การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน

การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน

แกตต์ และองค์การการค้าโลก(WTO) ถือว่าการทุ่มตลาดและการอุดหนุน

เป็นการค้าที่ไม่เป็นธรรม ประเทศที่นำเข้าที่ผู้มีผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายในประเทศได้รับผลเสียหายจากการนำเข้าสินค้าทุ่มตลาดหรือที่ได้รับการอุดหนุน สามารถตอบโต้โดยเรียกเก็บอากรขาเข้ากับสินค้าดังกล่าวได้ แต่เมื่อประเทศผู้นำเข้ากำหนดมาตรการตอบโต้โดยเรียกเก็บอากรขาเข้า ก็มีการหลบเลี่ยงด้วยวิธีการต่างฯ เช่นดัดแปลงสินค้าเพียงเล็กน้อย เพื่ออ้างว่าไม่ใช่สินค้าชนิดเดียวกันกับที่ถูกมาตรการ หรือนำชิ้นส่วนเข้าไปประกอบในประเทศนำเข้า หรือในประเทศที่สามแล้วส่งออกไปยังประเทศที่กำหนดมาตรการ หรือส่งผ่านประเทศที่สาม หรือเปลี่ยนให้ผู้ส่งออกรายอื่นส่งออกแทน

ตามข้อ 6 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า 1994 และข้อตกลงว่าด้วยมาตรการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ ของ WTO เพื่อเป็นกรอบให้ประเทศสมาชิกถือปฏิบัติในการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน แต่ยังไม่ได้กำหนดแนวทางการตอบโต้การหลบเลี่ยงแต่อย่างใด มีความคืบหน้าเพียงว่ากำลังมีการพิจารณา แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้

จากการหลบเลี่ยงมาตรการดังกล่าว ประเทศที่ใช้มาตรการตอบโต้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป(EU) สหรัฐ ออสเตรเลีย ต่างก็ใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมานานแล้ว และใช้อย่างแพร่หลาย คือ

1 การตอบโต้การหลีกเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนของ EU

ที่ผ่านมา EU ดำเนินการไต่สวนและตอบโต้การหลีกเลี่ยงอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนมากมายหลายกรณี บางกรณีก็มีการฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมแห่งEU คดีที่น่าศึกษาคือ

  1. 1คดีการนำเข้าไบโอดีเซล จากสหรัฐ

คณะกรรมาธิการEU ได้ไต่สวนการนำเข้าน้ำมันไบโอดีเซลที่นำเข้าจากสหรัฐ เป็นสินค้าที่ได้รับการอุดหนุนและได้ประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนการนำเข้าดังกล่าว ต่อมามีการยื่นคำร้องให้คณะกรรมาธิการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การอุดหนุนน้ำมันไบโอดีเซลดังกล่าว โดย การถ่ายลำ Transshipment ที่แคนนาดาและสิงคโปร์ และส่งน้ำมันไบโอดีเซลผสมเป็น น้ำมันไบโอดีเซล บี 20 คณะกรรมาธิการไต่สวนแล้วประกาศขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนน้ำมันไบโอดีเซล ที่มีถิ่นกำเนิดจากจากสหรัฐที่ส่งมาจากแคนนาดา และสิงคโปร์ไม่ว่าจะสำแดงว่ามีถิ่นกำเนิดในแคนนาดาหรือสิงคโปร์หรือไม่ และขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุนไปถึงน้ำมันไบโอดีเซลผสมที่นำเข้าจากสหรัฐด้วย ต่อมาบริษัท บีพีโปรดัคส์อเมริกาเหนือ ผู้ส่งออกได้ยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมแห่งEU ขอให้ยกเลิกประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การอุดหนุน น้ำมันไบโอดีเซลดังกล่าว

ศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป(The European Court of Justice: ) มีคำพิพากษาคดีที่ 385 -T/11 เมื่อ 16 ม.ค.2557 ยกฟ้อง

  1. 2 คดีการขยายการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดรถจักรยานจากจีน ให้ขยายไปถึงการเข้ารถจักรยาน จากอินโดนีเซีย ศรีลังกา

