เฟด.. กำลังจะเสียงแตก?

เฟด.. กำลังจะเสียงแตก?

มาถึงตรงนี้ อาจจะสามารถข้ามช๊อตไปได้แล้วว่า ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย คำถามน่าจะอยู่ที่ 1.เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50%

2.หากเฟดลดดอกเบี้ยในสัปดาห์หน้า เฟดจะไปเดินทางไปยังไงต่อเมื่ออัตราการว่างงานต่ำกับอัตราเงินเฟ้อไม่ห่างจากเป้าหมายมากนัก ในขณะที่อาวุธอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเหลือราว 2% หลังการลดดอกเบี้ย และ 3.เจย์ พาวเวล ประธานเฟด จะเยียวยาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น นั่นคือ เฟดกำลังมีเสียงแตกออกเป็น 2 ฝั่งที่ผมจะอธิบายต่อไปได้อย่างไร

ก่อนอื่น ผมจะขอเล่าถึงสถานการณ์ของวงในเฟด ณ เวลานี้ว่า มีฝั่งหนึ่ง ที่เป็นฝั่งเฟดหัวก้าวหน้า หรือ liberal ที่เชื่อว่าธรรมชาติหรือสภาพเศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐ ได้เปลี่ยนไปจากในอดีตไปเยอะมากแล้ว หรือ this time is different ซึ่งนำทีมโดย จอห์น วิลเลียมส์ ผู้ว่าการเฟด นิวยอร์ค โดยมีเจย์ พาวเวล และ ริชาร์ด คลาริดา อยู่ในฟากนี้ อีกฝ่ายหนึ่ง เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมมากนัก จนกลไกการวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจต้องยกเครื่องใหญ่เหมือนฝั่งแรกที่กล่าวอ้างไว้ ฝั่งนี้ มี ผู้ว่าการเฟดเกือบทุกสาขา ยกเว้น สาขาชิคาโก ร่วมอยู่

ทั้งนี้ความเชื่อของนายวิลเลียมส์ ได้เป็นเหตุให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ความเชื่อเฟดที่กำลังกลายเป็นบ้านเสียงแตก’ ในครั้งนี้ ซึ่งผมขออธิบายดังนี้ว่า มิติใหม่ด้านเศรษฐกิจมหภาค ที่นายพาวเวลและวิลเลียมส์เชื่อว่าได้เกิดขึ้นแล้ว มีอยู่ด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่

1.เส้นโค้งฟิลลิปส์ได้ตายไปแล้ว หรือกล่าวได้ว่า ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานอีกต่อไป

2.สำหรับการป้องกันสภาวะเศรษฐกิจถดถอย(recession) ต้อง ทำแบบ ‘movefast and break things’เหมือนกลยุทธ์ของเฟซบุ๊ค ผ่านนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแบบ ชิงสุกก่อนห่าม นั่นคือหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงหรือเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้านิดเดียว ก็ชิงลดดอกเบี้ยไว้ก่อนจึงจะเหมาะกว่า

3.อัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจสหรัฐหรือ r-star นั้นมีค่าต่ำมาก ณ ตอนนี้ จึงควรต้องลดดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำไว้ก่อน เพื่อจบเกมเศรษฐกิจถดถอยโดยเร็วที่สุด

4.ผมค่อนข้างจะเชื่อว่า อาจจะเป็นไปได้ที่นายพาวเวลจะไม่เชื่อแนวคิดเส้นโค้งอัตราดอกเบี้ยหัวกลับหรือ inverted yield curve มากนัก จึงไม่กังวลว่าอัตราดอกเบี้ยอัตราดอกเบี้ยอายุ 10 ปีที่ต่ำเหมือนในขณะนี้ โดยปัจจัยทั้งหมด จึงทำให้เฟดต้องลดดอกเบี้ยแบบ insurance cut เหมือนในครั้งนี้

ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง มองกลไกของเศรษฐกิจสหรัฐว่ายังไม่ได้เปลี่ยนรวดเร็วและมากมาย จนพื้นฐานวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคแบบกระแสหลักไม่สามารถใช้งานได้ กลุ่มนี้ มีผู้ว่าการเฟดอย่าง อิริค โรเซ็นเกรน และ เอสเธอร์ จอร์จ เป็นตัวนำ โดยมองว่าการลดดอกเบี้ยควรค่อยเป็นค่อยไปเหมือนเดิม โดยดูอัตราเงินเฟ้อคู่กับอัตราการว่างงานผ่านเส้นโค้งฟิลลิปส์

