วัฒนธรรม“กลั่นแกล้ง”บนโลกออนไลน์ ความรับผิดทางกฎหมาย

วัฒนธรรม“กลั่นแกล้ง”บนโลกออนไลน์ ความรับผิดทางกฎหมาย

หากพูดถึงคำว่า “วัฒนธรรม” ทุกท่านอาจจะนึกถึงการกระทำอันเป็นขนบธรรมเนียมแบบแผนอันแสดงถึงความเจริญงอกงามทางสังคม

ดังที่ พ.ร.บ.วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2553 ได้ให้ความหมายว่า คือ “วิถีการดำเนินชีวิต ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม จารีตประเพณีพิธีกรรม และภูมิปัญญา ซึ่งกลุ่มชนและสังคมได้ร่วมสร้างสรรค์สั่งสม ปลูกฝัง สืบทอด เรียนรู้ ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความเจริญงอกงาม ทั้งด้านจิตใจและวัตถุ อย่างสันติสุขและยั่งยืน” วัฒนธรรมจึงเป็นมรดกแห่งสังคมอันเกิดจากการประพฤติปฏิบัติร่วมกันอย่างต่อเนื่องของสมาชิกในสังคม สืบทอดเป็นมรดกทางสังคมต่อกันมาจากอดีต จนสมาชิกยอมรับและยึดถือเป็นแบบแผนประพฤติปฏิบัติร่วมกัน แต่ประเด็นที่น่าสนใจ คือ หากเป็นการปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างต่อเนื่องแต่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แบบนี้ถือว่าเป็นวัฒนธรรมหรือไม่ และวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาแบบผิด ๆ แบบนี้ อาจมีความรับผิดทางกฎหมายหรือไม่

คุณครูเรียกให้นักเรียนตอบคำถามโดยใช้สรรพนามเรียกว่า “ไออ้วนหลังห้อง” การที่เพื่อนๆ ต่างมีความสุขกับการรุมล้อมเรียกเพื่อนคนหนึ่งว่า “อีดำตับเป็ด” หรือ “ล้อชื่อบรรพบุรุษ” รวมไปถึง “การตัดต่อภาพ” ของบุคคลอื่นแล้วนำไปส่งต่อกันเพื่อให้เกิดความขำขันกันในวงกลุ่มสนทนา คำถามคือ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ในสังคมไทย และเกิดขึ้นบ่อยจนเป็นเรื่องปกติ หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรมได้หรือไม่ ผู้อ่านคงเริ่มสงสัยว่าคำว่า “วัฒนธรรม” มาเกี่ยวข้องอะไรกับ “กฎหมาย 4.0” คำตอบง่าย ๆ ก็คือ หากการกระทำข้างต้น กระทำโดยใช้ “ช่องทางออนไลน์” ผ่าน “สื่อโซเชียล” จะเกิดผลกระทบจะเป็นอย่างไรต่อบุคคลที่เผชิญปัญหา

ดังนั้น ในกรณีเหล่านี้กฎหมายจึงต้องเขามากำหนดกฎเกณฑ์ ซึ่งก็คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2560” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีรูปแบบการกระทำความผิดที่มีความซับซ้อนมากขึ้นตามพัฒนาการทางเทคโนโลยีซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมีภารกิจในการกำหนดมาตรฐานและมาตรการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ” โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดเอาไว้ในมาตรา 14 และ 16

โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรณีปัญหานั้น มาตรา 14 (1) (4) และ (5) ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่ การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้

(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”

มาตรา 16 “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท...”

กฎหมายข้างต้นสามารถที่จะตอบคำถามเรื่องการคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ถูกกระทบสิทธิได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางอาญา อันว่าด้วยเรื่อง “หมิ่นประมาท” ที่เชื่อมโยงไปยังประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326-328 และ การนำข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง บิดเบือน หรือลามกอนาจาร เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงความรับผิดทางละเมิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และ 423 ทั้งนี้จากหลักกฎหมายดูเหมือนจะครอบคลุมการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น “บนโลกไซเบอร์”

อย่างไรก็ตาม หากลองพิจารณาให้ลึกลงไปจะพบว่า ความรับผิดที่ถูกระบุไว้ในกฎหมายดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการคุ้มครองในความเสียหายที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่เกิดขึ้นต่อผู้เสียหายอย่างชัดเจนกล่าวคือ ทั้งองค์ประกอบความรับผิดในทางอาญา และภาระการพิสูจน์ในทางแพ่ง ตั้งอยู่บนหลักการของการมีหลักฐานที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นได้ กฎหมายจึงจะให้การคุ้มครอง เช่นนี้ “การกลั่นแกล้ง” โดยใช้สื่อโซเชียล (Cyber-Bullying) อันส่งผลต่อสภาพจิตใจผู้ถูกกระทำ ผู้กระทำจะมีความรับผิดหรือไม่ หรือการกระทำที่ไม่ถึงขั้นหมิ่นประมาท เพราะขาดการยืนยันข้อเท็จจริง เป็นเพียงแค่การพูด “กลั่นแกล้ง” จะเอาผิดทางแพ่ง หรือทางอาญาได้หรือไม่ คำตอบในทางกฎหมายที่ชัดเจน คือ “ไม่ได้” ด้วยเหตุนี้ สังคมจะต้องใช้วิธีการแบบใดเพื่อที่จะแก้ปัญหา การกลั่นแกล้งดังกล่าวที่เป็นภัยเงียบของสังคมอันส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราการฆ่าตัวตาย รวมไปถึงการใช้ถ้อยคำละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้อื่น

คำตอบจึงวนกลับมาที่คำว่า “วัฒนธรรม” ของสังคม และคนไทยคิดอย่างไรกับ “การกลั่นแกล้ง” ที่ปฏิบัติจนกลายเป็นมรดกที่ตกทอดของสังคม เราควรจะแก้ปัญหาโดยใช้หลักการในทางสังคมวิทยาและอาชญาวิทยาในการเปลี่ยนแปลงวิถีแห่งสังคม หรือ เราพอใจเพียงแค่ “การตรา” กฎหมายใหม่ออกมาบังคับใช้เท่านั้น ทางออกจึงมีเพียง 2 ทาง คือ 1) ใช้กฎหมาย เพื่อแก้ปัญหากฎหมายที่ไม่ครอบคลุม หรือ 2) เปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมของการกลั่นแกล้งในสังคมไทยซึ่งทั้ง 2 เป็นคำตอบที่จะทำให้สังคมเจริญงอกงามไปในวันข้างหน้า เพียงแต่ทุกท่านต้องตัดสินใจเลือกร่วมกันว่า คำตอบใดจะยั่งยืนและเหมาะสมกับสังคมที่พัฒนาแล้วในยุค 4.0 มากกว่ากัน.

โดย... 

ว่องวิช ขวัญพัทลุง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์