พลิกปัญหาสร้างโอกาส

พลิกปัญหาสร้างโอกาส

คนที่ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอด

ภาวะวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่คงไม่มีใครบอกได้ แม้จะมีเค้าลางให้เห็นมากมาย เช่นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา หรือผลพวงจากนโยบายเบร็กซิตที่ทำให้อังกฤษต้องกลืนไม่เข้าคายไม่ออกมาหลายปีแล้ว

รวมถึงบทวิเคราะห์จากธนาคารและสถาบันการเงินหลายๆ แห่งก็ล้วนระบุว่า เศรษฐกิจโลกมีโอกาสต้องพบกับภาวะถดถอยในอนาคตอันใกล้ เราจึงต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนอีกครั้งเพียงแต่บอกไม่ได้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร

สิ่งเดียวที่บอกได้คือ โลกเราผ่านวิกฤติทางเศรษฐกิจมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เอาแค่ในห้วงระยะเวลาแค่ 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมาเราก็เจอทั้งวิกฤติต้มยำกุ้งในยุค 90 ที่เริ่มจากบ้านเราจนลุกลามไปหลายประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่มีจุดเริ่มต้นในสหรัฐอเมริกาช่วงปี 2008 ก็ส่งผลกระทบไปทั่วโลกเช่นกัน

ไม่ว่าวิกฤติเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นหรือไม่ เราก็ควรมั่นใจว่าความผันผวนที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่เรารับมือได้หากมีการตระเตรียมความพร้อมได้ดีพอ ความผันผวนทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เราเห็นว่าโลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน และคนที่ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุดเท่านั้นที่จะอยู่รอดต่อไปได้

ภาวะวิกฤติไม่ต่างอะไรกับหมีที่หิวโซอยู่กลางป่า เมื่อพบกับผู้คนจึงวิ่งเข้าใส่ทันที ซึ่งแน่นอนว่าคนที่มีความพร้อมคือระมัดระวังภัยอยู่แล้วและฟิตซ้อมร่างกายอยู่ตลอดเวลาก็ย่อมออกวิ่งก่อนใครและหนีได้เร็วที่สุด โอกาสอยู่รอดได้จึงแทบจะเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์

คนที่เหลือแม้จะตื่นตระหนกและหนีตายกันอย่างจ้าละหวั่น แต่ถ้าคิดดูให้ดีแล้วพวกเขาเพียงแค่ออกวิ่งให้ทัน แม้จะช้ากว่าคนแรกแต่พยายามวิ่งให้ไม่แย่จนเกินไปคือไม่เป็นคนสุดท้ายก็ล้วนมีโอกาสรอดเหมือนกัน เพราะมีเพียงคนที่วิ่งช้าที่สุดเท่านั้นที่จะไปไม่รอดกลายเป็นอาหารอันโอชะของหมี

การประคับประคองตัวเองในช่วงวิกฤติจำเป็นต้องใช้สติในการวางแผนมากเป็นพิเศษ และเราไม่จำเป็นต้องตื่นกลัวหากไม่ได้เป็นคนที่เก่งที่สุดหรือทำงานอยู่ในบริษัทระดับรอง เพราะการรักษามาตรฐานให้ดีพอและสม่ำเสมอก็อาจเพียงพอที่จะอยู่รอดต่อไปได้แล้ว

การทำงานในภาวะผันผวนเช่นนี้มักจะยากกว่าปกติและต้องพบความไม่แน่นอนมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว เราจึงไม่อาจใช้ “ความไม่แน่นอน” เป็นเหตุผลเมื่อทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายได้อีกต่อไป เพราะความไม่แน่นอนกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับทุกวันนี้ไปเสียแล้ว การทำงานทุกอย่างจึงต้องคำนึงถึงความไม่แน่นอนไว้เสมอ

ปัญหาจากความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งที่เราต้องพบเจอเป็นเรื่องปกติ หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับปัญหาที่ประดังเข้ามาในเวลาเดียวกันก็อาจตื่นตกใจทำให้ตัดสินใจแก้ปัญหาได้ไม่ถูกจุด เพราะการที่จมอยู่กับปัญหาจะทำให้มองทุกอย่างรอบตัวเป็นปัญหาไปเสียหมด และเมื่อยิ่งเจาะลึกเข้าไปเพื่อหวังจะแก้ปัญหาก็จะพบแต่ปัญหาปลีกย่อยมากมายเต็มไปหมดจนดูจะแก้ไขอะไรไม่ได้เลย

เมื่อปัญหาทั้งหมดพัวพันกันจนหาทางออกไม่ได้ การแก้ปัญหาจึงมักเรียกหาคนนอกเข้ามาจัดการ เพราะหวังจะใช้ปัจจัยภายนอกเข้ามาช่วย ซึ่งท้ายที่สุดอาจจะพบว่าต้นตอปัญหานั้นส่วนใหญ่มาจากปัจจัยภายในมากกว่า ไม่ใช่ปัจจัยภายนอก เช่นลูกค้า ซัพพลายเออร์ หรือคู่แข่ง

การแก้ปัญหาจึงอาศัยการมองในมุมลึกเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยภาพกว้างเพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมทั้งหมดก่อนลงมือตัดสินใจแก้ปัญหาใดๆ บางครั้งการรับมือกับปัญหาจึงไม่ใช่การกระโดดเข้าใส่ทันที แต่ต้องถอยมาสักก้าวหนึ่งเพื่อมองภาพรวมทั้งหมดให้ชัดเจนขึ้น

การถอยหลังมาสักก้าวยังช่วยให้เรามีโอกาสได้สงบสติอารมณ์ได้ดีขึ้น หากพบว่าในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้นเราสับสน โกรธ และโมโหทุกสิ่งทุกอย่างรอบข้าง การหยุดคิดจะทำให้เรามองเห็นแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือกับปัญหานั้น

แม้ภาวะวิกฤติจะก่อให้เกิดปัญหาจำนวนมากตามมา แต่หากเรามีความพร้อมเพียงพอ และค่อยๆ คิด ค่อยๆ แก้ปัญหาไปทีละเปลาะโอกาสที่เราจะเปลี่ยนวิกฤตินั้นให้เป็นโอกาสก็ยังมีอยู่เสมอ