ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งไอเอ็มเอฟคนต่อไป

ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งไอเอ็มเอฟคนต่อไป

กลางเดือนนี้ นางคริสติน ลาการ์ด ได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟ หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

หลังมีความชัดเจนว่าจะได้รับทาบทามจากรัฐบาลกลุ่มประเทศยูโรโซนให้เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) แทนนายมาริโอ ดรากี (Mario Draghi) ที่ใกล้จะหมดวาระ โดยใบลาออกจะมีผลวันที่ 12 ก.ย.นี้ ทำให้ต้องเร่งหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟแทนโดยเร็ว

เทียบกับกรณีขององค์กรหรือบริษัททั่วไปที่ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ หรือซีอีโอ จะถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการขององค์กรหรือบอร์ดของบริษัทที่จะสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถตรงต่อการขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรมารับตำแหน่ง ในกรณีของไอเอ็มเอฟที่เป็นองค์กรระหว่างประเทศ และมี 189 ประเทศทั่วโลกเป็นสมาชิก การแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการได้ยึดประเพณีที่ถือปฏิบัติมาจากข้อตกลงของกลุ่มประเทศผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ สหรัฐและประเทศในยุโรปที่ร่วมก่อตั้งองค์กรเมื่อ 75 ปีก่อน ให้กรรมการผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟเป็นคนจากยุโรป ขณะที่ประธานหรือเบอร์หนึ่งของธนาคารโลกเป็นคนสัญชาติอเมริกัน

แนวปฏิบัติดังกล่าวทำให้ที่ผ่านมาไอเอ็มเอฟไม่สามารถสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถจากประเทศสมาชิกเข้ามารับตำแหน่งตามระบบ Merit หรือระบบการแต่งตั้งตามความรู้ความสามารถ แต่กลายเป็นการแต่งตั้งตามข้อตกลงทางการเมืองของรัฐบาลกลุ่มประเทศในยุโรป ที่จะจัดสรรคนของตนผลัดเวียนกันเข้ามารับตำแหน่ง เป็นจุดอ่อนด้านธรรมาภิบาลที่สำคัญของไอเอ็มเอฟในฐานะองค์กรระหว่างประเทศ ที่กระทบการยอมรับ การทำหน้าที่ และภาวะผู้นำของไอเอ็มเอฟในสายตาประเทศสมาชิก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีหน้าที่หลัก 3 ด้าน คือ 1.สอดส่องดูแลเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและระบบการเงินโลก และให้คำแนะนำประเทศสมาชิกเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ 2.ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อสร้างความสามารถในการทำนโยบายให้กับประเทศสมาชิก 3.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศสมาชิกในกรณีที่เกิดปัญหารุนแรง เช่น วิกฤติเศรษฐกิจ พร้อมกับเงื่อนไขทางนโยบายที่ประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือต้องปฏิบัติตามเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ประเทศสามารถกลับมาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ

คนไทยรู้จักไอเอ็มเอฟจากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียปี 2540 ที่หลายประเทศในเอเชีย เช่น ไทย เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย ต้องขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ พร้อมรับเงื่อนไขการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ไอเอ็มเอฟถูกวิจารณ์มากว่าทำให้เกิดปัญหามาตั้งแต่ต้น จากนโยบายเปิดเสรีด้านเงินทุนที่ไอเอ็มเอฟสนับสนุนและหลายประเทศนำไปปฏิบัติ ที่สำคัญการแนะนำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาหลังเกิดวิกฤติก็ไม่ตรงจุดเพราะเน้นนโยบายรัดเข็มขัดที่ซ้ำเติมเศรษฐกิจให้แย่ลง ทั้งที่ปัญหาของประเทศในเอเชียขณะนั้นเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องจากการไหลออกฉับพลันของเงินทุนต่างประเทศ ข้อผิดพลาดนี้ได้สร้าง “ช่องว่าง” ระหว่างไอเอ็มเอฟกับประเทศในเอเชียหลายประเทศจนถึงปัจจุบัน

ด้านธรรมาภิบาล ประเด็นที่ไอเอ็มเอฟถูกวิจารณ์มาตลอดและประเทศสมาชิกต้องการให้แก้ไข คือ

