เมื่อสงครามการค้ากลายเป็นสงครามค่าเงิน

เมื่อสงครามการค้ากลายเป็นสงครามค่าเงิน

เมื่อตอนต้นปี เดือนมกราคม ผมได้เขียนบทความ “ไม่อยากเห็นสงครามการค้ากลายเป็นสงครามค่าเงิน” ในคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต”นี้

โดยให้ข้อสังเกตุว่า สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ถ้ายืดเยื้อ จะส่งผลกระทบกว้างขวางต่อสหรัฐ จีน และเศรษฐกิจโลก และทั้งสหรัฐและจีนคงใช้การผ่อนคลายนโยบายการเงินการคลังเป็นเครื่องมือแก้ไขปัญหา เพื่อลดทอนผลกระทบที่เกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็คือ การใช้การลดค่าเงินเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเพราะจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวรุนแรงจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและ/หรือวิกฤติเศรษฐกิจโลกได้ นี่คือประเด็นที่ได้เขียนไว้

สถานการณ์สงครามการค้าล่าสุดชี้ว่า สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นอาจกำลังเกิดขึ้น คือการประทุขึ้นของสงครามค่าเงินระหว่างสหรัฐกับจีน กล่าวคือ

หนึ่ง ช่วงปีที่ผ่านมาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจของทั้งสหรัฐ จีน ยุโรป และเอเชีย ขณะนี้กำลังเป็นขาลงจากผลของสงครามการค้า เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังชะลอลงถ้วนหน้าและมีความเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สอง ข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่สามารถหาข้อยุติได้ การเจรจาต่อรองไม่มีความคืบหน้า ล่าสุด สหรัฐได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกรอบในอัตราร้อยละ 10 ครอบคลุมมูลค่าสินค้านำเข้าจากจีนกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนสหรัฐ ซึ่งจีนก็ประกาศตอบโต้โดยจะไม่ให้บริษัทรัฐวิสาหกิจจีนซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ

สาม ค่าเงินหยวนของจีนได้หลุดกรอบอัตราแลกเปลี่ยนสำคัญ ที่ 7 หยวนต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ หมายถึงอ่อนค่าลงกว่าระดับที่เคยมี และสหรัฐก็กล่าวหาจีนทันทีว่า จีนบิดเบือนค่าเงิน (Currency Manipulator) คือมีเจตนาทำให้เงินอ่อนค่าเพื่อหาประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางจีนอธิบายว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นไปตามกลไกตลาดที่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจของจีนที่อ่อนแอลงจากผลกระทบของสงครามการค้า การชี้แจงในลักษณะนี้ทำให้นักลงทุนคาดเดาว่า เงินหยวนจะสามารถอ่อนค่าลงได้อีก

ในประเด็นค่าเงินหยวนต้องเข้าใจว่า โดยปรกติ เมื่อเศรษฐกิจอ่อนแอลงหรือขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ค่าเงินของประเทศมักจะอ่อนลงตาม แต่ในกรณีของจีน ที่ผ่านมาจีนได้พยายามรักษาให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพในระดับอัตราแลกเปลี่ยน 7 หยวนต่อ 1 ดอลาร์สหรัฐ แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอจากผลของสงครามการค้า โดยได้แทรกแซงไม่ให้ค่าเงินหยวนหลุดกรอบระดับ 7 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ การแทรกแซงดังกล่าวเป็นเหมือนการสร้างจุดยึด(Anchor) ให้กับตลาดการเงินโลก ทำให้ตลาดการเงินโลกสามารถรักษาเสถียรภาพได้ แม้เศรษฐกิจโลกจะชะลอและมีปัญหาต่างๆ มากมาย แต่ล่าสุด หลังสหรัฐประกาศขึ้นอัตราภาษีร้อยละสิบ ค่าเงินหยวนก็หลุดจากกรอบ คือ อ่อนค่าลงมากกว่าระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินโลกจนเกิดความห่วงใยว่าสงครามค่าเงินระหว่างจีนกับสหรัฐกำลังจะเริ่มต้นขึ้น