มีข้อเท็จจริงโดยสรุปคือ EU ได้ประกาศเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจักรยานนำเข้าจากจีน ต่อมาได้ออกประกาศขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดกับจักรยานที่ส่งมาจาก อินโดนีเซีย มาเลเซีย ศรีลังกาและตูนีเซีย กล่าวหาว่าเป็นจักรยานจากจีนที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดโดยส่งไปถ่ายลำยังประเทศดังกล่าว ต่อมาผู้ส่งออกจากอินโดนีเซีย และศรีลังกายื่นฟ้องต่อ The General Court of the European Union ให้เพิกถอนประกาศเรียกเก็บอากรดังกล่าว ศาลมีคำพิพากษาเมื่อ 19 มี.ค.2548 วินิจฉัยว่า ไม่มีหลักฐานพอเพียงที่แสดงว่า เป็นการนำจักรยานจากจีนส่งผ่านถ่ายลำ Transshipment ที่ประเทศดังกล่าว ผู้ผลิตจักรยานในEU และคณะกรรมาธิการ ยื่นอุทธรณ์ต่อ ศาลสูงคือ The European Court of Justice ศาลสูงมีคำวินิจฉัย เมื่อ 26 ม.ค. 2550ว่า การส่งออกจากอินโดนีเซียเป็นการถ่ายลำ Transshipment ที่ผู้ส่งออกอินโดนีเซียมีส่วนเกี่ยวข้อง (เข้าข่ายหลบเลี่ยง) ส่วนการส่งออกจากศรีลังกาไม่เป็นการหลบเลี่ยง

2 การตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ของสหรัฐ

สหรัฐเป็นประเทศที่ใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมานานแล้ว และก็มีการดำเนินการมากหลายกรณี ช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มีการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน หลายกรณี ที่น่าสนใจคือ

2.1 การไต่สวนว่าการนำเข้าเหล็กไร้สนิมจากเวียตนาม เป็นการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนเหล็กไร้สนิมบางชนิดจากจีน เนื่องจากตรวจพบว่า การผลิตเหล็กไร้สนิมของเวียตนาม ใช้เหล็กม้วนรีดร้อนหรือรีดเย็นจากจีนเป็นวัตถุดิบในการผลิต โดยมีหลักฐานชี้ว่าการผลิตเหล็กไร้สนิมของเวียดนามเข้าข่ายเป็นการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน สินค้าเหล็กไร้สนิมจากจีน

2.2 การไต่สวนการนำเข้าข้อต่อท่อเหล็กที่นำเข้าจากมาเลเซียว่า เป็นการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ข้อต่อท่อเหล็กจากจีน เนื่องจากพบว่า การผลิตข้อต่อท่อเหล็กของมาเลเซียใช้ อุปกรณ์ข้อต่อท่อเหล็กสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปจากจีน เป็นวัตถุดิบในการผลิต

สำหรับการนำข้อต่อท่อเหล็กเข้าไปในสหรัฐ ก่อนหน้านี้ในปี 2537 สหรัฐก็ได้ประกาศผลการไต่สวนข้อต่อท่อเหล็กที่ส่งออกจากไทย ใช้ข้อต่อท่อเหล็กสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปที่นำเข้าจากจีนเป็นวัตถุดิบในการผลิตเข้าข่ายเป็นการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนข้อต่อท่อเหล็กจากจีน และประกาศขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนต่อการนำเข้าข้อต่อท่อเหล็กจากไทยด้วย

บทสรุป  จากกรณีการตอบโต้ของEU และสหรัฐ ที่ยกตัวอย่างมาโดยสังเขป จะเห็นได้ว่าประเทศดังกล่าวให้ความสำคัญกับการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในของตนมาก สำหรับประเทศไทย ก็พบปัญหาการหลบเลี่ยงมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถดำเนินการตอบโต้การหลบเลี่ยงได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ ปี 2542 ซึ่งใช้บังคับอยู่เดิม ไม่มีบทบัญญัติที่เปิดช่องให้ดำเนินการได้ 

บัดนี้ได้มีการตรา พ.ร.บ. การตอบโต้ฯ(ฉบับที่2) ปี2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมฉบับเดิม โดยเพิ่มบทบัญญัติในหมวด10/1 การหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 20 พ.ย.2562 เป็นต้นไป ดังนั้น นับวันดังกล่าว ผู้ผลิตสินค้าภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าสินค้าที่หลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้ฯ สามารถยื่นคำขอต่อกรมการค้าต่างประเทศให้ไต่สวนการหลบเลี่ยงได้ และหากพบว่ามีการหลบเลี่ยงก็สามารถขยายการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนกับสินค้าที่นำเข้าโดยหลบเลี่ยงมาตรการได้