สงครามค่าเงิน ศึกหนักของประเทศไทย

สงครามค่าเงิน ศึกหนักของประเทศไทย

ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยครั้งนี้ ส่งผลกระทบทั้งลบและบวกต่อหุ้นกลุ่มต่างๆ

เมื่อสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนเริ่มบานปลาย จากที่สงบศึกได้ชั่วคราว ล่าสุดทางการสหรัฐฯเตรียมเก็บภาษีสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีกในเดือน ก.ย.นี้ และทางการจีนเริ่มการตอบโตกลับด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การไม่สั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และที่สำคัญคือการตอบโต้ด้วยค่าเงินหยวนที่ปล่อยให้อ่อนค่าลงทันทีราว 1.5% สู่ระดับ ±7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ กระทบภาคการส่งออกของไทยทันทีเช่นกัน โดยหากปัจจัยต่างๆคงที่เท่ากับว่าสินค้าจากจีนนำเข้ามาไทยจะถูกลงทันที และสินค้าส่งออกจากไทยไปจีน (รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับนักท่องเที่ยวจีน) เพิ่มสูงขึ้นทันทีเช่นกัน 

นักเศรษฐศาสตร์ ฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้มสงครามค่าเงินทั้ง 3 สกุล ว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ/บาท (USD/THB) จะแยกตัวจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ/หยวน (USD/CNY) ซึ่งที่ผ่านมาจากข้อมูลในอดีต USD/THB จะเคลื่อนไหวตาม USD/CNY แต่ในขณะนี้ USD/THB แยกตัวจาก USD/CNY เนื่องจาก พันธบัตรรัฐบาลไทยเป็น Safe haven ที่นักลงทุนต่างชาติ เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวลดลงตาม และแรงซื้อที่เข้ามาในพันธบัตรรัฐบาลไทยดังกล่าวเป็นสิ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนค่าลง

'เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ' ผลกระทบจากสงครามการค้าส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนทั่วโลกเพิ่มความกังวลต่อโอกาสที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ Recession โดยเห็นได้ชัดจาก Yield curve สหรัฐฯปรับเปลี่ยนจาก Flat yield curve (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ใกล้เคียงกับ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น) กลายเป็น Inverted yield curve (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ต่ำกว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น) รวมถึงประเทศไทยเอง Yield curve ในปัจจุบันเป็นรูปแบบ Flat yield curve แล้ว และเมื่อรวมกับผลกระทบจากการลดค่าเงินหยวน ซึ่งส่งผลกระทบวงกว้างไปทั่วโลกทันที เพราะโดยปกติสินค้าจากจีนก็มีความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่สูงมากอยู่แล้ว หากพิจารณาประเด็นนี้ ผมไม่แปลกใจที่ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 1.5% และรวมถึงธนาคารกลางหลายๆประเทศที่ทำการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจในประเทศตัวเองเช่นกัน ผลคือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทำได้เพียงป้องกันการแข็งค่าของค่าเงินบาทไปมากกว่านี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่หลายประเทศทำการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน  

ในระยะยาวหากสงครามค่าเงินยังยืดเยื้อและค่าเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่านี้ อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย และรวมไปถึงภาคการท่องเที่ยว ดังนั้นผมจึงมองว่าการลดดอกเบี้ยของไทยที่อาจจะช้าเกินไปในครั้งนี้ จนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามาหลายเดือน แม้ว่าระยะสั้นอาจจะส่งผลบวกต่อเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจ ซึ่งคาดว่าจะเห็นได้จากผลการดำเนินงาน 2Q62 ของหุ้นในกลุ่มส่งออกและท่องเที่ยว และอาจลุกลามไปยังความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศเนื่องจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจชะลอตัวตามภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ดังนั้นนักเศรษฐศาสตร์ ของฝ่ายวิจัยฯ บล. เคจีไอ (ประเทศไทย) ประเมินว่าหากตัวเลข GDP ไทย 2Q62 ยังออกมาอ่อนแอกว่าคาด และสถานการณ์สงครามการค้า-สงครามค่าเงินของประเทศมหาอำนาจยังไม่ยุติ อาจเห็นที่ประชุม กนง. มีมติทำการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งภายในช่วงที่เหลือของปีนี้อีกเช่นกัน

กลับมาที่ตลาดหุ้นไทย การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยครั้งนี้ ส่งผลกระทบทั้งลบและบวกต่อหุ้นกลุ่มต่างๆ สรุปได้ดังนี้ i) หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ ได้แก่ หุ้นกลุ่มที่ต้นทุนทางการเงินลดลงโดยตรง เช่น กลุ่มสถาบันการเงิน Non-Bank,กลุ่มเช่าซื้อ, และกลุ่มที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายจำนวนมากมีโอกาสที่จะทำการ Refinance เช่น กลุ่มโรงไฟฟ้า เป็นต้น สำหรับหุ้นกลุ่มอสังหาฯแม้ว่าจะได้รับ Sentiment เชิงบวกจากการลดดอกเบี้ย แต่ผมประเมินว่าผลบวกอาจไม่เต็มที่นักเนื่องจากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งไทยและต่างประเทศอาจทำให้อุปสงส์บ้านใหม่ยังชะลอตัวอยู่แม้ดอกเบี้ยจะลดลงก็ตาม และ ii) หุ้นกลุ่มที่คาดว่าเสียประโยชน์ ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่นักลงทุนกังวลว่าอาจจะทำให้ NIM (Net interest margin) ลดลง และส่งผลต่อแนวโน้มกำไรของธนาคาร ซึ่งนักวิเคราะห์ของฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าระยะสั้น อาจส่งผลกระทบได้ในเชิง Sentiment โดยหากเรียงตามลำดับธนาคารใหญ่ที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบจากมากสุดไปน้อยสุดได้แก่ KBANK, KTB, SCB, และ BBL 

อย่างไรก็ดี สำหรับภาพระยะยาวฝ่ายวิจัยฯประเมินว่าจะกลับเป็นบวกต่อการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารและจะส่งผลให้ NPL เริ่มชะลอตัวลงได้