมไทย  

โดย... 

รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์

รักษาการคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