ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น "ภาคการศึกษา"

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น "ภาคการศึกษา"

มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีความเสี่ยงต่อ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น

สัปดาห์นี้ผมได้ไปบรรยายในงาน KKU Digital Transformation 2019 ให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยมอบนโยบายให้ผู้บริหารถึงการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้รองรับยุคดิจิทัล ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีความเสี่ยงต่อ ดิจิทัล ดิสรัปชั่น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้ความจำเป็นที่นักศึกษาต้องมาเรียนในมหาวิทยาลัยมีน้อยลง

สิ่งที่น่าสนใจ คือ ผมพบว่า บุคลากรของมหาวิทยาลัยตื่นตัวในเรื่องนี้พอสมควร มีคนจำนวนมากเข้าร่วมในงานสัมมนา มหาวิทยาลัยมีการพัฒนาดิจิทัลในหลายด้าน ทั้งเรื่องการเรียนการสอนออนไลน์ การทำระบบ สมาร์ท คลาสรูม การใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้เห็นสถานะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยทั้งเรื่องจำนวนนักศึกษาแต่ละหลักสูตร การใช้จ่ายงบประมาณ รวมถึงสัดส่วนภาระงานของบุคลากร

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำความเข้าใจ คือ ดิจิทัล อินฟอร์เมชั่น เพราะหลายคนมักคิดว่าเป็นเรื่องการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล บ้างคิดว่าต้องพัฒนาระบบดิจิทัลใหม่ๆ นำไอทีเข้ามาใช้ในองค์กร แต่แท้จริงแล้ว ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น จะเน้นความสำคัญของคำว่า “การเปลี่ยนแปลง” มากกว่าคำว่าดิจิทัล

ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยแท้จริง คือ ทำให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่เปลี่ยนไปสู่ความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ ตลอดจนก้าวไปสู่การเปลี่ยน บิซิเนส โมเดลขององค์กร ซึ่งดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น คือ กระบวนการทั้งหมดที่ทำให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นได้ อาจหมายถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ การพัฒนาบุคลากร การปรับโครงสร้างองค์กร และรวมไปถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กร

ในแง่ภาคการศึกษา ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น จึงมีความหมายมากกว่านำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านั้น คือ การแปลงสิ่งที่เป็นอนาล็อกให้อยู่ในรูปของดิจิทัล แต่อาจหมายถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เรียนจากที่ใด จากอุปกรณ์ใด จะเรียนเวลาใดก็ได้ รวมทั้งคนวัยใดก็สามารถเรียนได้ด้วยเช่นกัน โดยเรียนกับใครก็ได้ที่มีคุณสมบัติตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เราจะเห็นได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะไม่ใช่เรื่องของการใช้เครื่องมือดิจิทัล

ผู้สอนเองอาจต้องเปลี่ยนวิธีสอนจากเดิมที่เห็นหน้าผู้เรียนจะเปลี่ยนไปเป็นการสอนออนไลน์ ซึ่งต้องปรับทักษะการใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น เครื่องมือที่มีการทำงานร่วมกัน การสอนแบบโต้ตอบกันทางออนไลน์ ส่วนมหาวิทยาลัยก็ต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนตามความต้องการ และสำเร็จการศึกษาในสถาบันที่ผู้เรียนเลือกได้

ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นจึงเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยที่จะขยายตัว สร้างบริการหรือหลักสูตรในรูปแบบดิจิทัลที่สามารถหาผู้เรียนได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้มากขึ้นและพร้อมที่จะมาปรับทักษะต่างๆ ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ตลอดเวลา

สำหรับมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้นผู้บริหารเข้าใจเรื่อง ดิจิทัล ดิสรัปชั่น เป็นอย่างดี และตระหนักถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลง นอกเหนือจากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังได้เริ่มเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ เช่น เปิดให้ผู้คนทุกวัยได้เรียนและสามารถสะสมวิชาเรียนได้ตลอดชีพ เพื่อใช้รับประกาศนียบัตรในภายหลัง

อย่างไรก็ตามหากจะประสบความสำเร็จด้าน ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นอย่างสมบูรณ์แบบ มหาวิทยาลัยยังต้องทำอีกจำนวนมาก ทั้งด้านการปรับกฎระเบียบ ปรับโครงสร้างองค์กร รวมถึงการปรับวัฒนธรรมขององค์กร

สิ่งที่สำคัญสุดคือ มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและรักษาให้อยู่ในองค์กร มหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องมีผู้สอนที่มากความสามารถเช่นเดิม เพราะเครื่องมืออาจไม่ได้ทำให้คนสอนได้ดีขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือ จิตวิญญาณของความเป็นครูย่อมสำคัญกว่าเทคโนโลยี