เรียน “Coding” เพื่อใช้ชีวิตในอนาคต 

เรียน “Coding” เพื่อใช้ชีวิตในอนาคต 

ผู้ที่จะมาประกอบอาชีพต่างๆ ในอนาคตอาจต้องมีทักษะการเขียนโปรแกรมขั้นต้นอย่างง่าย

ข่าวหนึ่งที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ เรื่องที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช ให้ความสำคัญการเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ โค้ดดิ้งโดยกำหนดไว้ในนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา

ผมมองว่า การศึกษาเขียนโปรแกรม (Coding) ภาษาคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่จำเป็นยุคปัจจุบันสำหรับคนทุกคน การเรียนโค้ดดิ้ง แท้จริงแล้วเน้นพัฒนาความคิดให้เป็นระบบ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล รู้ลำดับขั้นตอน ไม่ใช่หมายความว่าจะต้องเรียนไปเพื่อเป็นโปรแกรมเมอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โค้ดดิ้งจึงมีความจำเป็นที่คนทุกคนต้องเข้าใจการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงานในอนาคตแม้จะไม่ใช่คนในสายวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศก็ตาม

ทุกวันนี้อุปกรณ์ภายในบ้านผม หลายชิ้นต่อเป็น สมาร์ทโฮม จำเป็นต้องสั่งงานโดยการเขียนโปรแกรมง่ายๆ บางอย่าง เช่น เขียนคำสั่งให้หลอดไฟเปิดเมื่อมีการเปิดประตูบ้าน เขียนคำสั่งเปิดเครื่องกรองอากาศอัตโนมัติเมื่อค่าพีเอ็ม 2.5 มากกว่าระดับหนึ่งและปิดเมื่อค่าพีเอ็ม 2.5น้อยกว่าระดับหนึ่ง เป็นต้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นการเขียนโปรแกรม เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตเมื่อรถยนต์ไร้คนขับ หรือเครื่องมืออัจฉริยะบางอย่างมีมากขึ้น ผู้ใช้อาจต้องเขียนโปรแกรมจัดลำดับขั้นตอนง่ายๆ ในการใช้อุปกรณ์

นอกจากนี้ ในอนาคตคนต้องทำงานร่วมกันกับระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (Artificial Intelligence) ซึ่งอาจเป็นหุ่นยนต์ หรือระบบอัจฉริยะที่ต้องมีการเขียนโปรแกรม สอนลำดับขั้นตอนการทำงาน เพื่อให้เข้าใจระบบการทำงานเหล่านั้น ผู้ที่จะมาประกอบอาชีพต่างๆ ในอนาคตอาจต้องมีทักษะในการเขียนโปรแกรมขั้นต้นอย่างง่ายๆ เช่นกัน สมัยก่อนคนที่จะเรียนเขียนโปรแกรมคือนักวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานเฉพาะด้าน 

ผมเองเริ่มเรียนเขียนโปรแกรมครั้งแรกในมหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ขณะนั้นเรียนโดยไม่เคยได้สัมผัสเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่เป็นการเขียนโปรแกรมใส่กระดาษแล้วให้เจ้าหน้าที่ไปเจาะบัตร วันรุ่งขึ้นมาตรวจบัตรที่เจาะ หากบัตรใบไหนผิดก็แก้ไขใหม่ อีกวันก็มาดูผลการรันโปรแกรม หากผิดตรรกะก็เขียนใหม่ ในตอนนั้นโปรแกรมง่ายๆ ใช้เวลาเขียนเป็นสัปดาห์ ซึ่งวิชานี้ให้ผมมีรากฐานนำมาสู่การทำงานในทุกวันนี้ และจากนั้นมาผมไม่เคยเรียนโค้ดดิ้ง ภาษาคอมพิวเตอร์อื่นในห้องเรียนอีกเลย แต่ได้ตรรกะและหลักการเขียนโปรแกรมจากที่เขียนในกระดาษ

มาถึงยุคปัจจุบัน ผมสอนลูกทั้งสองคนให้เขียนโปรแกรม แต่ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกัน คนหนึ่งสอนให้เขียนโปรแกรมเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ระดับมัธยมต้น เพราะคิดว่าน่าจะถนัดเป็นโปรแกรมเมอร์ โดยฝึกให้เขียนโปรแกรมบนมือถือตั้งแต่นั้นมากระทั่งทุกวันนี้เขาได้ใช้ความรู้ไปประกอบอาชีพในการทำงาน

แต่สำหรับลูกคนที่สองผมเริ่มมีความคิดเปลี่ยนไป เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเริ่มสอนให้เขียนโปรแกรมด้วยการเริ่มต้นจากต่อหุ่นยนต์และเขียนโปรแกรมง่ายๆ ตั้งแต่อายุเพียง 6 ขวบ โดยไม่ได้คิดว่าเขาจะต้องเรียนเขียนโปรแกรมเพื่อไปเป็นโปรแกรมเมอร์ แต่ผมคิดว่าเด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องศึกษาด้านการเขียนโปรแกรม เพื่อใช้ชีวิตอยู่ในโลกของอนาคต ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด เพราะจากนี้ไปเอไอ จะเข้ามาเป็นระบบอัตโนมัติต่างๆ และกลายเป็นเรื่องที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

ผมจึงสนับสนุนนโยบายของ ฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อย่างเต็มที่ เพราะทุกวันนี้หลายชาติ เช่น จีน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ต่างประกาศให้โค้ดดิ้ง เป็นนโยบายสำคัญของชาติ กำหนดให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศเรียนภาษาโค้ดดิ้ง เพื่อจะเตรียมบุคลากรในอนาคตให้เท่าทันกับอุตสาหกรรม 4.0

โดยผมมีแนวคิดว่า การสอนโค้ดดิ้งจะเป็นแบบใด จะมีหรือไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ได้ เพียงแต่ต้องสอนให้เด็กเข้าใจ สอนให้เด็กสนุก เพื่อเป็นรากฐานการใช้ชีวิตประจำของเยาวชนทุกคนต่อไปในอนาคต