บจธ. ชูธง "ตลาดกลางที่ดิน" ดึงเอกชน ร่วมสร้างโอกาสเกษตรกร

  บจธ. ชูธง "ตลาดกลางที่ดิน"  ดึงเอกชน ร่วมสร้างโอกาสเกษตรกร

ภายใต้ภารกิจการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ที่กำลังผลักดันโมเดลการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่น

ที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน เพื่อให้เป็นองค์กรหลักในอนาคตสามารถบริหารจัดการที่ดินเพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน สำหรับให้เกษตรกรผู้ยากไร้และเป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกิน

บจธ. ยังทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานระหว่างผู้ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน กับเจ้าของที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ภายใต้ชื่อ "โครงการตลาดกลางที่ดิน"  ซึ่งใครๆ ไม่ว่าฝ่ายเกษตรกรหรือฝ่ายเจ้าของที่ดิน สามารถเข้ามาลงทะเบียนขอเข้ารับบริการ หรือร่วมโครงการนี้ได้

เกี่ยวกับเรื่องตลาดกลางที่ดิน  บจธ. ได้จัดทำระบบเว็บไซต์ตลาดกลางที่ดินเพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้สนใจรับบริการได้ละเบียนแจ้งความประสงค์ ภายใต้ชื่อเว็บไซต์www. labia.or.th  พร้อมบริการที่ บจธ. จัดเตรียมไว้ให้อย่างพร้อมสรรพ ทั้งบริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย นิติกรรมสัญญา  หน่วยงานทำหน้าที่คัดกรองที่ดินและกลุ่มเกษตรที่มีคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของทั้งสองฝ่าย ติดตามดูแลการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง เพื่อความมั่นใจว่าทุกฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรม ความสะดวก และประโยชน์สูงสุด นอกจากความช่วยเหลือทางการเงินจากสินเชื่อประเภทต่างๆ อาทิ สินเชื่อเพื่อการเช่า การเช่าซื้อ การเช่าช่วงที่ดิน และทุนเพื่อการประกอบการเกษตร

การจัดทำตลาดกลางที่ขึ้นดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจาก ปัจจุบันที่ดินที่ว่างเปล่าและเจ้าของที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก รวมกันทั่วประเทศ มีประมาณ 1.3 ล้านไร่ ดังนั้นเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินว่างเปล่า หรือที่ดินที่ยังใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่ และต้องการหาที่ดินที่เหมาะสมทำการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม  บจธ. จึงเปิดช่องทางตลาดกลางที่ดินดังกล่าวขึ้น และขอเชิญชวนเจ้าของที่ดินที่ยังมีที่ดินว่างเปล่าและไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกเป็นจำนวนมากเหล่านี้ ได้มาเข้าร่วมโครงการแมชชิ่งหรือจับคู่ร่วมกับผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดิน โดยเฉพาะการกระจายที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำมาหากิน  หรือผู้ที่ต้องการใช้ที่ดินเพื่อการทำมาหากินประกอบอาชีพในด้านเกษตรกรรม 

"ปีงบประมาณ 2563 บจธ. ให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นกับการดำเนินงานในด้านการจับคู่หรือแมชชิ่งระหว่างผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่มีที่ดินว่างเปล่าแต่ไม่ได้นำมาใช้ทำประโยชน์ใดๆ กับผู้ที่ต้องการใช้ที่ดินทำเกษตรกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในที่ดินอย่างเต็มที่มากขึ้น อันเป็นประโชน์ต่อการเปิดโอกาสเกิดการสร้างงานสร้างอาชีพด้านเกษตรกรรมบนผืนที่ดินที่วางเปล่านั้นอย่างคุ้มค่า ในรูปแบบของ "ตลาดกลางที่ดิน" ซึ่ง บจธ. ได้เปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้"

สำหรับการดำเนินการตลาดกลางที่ดินของ บจธ. ที่ผ่านมา พบว่า ยังทำการจับคู่หรือแมชชิ่งได้ไม่มากนัก เนื่องจาก เจ้าของที่ดินยังขาดความสนใจเข้ามาแมชชิ้ง ในขณะที่มีผู้ที่แจ้งความประสงค์ต้องการใช้ประโยชน์ในที่ดินติดต่อเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้มีผู้ประสงค์ใช้ประโยชน์ในที่ดินแจงมาแล้วกว่า 20 ราย ส่วนการดำเนินการที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา โดย บจธ. ได้ทำการจับคู่แมชชิ่ง ผ่านระบบตลาดกลางที่ดิน ของ บจธ. มีจำนวน 2 คู่ ได้แก่ ที่ดินที่ อ.ปักธงชัย จ. นครราชสีมา และที่ดินที่ อ. มัญจาคีรี จ. ขอนแก่น