แน่นอนว่า เฟดในตอนนี้ เสียงของฝั่งพาวเวลยังเยอะกว่าฟากกลุ่มผู้ว่าการเฟด อย่างไรก็ดี การแต่งตั้งสมาชิกใหม่คณะกรรมการเฟดของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อย่าง จูดี้ เชลตัน และ คริสโตเฟอร์ วอลเลอร์ โดยท่านแรกนั้น ทางคอลัมน์ของบลูมเบิร์กให้มุมมองว่าอาจเป็นประธานเฟดท่านใหม่ต่อจากพาวเวล ไม่ว่าจะเป็นด้วยการหมดวาระหรือถูกปลดโดยทรัมป์ก็ตามที ซึ่งแน่นอนว่าทั้งคู่มาเพื่อผลประโยชน์ของทรัมป์โดยตรง รวมถึงทรัมป์ในอนาคตอันใกล้จะแต่งตั้งสมาชิกเฟดเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 2 ท่านใหม่ต่อจากนี้

สิ่งนี้ ก็ยิ่งจะทำให้นายพาวเวลต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินหนักมือขึ้นอีก เมื่อสมาชิกเฟดที่ทรัมป์ตั้งเพิ่มเข้าใหม่ จะรับลูกจากทรัมป์ให้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินต่อจากนี้ โดยเฉพาะในปีหน้าก่อนเข้าโค้งเลือกตั้งใหญ่ รวมถึงในอนาคต อาจทำให้เสียงของคณะกรรมการเฟดแบ่งเป็น 3 ค่าย ได้แก่สองฝ่ายแรกที่กล่าวไว้ข้างต้น และเกิดฝ่ายใหม่ขึ้นจากเหล่าสมาชิกที่ทรัมป์เลือกเข้ามาเอง ซึ่งมีแนวคิดที่ตั้งใจจะทำให้เฟดทำงานตอบสนองรัฐบาลของทรัมป์แบบเต็มตัว

ผมมีความเห็นต่อสถานการณ์ของเฟด ณ จุดนี้ ดังนี้

1.ผมมองว่านายวิลเลียมส์ออกตัวแรงเกินไปนิด สำหรับการมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ยุคใหม่ที่ต้องกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินแบบดักทางไม่ให้สัญญาณเงินเฟ้อที่ต่ำเกินหรือการชะลอของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นออกมาแม้แต่น้อย เนื่องจากผมมองว่า จริงอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ ณ ตอนนี้ จะค่อนข้างต่ำราวร้อยละ 2 ต้นๆ ทำให้การลดดอกเบี้ยทำได้อีกไม่กี่ครั้งก็ถึงร้อยละศูนย์ จึงต้องรีบยิงอาวุธเมื่อเห็นท่าไม่ดี แต่ก็ต้องไม่ลืมเช่นกันว่า การลดดอกเบี้ยแบบนี้ก็จะทำให้อาวุธในมือต้องร่อยหรอไปเร็วด้วยเช่นกัน

2.จากอดีตที่ผ่านมา มีหลายครั้งที่นักวิชาการบางกลุ่มเคยด่วนสรุปว่า เส้นโค้งฟิลิปส์ใช้การไม่ได้อีกแล้ว แต่ท้ายสุดก็ไม่เป็นความจริง ผมมองว่าในครั้งนี้ สิ่งนี้ก็น่าจะกลับมาอีกครั้งในอนาคต

ท้ายสุด มีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่นายพาวเวลอาจจะโดนทรัมป์ปลดออกจากประธานเฟดในปีหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเศรษฐกิจสหรัฐเกิดชะลอตัวขึ้นมาจริงๆ ก่อนเลือกตั้ง ในขณะที่นายพาวเวลลังเลจะกระตุ้นผ่านนโยบายการเงินให้ทันใจทรัมป์

โดยสรุป เฟด ณ นาทีนี้สามารถที่จะมีเซอร์ไพร์สได้ตลอด โดยเฉพาะในปีหน้าครับ

หมายเหตุ :ท่านที่สนใจงานสัมมนา หัวข้อ ‘มุมมอง Macro & การลงทุน ครึ่งหลังปี 2019: ส่องหุ้นไทย/เทศ โดนใจ’ในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคม 2562 สามารถติดตามรายละเอียดได้ทางfacebook.com/MacroView และLINE ID: MacroView