เส้นทางสายไหมยุคโบราณและยุคกลาง ตอน 2

เส้นทางสายไหมยุคโบราณและยุคกลาง ตอน 2

ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับถนนสายไหมในยุคโบราณและยุคกลางที่ควรบันทึกไว้

1.เนื่องจากเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มันย้อนกลับไปช่วงก่อนคริตกาลคือกว่า 2,000 ปีมาแล้ว ข้อมูลในยุคแรก ๆ ซึ่งไม่มีบันทึกไว้แต่ใช้หลักฐานทางโบราณคดีหรือจากภาพวาด ที่จารึกตามถ้ำ ศาสนสถาน ต่าง ๆ ความน่าเชื่อถือย่อมมีน้อยกว่ายุคหลังคริสตกาล ไม่ว่าจะในตะวันออกกลาง ในเอเชียกลางหรือในจีน กระนั้นก็ตาม แม้ในช่วงคริตกาล 1,000 ปีแรกก็ยังมีข้อสังเกตว่าอาณาจักรหรือราชวงศ์ทุกยุคทุกสมัย มีเกิด มีดับ ภัยพิบัติ กบฏ สงครามภายใน-ภายนอก การถูกรุกรานจากรัฐอื่นหรือชนเผ่าเร่ร่อน(nomads) มีช่วงวิกฤตและการล่มสลายเป็นเวลาที่ยาวนาน ย่อมมีผลกระทบต่อการบันทึกข้อมูล ข่าวสารตลอดจนผลกระทบต่อบทบาทของเส้นทางสายไหมในการเชื่อมโยงระหว่างส่วนต่าง ๆ ของยูเรเซีย ส่วนหนึ่งมาจากการขาดการส่งเสริมและการให้ความคุ้มครอง การอำนวยความสะดวกโดยรัฐ ขณะเดียวกันก็มีบางช่วงที่ชนชั้นพ่อค้าพัฒนามาจากชนเผ่าเร่ร่อนจนอยู่เป็นชุมชนเกษตรกรรมหรือเมือง หรืออาจจะยังเร่ร่อนแต่เป็นตัวกลางทางการค้า เช่น พ่อค้า Sogdiansใน Sogdiana แถบทะเลอาราล (Aral) บริเวณเอเชียกลาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกลุ่มประเทศที่ลงท้ายด้วย “สถาน”(  stan) ทั้งหลาย บทบาทของพ่อค้า Sogdians นี้มีมาก โดยเฉพาะตั้งแต่คริสตวรรษที่ 4 เรื่อยมา (แม้อาจจะมีช่วงถดถอย แต่ก็ฟื้นบทบาทในเวลาต่อมา) เป็นเวลาเกือบหนึ่งพันปี พ่อค้ากลุ่มนี้มีบันทึกเป็นเอกสาร Sogdians letters ที่รู้จักกันดีออกเป็นประจำทำให้เรารู้ความเป็นได้

2.เส้นทางสายไหมไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง มันทำงานเหมือนเป็นเส้นเลือดในร่างกายของเรา ในขณะที่ยุคโบราณ ยุโรปยังล้าหลังกว่าตะวันออกกลางและจีน อินเดียทางสายไหมทางบกเป็นจุดเชื่อมที่สำคัญระหว่างภูมิภาคเมดิเตอเรเนียนทั้งหมดกับเอเซีย โดยเฉพาะอินเดียกับจีนหรือในยุคแรกๆ ตะวันออกกลางแถบเมโสโปเตเมีย ซึ่งในแง่ที่ตั้งที่อยู่ตรงกลาง ๆ บวกกับความอุดมสมบูรณ์สำหรับการเกษตรกรรม ส่งผลต่อการเติบโตเป็นเมืองใหญ่ๆ จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเหมือนเป็นศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล เช่นเดียวกับที่จีนเองก็เชื่อว่าประเทศของตนเป็นเช่นนั้น แม้ปัจจัยพื้นฐานจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ภูมิภาคตะวันออก ตะวันตกต้องการติดต่อกันไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือการเดินทาง การเผยแพร่แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมหรือศาสนาก็ตาม และแม้ว่าผลิตภัณฑ์ เช่น ไหมจะเป็นจุดขายของจีนเริ่มต้น เป็นหัวใจของถนนสายไหม ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทำให้เชื่อได้ว่าเส้นทางสายไหมจากจีนมาทางตะวันตก ซึ่งเริ่มในสมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีอายุประมาณ 400 ปี เริ่มจากช่วง 200 ปีก่อนคริสตกาลนั้น แสนยานุภาพของจีนซึ่งพัฒนาในช่วงนี้มีวิวัฒนาการจากการถูกรุกรานจากชนเผ่าเร่ร่อนจนต้องสยบย่อมตกเป็นเบี้ยล่าง ต้องให้ส่วยหรือบรรณาการเป็นไหมแก่ชนเผ่าเร่ร่อนอยู่ช่วงเวลาหนึ่งจนในที่สุดจีนในยุคราชวงศ์ฮั่นสามารถปราบชนเผ่าเร่ร่อนและคงความเป็นใหญ่ขยายมาทางตะวันตกและเอเซียกลาง นำไปสู่การบรรจบพบกันของการใช้ภาวะแวดล้อมใหม่เพื่อการค้าการเชื่อมต่อกันระหว่างโรม เมดิเตอเรเนียนและจีน อินเดีย ผ่านเอเชียกลาง นี่คือจุดเริ่มต้นประมาณ 500 ปีแรก (200 bce – 300 ce)