สงครามค่าเงินถ้าเกิดขึ้นจะเป็นผลทั้งจากปฏิกิริยาของตลาดการเงินโลกและผลของนโยบาย กล่าวคือ การอ่อนตัวของค่าเงินหยวนจะทำให้นักลงทุนกังวลในความเข้มแข็งของเศรษฐกิจจีนและโอกาสที่เงินหยวนอาจอ่อนค่าลงมากขึ้นในอนาคต กระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากจีนไปสู่สินทรัพย์ที่ปลอดภัย เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ความต้องการซื้อพันธบัตรหรือสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวมากขึ้น ตลาดหุ้นปรับลดลงอย่างที่กำลังเกิดขึ้น กดดันให้ทางการสหรัฐต้องปรับอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง นี่คือปฏิกิริยาของตลาดการเงินและนโยบายที่จะนำไปสู่การอ่อนค่าของเงินหยวนและเงินดอลลาร์สหรัฐ หรือสงครามค่าเงิน ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจเพื่อแก้ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

การอ่อนค่าของเงินสกุลหลัก 2 สกุลของโลกจะส่งผลกระทบไปทั่วเพราะระบบอัตราแลกเปลี่ยนโลกจะไม่มีจุดยึด ขาดเสถียรภาพ รวมถึงประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ค่าเงินจะอ่อนลงตามไปด้วย ทั้งจากประเด็นความสามารถในการแข่งขันและการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศ ในบางประเทศค่าเงินอาจอ่อนค่าลงมากจนทางการต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อดูแลค่าเงิน ซ้ำเติมให้เศรษฐกิจยิ่งชะลอตัวและอัตราเงินเฟ้อในประเทศปรับสูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงและเศรษฐกิจที่ชะลอก็จะบั่นทอนความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ ปัญหาการผิดชำระหนี้และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะรุนแรงขึ้น กระทบฐานะและเสถียรภาพของระบบการเงิน เป็นความเปราะบางที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ต้องระมัดระวังในการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่จะเกิดขึ้น ถ้าสงครามการค้าแปรสภาพไปเป็นสงครามค่าเงิน เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย(Recession) พร้อมกับอัตราเงินเฟื้อที่จะเร่งตัวขึ้น และที่น่าห่วงก็คือ ถ้าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น หลายประเทศ เช่น สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น จะไม่มีพื้นที่นโยบายพอที่จะแก้ไขปัญหาเพราะปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก บางประเทศติดลบ ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแก้ปัญหาได้ ขณะที่หนี้สาธารณะภาครัฐในประเทศเหล่านี้ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น ก็สูงจนไม่สามารถใช้นโยบายการคลังหรือการก่อหนี้กระตุ้นการใช้จ่ายได้อย่างที่ควร ที่สำคัญเมื่อทั้งจีนและสหรัฐกลายเป็นคู่กรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ เศรษฐกิจโลกก็จะไม่มีผู้นำที่จะหยุดหรือประสานไม่ให้ปัญหาบานปลาย ทำให้เศรษฐกิจโลกอาจถล้ำเข้าสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครสามารถควบคุมได้

ทางออกทางเดียวในเรื่องนี้ก็คือ จีนและสหรัฐต้องตระหนักถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นและต้องหาข้อตกลงให้ได้ที่จะยุติไม่ให้สงครามค่าเงินเกิดขึ้น แต่ถ้าตกลงกันไม่ได้ สงครามค่าเงินก็จะเกิดขึ้นโดยการผลักดันของตลาดการเงินและนโยบายอย่างที่กล่าว และจะบานปลายเป็นสงครามเศรษฐกิจแบบเต็มรูปแบบที่ไม่มีใครควบคุมได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกมหาศาล

ความหวังขณะนี้อยู่ที่ผู้นำของทั้งสองประเทศ คือ สหรัฐและจีนที่จะต้องเลือกทำในสิ่งที่ถูก