1.สัดส่วนการถือหุ้นหรือที่เรียกว่า “โควตา” ของประเทศสมาชิกที่ประเทศในยุโรปได้รับการจัดสรรโควตาในจำนวนที่สูงกว่าความสำคัญของประเทศยุโรปในเศรษฐกิจโลก วัดจากตัวเลขจีดีพีและตัวแปรอื่นๆ ซึ่งเป็นผลผลิตจากอดีตเมื่อตอนไอเอ็มเอฟถูกจัดตั้งขึ้น สัดส่วนดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก แม้ปัจจุบันความสำคัญของเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียจะได้เพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม ความไม่สมดุลนี้มีผลอย่างสำคัญต่อการจัดสรรเก้าอี้ในคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟที่ลงมติตัดสินใจด้านนโยบายของไอเอ็มเอฟ และลงคะแนนแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการ

2.การแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการมักจะไม่มีกระบวนการที่เปิดเผย โปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล แต่จะมาจากการเสนอชื่อโดยประเทศสมาชิกและลงคะแนนแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟตามเสียงหรือโควตาที่แต่ละประเทศมี ที่ประเทศใหญ่คือสหรัฐและกลุ่มประเทศในยุโรปจะมีสัดส่วนโควตาหรือคะแนนมากสุดตามโควตาที่ได้ถูกจัดสรรให้ ทำให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐและยุโรปจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการได้

3.จากที่รัฐบาลของประเทศในยุโรปมีอิทธิพลต่อการแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการ มีข้อสังเกตว่าอิทธิพลดังกล่าวอาจทำให้ความเป็นอิสระของกรรมการผู้อำนวยการในการทำหน้าที่ถูกกระทบ ตัวอย่างที่เห็นได้และถูกวิจารณ์มากในเรื่องนี้คือ การตัดสินใจของไอเอ็มเอฟที่จะเข้าช่วยเหลือประเทศในยุโรปช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2552 เช่น กรณีกรีกก็ถูกวิจารณ์ว่าไอเอ็มเอฟเอื้อหรือเอาใจประเทศในกลุ่มยุโรปเกินไป เช่นให้วงเงินกู้มากเกินไปด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรน เทียบกับกรณีการให้กู้ของไอเอ็มเอฟกับประเทศอื่นๆ ทำให้การทำหน้าที่ของไอเอ็มเอฟที่ควรดูแลประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกันถูกวิจารณ์มาก

จุดอ่อนเหล่านี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข กรรมการผู้อำนวยการคนต่อไปก็คงมาจากการเสนอชื่อโดยกลุ่มประเทศในยุโรป และผู้ที่มาใหม่ก็อาจไม่มีความพร้อมสำหรับความท้าทายที่เศรษฐกิจโลกมีขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากสงครามการค้า การทรุดถอยของระบบพหุภาคี และความเสี่ยงที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกอาจกลับมาอีกครั้ง ถ้าเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยจากหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับที่สูงขณะนี้ นอกจากนี้ผู้ที่มาใหม่ก็อาจขาดความเป็นอิสระที่จะขับเคลื่อนพันธกิจของไอเอ็มเอฟในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะการต่อกรกับนโยบายที่ไม่เหมาะสมของประเทศใหญ่ๆ เช่น สหรัฐ ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกให้มีมากขึ้น

ในความเห็นของผม องค์กรระหว่างประเทศอย่างไอเอ็มเอฟควรสรรหาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถมากสุดเท่าที่จะหาได้จากประเทศสมาชิกเข้ามาทำหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการ โดยสรรหาทั้งจากยุโรปและนอกยุโรป ซึ่งทวีปเอเชียของเราก็มีหลายคนที่ถูกพูดถึงว่ามีความสามารถที่จะทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี เช่น อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดีย และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศคนปัจจุบันที่เป็นชาวเกาหลีใต้

บุคคลเหล่านี้ ถ้าได้รับการแต่งตั้งจะสามารถนำพาไอเอ็มเอฟให้บรรลุพันธกิจขององค์กรได้และจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก พร้อมกับลดทอนอิทธิพลของการเมืองระหว่างประเทศในการตัดสินใจนโยบายสำคัญๆ ที่กระทบเศรษฐกิจโลกและประเทศสมาชิก