3.ในช่วงเวลานี้ความเป็นจริงแต่ไหนแต่ไรมา การค้าทางไกลทางทะเลก็มีมาตลอด Hippalus ได้พบเส้นทางการค้าผ่านทะเลแดงกับชายฝั่งตะวันตกของอินเดียและมีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่าเรือฝั่งทะเลแดงสามารถดูแลการค้าของจักรวรรดิโรมัน ของอียิปต์กับจีน อินเดีย และคาบปสมุทรอาเรเบีย ครึ่งหนึ่งของสินค้าจากจีนจะเป็นเครื่องเทศนำเข้า โดยพ่อค้าจากจักรวรรดิกุษาณะ (Kushan) สินค้าครึ่งหนึ่งจากตะวันออกกลางไปจีนจะเป็นเครื่องสำอาง ช่วงคริสตกาล 200 ปีแรกรัฐโรมันเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 25% ของมูลค่าสินค้า เพราะฉะนั้นการค้าทางไกลโดยทางทะเลเป็นทางเลือกทดแทนกันได้กับทางบกมานานนมแล้วเชื่อกันว่าแม้จักรวรรดิมองโกลจะมีบทบาททำให้เกิดความมั่นคงและเสถียรภาพการเชื่อมโยงทางบกแถบยูเรเซียประมาณกว่า 200 ปีจนถึงปลายศตวรรษที่ 14 การค้าทางทะเลตั้งแต่บริเวณอินโดนีเซีย ทะเลจีนใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ผ่านมหาสมุทรอินเดียมาทางอ่าวเปอร์เซียหรือทะเลแดง ค่อยๆ ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา (อย่างไรก็ตาม การค้าไหมส่วนใหญ่จะทำผ่านกองคาราวานทางบกบนเส้นทางสายไหม) เชื่อกันว่าทางสายไหมคงถึงจุดอิ่มตัวประมาณหลังยุคทองของราชวงศ์ถังโดยเฉพาะหลังคริสตวรรษที่ 9 ในภาพรวมเส้นทางสายไหมในช่วงตั้งแต่ประมาณ 200 ปีก่อนคริสตกาลจะมีช่วงหยุดชะงักงัน มีบทบาทน้อยมาก แม้จะไม่หายตายจากในช่วงศตวรรษที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนและอินเดียทางเหนือมีปัญหา ยุคทองของเส้นทางสายไหมในช่วงพันปีแรกน่าจะอยู่ระหว่างศตวรรษที่ 5 กับศตวรรษที่ 8 ซึ่งเป็นยุคทองของจีนตรงกับราชวงศ์สุยและถัง

4.อย่างไรก็ตามพึงสังเกตว่าจักรวรรดิหรืออาณาจักรชนเผ่าเร่ร่อนมีเปลี่ยนสภาพหรือล่มสลายในแต่ละช่วง เส้นทางสายไหมไม่ได้หายตายจากจากภูมิภาคยูเรเซีย มีช่วงขาลงแต่ก็จะมีการฟื้นตัวเพราะทั้งภูมิภาคมีความเจริญเติบโต การเปลี่ยนแปลงของประชากร ของชุมชนอารยธรรมเกษตรกรรมของชุมชนเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความต้องการของมนุษย์ที่จะติดต่อซึ่งกันและกันเมื่อเข้าศตวรรษที่ 12 แม้ว่าจักรวรรดิมองโกล (ช่วงต้นศตวรรษที่ 13 ถึงปลายศตวรรษที่ 14) จะมีส่วนช่วยให้ผลิตภัณฑ์ไหมของจีนมีความต้องการมากขึ้น เมื่อคำนึกถึงคุณภาพและราคาซึ่งถูกกว่าไหมที่ขายในจักรวรรดิ Byzantine หรือในอิหร่าน และยังทำให้ไหมจีนยังเป็นที่นิยมโดยเฉพาะในยุโรปมากขึ้น

5.ในเอเชียกลางซึ่งเป็นจุดเชื่อมยุทธศาสตร์สำคัญระหว่างตะวันออก ตะวันตก การเดินทางและบทบาทของพ่อค้า Sogdians เป็นพาหะและกลไกสำคัญของการส่งออกนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะประเภทฟุ่มเฟือย แกนกลางของเส้นทางการค้า เช่น จากจีน (Trans Asian Trade Routes) นอกจากไหมพ่อค้า Sogdians ค้าทาส โลหะ หินแร่มีค่า ขนสัตว์จากทางเหนือของยุโรป เครื่องเงิน อำพัน ผลิตภัณฑ์ประเภททองเหลือง พริกไทย กระดาษ ลูกอม น้ำตาล เครื่องสำอาง โดยเฉพาะจากเปอร์เซีย เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่เพียงแค่การค้าแลกเปลี่ยนสินค้าอย่างเดียวที่สำคัญการอพยพของคน การเดินทางแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดและวัฒนธรรมการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการซึ่งไม่ได้มาจากการค้าเพียงอย่างเดียว หลายอย่างมากจากนักบวชหรือพระ ผลของการเผยแพร่ศาสนาจากศูนย์กลาง 3 ศาสนาที่เป็นแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันตกคือ Judaism อิสลามและศาสนาคริสต์ และศาสนาพุทธจากอินเดียมาที่ตะวันออกกลาง เอเชียผ่านอาฟกานิสถานมายังจีน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เกาหลี ญี่ปุ่น ล้วนมีความสำคัญไม่แพ้การค้า

Ibn Battuta นักวิชาการและนักเดินทางชาวโมร็อกโก ซึ่งเกิดในต้นศตวรรษที่ 14 เป็นชาวโมร็อกโกเดินทางใช้เวลาหลายสิบปีกว่า 40 ประเทศ ระยะทางเจ็ดหมื่นกว่าไมล์ เชื่อว่ามีคนเรือนแสนเดินทางในยุคนั้นเพื่อหางานทำ