จับตา“ดับฝัน” นโยบาย“กัญชาเสรี”

จับตา“ดับฝัน” นโยบาย“กัญชาเสรี”

“กัญชาเสรี” ถือนโยบาย ทีเด็ดทีขาด ของภูมิใจไทย ที่ถือว่า “จุดติด” ในการเลือกตั้งครั้งนี้

เรียกว่า สร้างกระแสได้ในหลายพื้นที่ จนโกยคะแนนในสนามเลือกตั้งจากนโยบายนี้ได้เป็นกอบเป็นกำ

ทว่า นโยบายกัญชาเสรี แม้จะให้น้ำหนักว่า ใช้ใน “ทางการแพทย์” เท่านั้น แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า อาจเป็น “ดาบสองคม” หากถูกใช้เพื่อ “ความบันเทิง”

เมื่อกระแสแรงดีไม่มีตกอย่างนี้ ทำให้กัญชาถูกจับตาว่า กำลังจะกลายเป็น พืชการเมืองตัวใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อนักการเมือง ทั้ง อำนาจและทุนหรือไม่

แน่นอนว่า ที่ภูมิใจไทยขายฝันให้ชาวบ้านในแง่ที่ว่า จะสร้างรายได้ให้ชาวบ้านตั้งแต่รากหญ้า กระทั่งไปสู่ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจระดับชาติ ก็หวังจะเป็นภาพจำ ในแง่ผลงานของพรรค หากทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย

ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รองนายกฯและรมว.สาธารณสุข ประกาศเดินหน้า ทั้งที่นโยบายยังไม่ผ่านการพิจารณาของ“นายกฯ ลุงตู่” หรือผ่านความเห็นของพรรคพวกฝั่งรัฐบาลด้วยกัน

ประกาศิตของ หัวหน้าอนุทิน ไฟเขียวให้ อสม.นำร่องปลูกได้คนละ 6 ต้น 

แต่เหตุใดต้องเป็นกลุ่ม อสม. ก็เพราะ อสม.ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายในการขยายนโยบาย และภูมิใจไทย วางยุทธศาสตร์ไว้เป็นฐานเสียงสำคัญ ขณะที่พลังประชารัฐ โดยเฉพาะ “สุชาติ ตันเจริญ” หัวขบวนกลุ่มบ้านริมน้ำ แนวร่วมกลุ่มสามมิตร ก็เคยประกาศเอาใจ อสม.ขึ้นค่าตอบแทน  

มองมุม(พรรค)ไหน ก็ล้วนอยากซื้อใจ อสม.

ทว่า เส้นทาง นโยบายกัญชาเสรี กับ อนาคตของภูมิใจไทย อาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะมีความเคลื่อนไหวว่ากำลังมีกระบวนการ สกัดนโยบายกัญชาเสรีอย่างเป็นรูปธรรมโดยใช้เวทีวิชาการสะท้อนถึงผลเสียอีกด้าน และเล็งใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อไม่ให้ไปไกลกว่านี้

โดยขีดวงนโยบายไว้แค่ ภายใต้ “หน่วยงานรัฐ” ไม่ปล่อยให้เสรี ไปถึงขั้น อสม. หรือ ชาวบ้านปลูกได้ อย่างที่ภูมิใจไทยขายฝัน

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ก่อนหน้านี้มีเสียงร่ำลือถึง “แหล่งปลูกกัญชาในประเทศเพื่อนบ้าน” ที่นินทากันว่า อาจมีนักการเมืองได้ประโยชน์ แต่ก็ไร้ข้อพิสูจน์

ฉะนั้น จึงต้องจับตานโยบายรัฐบาลใหม่ว่า กัญชาเสรีของภูมิใจไทย จะถูกดับฝัน หรือไปถึงฝัน หากพืชการเมืองตัวนี้ มีผลต่อคะแนนและทุนการเมือง อย่างมีนัยสำคัญ