กฎหมายในยุคดิจิทัล

กฎหมายในยุคดิจิทัล

รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยประจำปี 2561 แสดงให้เห็นว่ามูลค่าการเติบโตของธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เติบโต

เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 14.04 หรือคิดเป็นมูลค่า 3,150,232.96 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2561 ซึ่งปรากฏผลสำรวจว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 10 ชั่วโมง 5 นาที โดยใช้ไปกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์ การรับส่งอีเมล์ การค้นข้อมูล การซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการทำธุรกรรมทางการเงิน จะเห็นได้ว่าชีวิตส่วนใหญ่ของเราทุกวันนี้ได้พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก ส่งผลให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกำกับดูแล สนับสนุน และพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลใช้คือการผลักดันชุดการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งประกอบไปด้วยกฎหมายหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งอาจแบ่งพิจารณาได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

กลุ่มแรกคือ กฎหมายในกลุ่มที่เกี่ยวกับการวางนโยบายและการกำกับดูแลการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมซึ่งได้แก่ กฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัล และพระราชบัญญัติการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทที่ใช้กำหนดนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

กลุ่มที่สองคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล และการเข้าทำธุรกรรมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการทำธุรกรรมมากขึ้น เช่น ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล การปรับปรุงระบบการชำระอากรแสตมป์ให้รองรับตราสารอิเล็กทรอนิกส์ และแนวทางการใช้บริการคลาวด์ในการจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

กลุ่มที่สามคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองความปลอดภัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น กฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

กฎหมายทั้งสามกลุ่มนี้แม้ว่าจะมีเนื้อหาที่แตกต่างกัน แต่ก็มีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการสนับสนุน และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในธุรกรรมประจำวัน บางครั้งจึงอาจทำให้เกิดการกำหนดหน้าที่ที่ทับซ้อนกันอยู่บ้าง เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อป้องกันและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่าง ๆ ส่วนพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็มีวัตถุประสงค์ในการรักษาความเป็นส่วนตัวของบุคคล กฎหมายทั้งสองฉบับนี้ต่างก็กำหนดหน้าที่ในการจัดให้มีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานที่หน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลกฎหมายแต่ละฉบับได้กำหนดขึ้น แม้ปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานดังกล่าวออกมา แต่ทำให้ชวนสงสัยว่ามาตรฐานของกฎหมายทั้งสองฉบับนี้จะสอดคล้องกันหรือไม่ หากขัดแย้งกันจะต้องทำตามกฎหมายฉบับใด  ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเหล่านี้จะต้องไปร้องเรียนที่หน่วยงานใด

แม้ว่ากฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจะดูมีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี แต่ผลลัพธ์ในเชิงรูปธรรมยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่งภายหลังจากที่กฎหมายเหล่านี้มีผลใช้บังคับแล้ว และอาจจะต้องมีการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายเหล่านี้ต่อไปในอนาคต เพราะการพัฒนาการในด้านนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เหล่าผู้ประกอบการในประเทศไทยจึงควรติดตามกฎหมายด้านนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อจะได้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่อไปได้อย่างทันท่วงที

พบกันใหม่ในบทความครั้งหน้า สวัสดีค่ะ

โดย... 

ภูริตา ธนโชคโสภณ

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด

[email protected]

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่]