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการตลาดกลางที่ดิน คาดว่าจะเป็นอีกรูปแบบการบริหารจัดการหนึ่งที่ส่งผลให้การบริหารจัดการที่ดินของ บจธ. เกิดความสำเร็จได้บรรลุตามวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กร ซึ่งเป็นการผลักดันที่เป็นไปตามภาระกิจของ บจธ. ที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ. สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน มีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์กรอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในลักษณะทำนองเดียวกับธนาคารที่ดิน และดำเนินการผลักดันโครงการกระจายการถือครองที่ดินในรูปแบบที่เหมาะสมให้แก่เกษตรกรและผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเอง ซึ่งที่ผ่านมา  บจธ. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในหลากหลายรูปแบบและหลายพื้นที่ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

โดยภายในหน้าที่นับจากนี้ บจธ. อีกภาระกิจหนึ่งคือ จะต้องจัดทำข้อเสนอในการจัดตั้งธนาคารที่ดิน เสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 7 มิถุนายน 2563  และดำเนินการให้ได้โมเดลหรือรูปแบบการกระจายการถือครองที่ดินที่เหมาะสม สำหรับนำไปใช้กับธนาคารที่ดินในอนาคต ซึ่งปัจจุบัน บจธ. อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการใน 4 รูปแบบคือ 1.โครงการนำร่องธนาคารที่ดินในพื้นที่นำร่อง 5 ชุมชน ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดคือ เชียงใหม่และลำพูน 2.โครงการต้นแบบบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร 3.โครงการแก้ปัญหาสูญเสียสิทธิ์ในที่ดินของเกษตรและผู้ยากจน และ 4.โครงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้านที่ดินจากการดำเนินนโยบายของรัฐ

ในส่วนของโครงการบริหารจัดการที่ดินแบบครบวงจร มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโครงการบริหารจัดการที่ดินที่สนับสนุนให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ที่ดินอย่างเหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเริ่มต้นจากสร้างจุดแข็งการรวมตัวของเกษตรกรกันเอง ที่ต้องให้มีการรวมกลุ่มในรูปแบบของสถาบันการเกษตร เช่น สหกรณ์ หรือ วิสาหกิจชุมชน ซึ่งมีรายชื่อและจำนวนสมาชิกที่ชัดเจน และกำหนดเป้าหมายหลักของการจัดทำโครงการเกษตรกรรมเพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน กล่าวคือ จะต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการจะใช้ประโยชน์และจัดสรรที่ดินให้กับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งทาง บจธ. จะมีหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยในเบื้องต้น บจธ. จะเป็นผู้ลงสำรวจพื้นที่ตรวจสอบความเหมาะสมในการใช้ที่ดินสำหรับเป็นที่ทำกิน ดูความสมบูรณ์ของดินและน้ำ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมในการผลิตต่างๆ ความตั้งใจทำ

เกษตรกรรมของเกษตรกร ผลผลิตที่จะผลิตออกมาแล้วต้องมีความเป็นไปได้ทางการตลาดหรือมีตลาดที่ชัดเจน ซึ่งหากพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลความเป็นไปได้โครงการ แล้วผ่านพิจารณาอย่างครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ บจธ. จะนำเข้าสู่กระบวนการต่างๆ เพื่อจัดซื้อที่ดิน โดย บจธ. เป็นผู้ซื้อที่ดินนั้นมาแล้วนำมากระจายการถือครองให้เกษตรกรในรูปแบบการเช่าซื้อต่อไป

สำหรับเกษตรกรและผู้ยากจนที่ต้องการรับการช่วยเหลือเงินสินเชื่อดังกล่าว สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.labai.or.th หรือส่งอีเมลล์ที่ [email protected] หรือโทรติดต่อได้ที่ โทร 0 2278-1244, 02278-1648 ต่อ 601,602,610มือถือ 09 2659 1689

โดย...

กุลพัชร ภูมิใจอวด

รองผู้อำนวยการ

ปฏิบัติหน้าที่แทน ผู้อำนวยการ สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ.