การเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน 2020

การเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน 2020

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา ก๊กมินตั๋งได้ประกาศผลการเลือกตั้งรอบแรก ภายในพรรคเพื่อส่งเป็นตัวแทนพรรคเข้าชิงตำแหน่งผู้นำไต้หวัน

ที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2020 ตามปกติแล้ว การคัดเลือกผู้แทนจะใช้วิธีให้ผู้แทนภายในพรรคออกเสียงหรือวิธีที่สมาชิกพรรคทั้งหมดออกเสียง แต่ครั้งนี้ ก๊กมินตั๋งใช้บริษัทสำรวจความเห็น 5 แห่ง แต่ละแห่งเก็บ 3,000 ตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นคะแนนที่เลือกผู้เข้าแข่งขันภายในพรรค 15% และคะแนนที่เลือกผู้เข้าแข่งขันของพรรคร่วมกับผู้มีโอกาสเข้าแข่งขันคะแนนสูงสุดนอกพรรคอีก 2 คน 85% ผลการสำรวจปรากฏว่า หานกั๋วหวี (韩国瑜) 44.8% กัวไถหมิง (郭台铭) 27.7% จูหลี่หลุน (朱立伦) 17.9% และต่ำกว่า 10% อีก 2 คน 

ก่อนหน้า 17 เม.ย.ผู้คนทั่วไต้หวันต่างเห็นว่า การแข่งขันรอบแรกในก๊กมินตั๋งเป็นของตาย ที่หานกั๋วหวีจะนอนมาเพราะว่ายังไม่มี “พี่ใหญ่” ในตอนนั้น ผู้ที่มีคุณสมบัติพอฟัดพอเหวี่ยงก็เห็นจะเป็น จูลี่หลุน ผู้ว่าเมืองซินเป่ย นอกจากนั้นแล้ว ก็เป็นพระอันดับทั้งนั้น ด้วยความสนับสนุนของ “พี่ใหญ่” กัวไถหมิง เจ้าของ Foxconn และเศรษฐีอันดับ 1 ของไต้หวันโผล่เข้ามาร่วมแจมในฐานะ “สมาชิกพรรคกิตติมศักดิ์” ที่ใครๆ ก็สงสัยว่าเป็นสมาชิกพรรคมาแต่เมื่อไหร่ 

ในชั่วขณะหนึ่ง หมินจิ้นตั่ง รวนไปเหมือนกัน แต่ในเวลาอันรวดเร็ว การเผชิญหน้าระหว่างใช่อิงเหวินและไล่ชิงเต๋อ ที่แทบไม่ทักกันเลยแปรเปลี่ยนมาเป็นความร่วมมือร่วมใจพุ่งเป้าใส่ร้ายป้ายสี หานกั๋วหวี ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งที่อันตรายที่สุดจนคะแนนเสียงของใช่อิงเหวิน เกือบจะพลิกกลับ 

แต่ว่า ในเวลาวิกฤต กัวไถหมิง มักจะปากไม่มีหูรูด แสดงออกถึงความเป็น “ประธานผู้บ้าอำนาจ” ทำให้ผู้คนในพรรคไม่น้อยที่ไม่พอใจ ความหวังที่ว่าเขาจะช่วยนำก๊กมินตั๋งและประชาชนไต้หวันให้หลุดพ้นจากวิวาทะ “รวมชาติหรือเอกราช” และ ความโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ในฐานะที่เป็นผู้ประสบความสำเร็จในวงการเศรษฐกิจ ก็ต้องล่มสลายไป ในตอนต้นของการรณรงค์ กัวไถหมิงแม้กระทั่งเคยขอให้หานกั๋วหวีหลีกทางให้ ผู้คนไม่น้อยจึงเริ่มคิดว่าเขาคงไม่ใช่ผู้ที่เหมาะสมจะมาคุมอำนาจสูงสุดในไต้หวัน กัวไถหมิงไม่แม้แต่จะจัดการแถลงข่าวหลังประกาศผล ทั้งที่ผู้เข้าแข่งรายอื่นก็มาร่วมที่พรรค หรือไม่ก็แถลงเป็นเอกเทศอย่างจูหลี่หลุน 

อย่างไรก็ตาม คู่แข่งที่สำคัญที่สุดนอกก๊กมินตั๋งไม่ใช่ใช่อิงเหวิน แต่เป็นเคอเหวินเจ๋อ (柯文哲) ผู้สมัครอิสระที่คะแนนจากบริษัทสำรวจความเห็น 5 แห่งชี้ออกมาดังนี้

หาน กั๋วอวี๋ 47.7%      เคอเหวินเจ๋อ 18%         ใช่อิงเหวิน 15.8%

กัวไถหมิง 29.2%       เคอเหวินเจ๋อ 14.6%      ใช่อิงเหวิน 17.7%

จูหลี่หลุน 20.7%       เคอเหวินเจ๋อ 18.8%       ใช่อิงเหวิน 15.6%

แต่ว่าการสำรวจความเห็นที่ได้มา ไม่ได้มาจากประชาชน โดยทั่วไปแต่มาจากผู้ที่สนับสนุนก๊กมินตั๋งเป็นส่วนใหญ่ ผลที่จะเกิดขึ้นจริงๆ จึงอาจแตกต่างออกไปได้มาก

สำหรับหมินจิ้นตั่งนั้น เป็นแบบฉบับของพรรคริมถนนโดยแท้ ฝักฝ่ายในพรรคฟัดกันนัวในยามปกติ แต่ก็ร่วมใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในเวลาที่จะต่อสู้กับต่างพรรค ส่วนเคอเหวินเจ๋อที่สมัครอิสระไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดก็เหมือนกับการเดินไต่ลวดหวังได้คะแนนเสียงทุกฝ่าย แต่ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้กับกรุงไทเปเท่านั้น เพราะว่าการเลือกตั้งทั่วประเทศมีความจำเป็นต้องใช้ฐานเสียงทั่วประเทศ แต่เขาก็ยังไม่ได้แถลงชัดเจนว่าจะลงชิงตำแหน่งหรือไม่

หาน กั๋วหวี ใช้วิธีสร้างกระแสแบบดารา ซึ่งที่จริงแล้วเป็นเรื่องถนัดของหมินจิ้นตั่ง แต่ถ้าจะต้องเจอกันทั้ง 2 พรรค แนวทางของหาน กั๋วหวีจะยังคงใช้ได้ดีหรือไม่ ก็ยังบอกไม่ได้ 

ทางด้านหมินจิ้นตั่งนั้น ใช่อิงเหวินมีปณิธานแน่วแน่ที่จะช่วงชิงตำแหน่งสมัยที่ 2 แต่คะแนนนิยมต่ำเตี้ย เสียงผลักดันไล่ชิงเต๋อจึงไม่เคยเงียบหายไปเลย การสำรวจคะแนนนิยมในเดือน มี.ค.ปรากฏว่า ใช่อิงเหวิน : ไล่ชิงเต๋อ = 49.9% : 40.8% ทั้ง ๆ ที่คะแนนในเดือน ธ.ค. = 29.2%:58.4% ทั้งนี้ เพราะว่าตำแหน่งหัวหน้าสำนักบริหารที่ไล่ชิงเต๋อทำอยู่เป็นงานที่ถูกด่าได้ง่าย อีกทั้งตัวเขาเองก็ไม่แสดงความประสงค์ในการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ในช่วงหลังใช่อิงเหวินยังได้คะแนนจากการตอบโต้กับการรวมชาติของจีนแผ่นดินใหญ่ การสำรวจในเดือนมิ.ย.ยังคงชนะ 35.7%:24.5% ได้เป็นตัวแทนพรรคอย่างเป็นทางการในการชิงตำแหน่งผู้นำไต้หวันเป็นสมัยที่ 2

ในส่วนของสถานการณ์ทางการเมืองนั้น นโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ใช่อิงเหวินเข้ารับตำแหน่งเป็นต้นมา ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การปฏิรูปเงินกองทุนเลี้ยงชีพ การแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน นโยบายสิทธิมนุษยชน นโยบายประมง นโยบายพลังงาน เป็นต้น คะแนนนิยมของไช่อิงเหวินและหมินจิ้นตั่งจึงตกต่ำลงเรื่อยมา และสะท้อนออกในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ดังแสดงในตารางที่ 1

การเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน 2020

ในขณะนี้ ผู้เข้าชิงตำแหน่งผู้นำไต้หวันที่มีโอกาสสูงคงเหลืออยู่ 3 คนได้แก่ หานกั๋วหวี ใช่อิงเหวิน และ เคอเหวินเจ๋อ แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่ากัวไถหมิงที่พ่ายแพ้การหยั่งเสียงรอบแรกในก๊กมินตั๋ง ที่มีทั้งชื่อชั้นพอสมควรและเงินมหาศาล จะเข้ามาร่วมวงศ์ไพบูลย์หรือไม่และอย่างไร 

อย่างไรก็ตาม การเมืองในไต้หวันขณะนี้อาจกล่าวได้ว่าแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว ๆ หนึ่งคือ ผู้นิยมนักการเมืองชื่อดัง อีกขั้วหนึ่งคือ ผู้นิยมนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชนหรืออาจเรียกได้ว่า นักการเมืองประชานิยม ซึ่งเกิดขึ้นมาก็ด้วยสาเหตุที่ประชาชนส่วนใหญ่อึดอัด/ไม่พอใจกับการเมืองในไต้หวันมานาน นักการเมืองเหล่านี้จึงพยายามแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของประชาชนเพื่อมาช่วงชิงความนิยมจากนักการเมืองชื่อดัง ที่สนใจแต่การเล่นการเมืองของตน เคอเหวินเจ๋อคือนักการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยวิธีนี้ 

ส่วนใช่อิงเหวินนั้น คะแนนนิยมตกต่ำลงมาเรื่อยๆ ก็ด้วยสาเหตุที่เธอไม่อาจตอบสนองต่อสิ่งที่ได้สัญญาไว้ อีกทั้งเธอเองก็ไม่ถนัดในการทำนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน เหตุผลที่เธอชนะการเลือกตั้งในปี 2016 ที่ผ่านมาก็ด้วยก๊กมินตั๋งเองที่สร้างแง่ลบให้แก่ตนเองในการบริหารประเทศ 

ในปัจจุบันนี้ ประชากรรุ่นใหม่ในไต้หวันลดความสนใจต่อแนวคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองอย่างที่ประชากรรุ่นก่อนยึดถือมา เช่น พรรคการเมือง กำเนิดนอก/ในไต้หวัน เป็นต้น พวกเขาแสวงหาแนวคิดจากโซเชียลเน็ตเวิร์ก แลกเปลี่ยน และ กลายเป็นกลุ่มก้อนที่ยึดถือประโยชน์แห่งปัจเจกเป็นหลัก นักการเมืองที่สามารถตอบโจทย์ของประชากรกลุ่มนี้ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการหางานทำจึงเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ 

การสำรวจความคิดเห็นของ TVBS ในเดือนเม.ย. แสดงว่า ถ้าหากหาน กั๋วหวี แข่งขันกับใช่อิงเหวิน และ เคอเหวินเจ๋อ ผลที่ได้น่าจะมีสัดส่วนดังนี้

หาน กั๋วอวี๋ 41%      ใช่อิงเหวิน 19%       เคอเหวินเจ๋อ 29%

ถ้าหากกัวไถหมิงจะเข้ามาแจมจริงๆ คงจะมาแย่งเอาคะแนนจากทั้ง 3 คนข้างต้น แต่น่าจะมาจากคนแรกและคนหลังมากกว่า 

ใช่ อิงเหวิน เล่นและจะเล่นไพ่จีนแผ่นดินใหญ่ด้วยความสนับสนุนจากสหรัฐที่ต้องการเห็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงจีน ส่วนจีนนั้นใช้นโยบายแข็งกร้าวมาตลอด แต่ถ้าจีนฉลาดพอก็ควรจะอยู่เงียบๆ เสียดีกว่า ประชากรที่สนใจเรื่องนี้เป็นพวกฮาร์ดคอร์ของหมินจิ้นตั่งที่มีไม่เกิน 30% หรือเป็นพื้นที่ที่ปรากฏเป็นสีเขียวเข้มในแผนที่แสดงประชากรที่อยู่แต่ละข้างก๊กมินตั๋งหรือหมินจิ้นตั่ง(สีน้ำเงิน/สีเขียวเข้ม) แต่ความรุนแรงลดหลั่นลงมาตามสีที่จางลง 

การเลือกตั้งผู้นำไต้หวัน 2020

บริเวณสีน้ำเงิน/สีเขียวไม่เข้ม จึงเป็นส่วนที่คู่ชิงตำแหน่งจะแย่งชิงคะแนนเสียงกัน