การยุติคดีการเลี่ยงภาษีของบริษัทบุหรี่ต่างชาติ

การยุติคดีการเลี่ยงภาษีของบริษัทบุหรี่ต่างชาติ

ในเรื่องการควบคุมยาสูบ ซึ่งเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาล คสช. ก็คือการออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปี 2560 หลังจากที่มีการต่อสู้ยืดเยื้อถึง 5 ปี

 แสดงให้เห็นการให้ความสำคัญกับสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต แต่เมื่อเดือนก่อนทราบว่า มีการทำหนังสือถึงรัฐบาลให้พิจารณายุติคดีบริษัทบุหรี่เลี่ยงภาษีนั้น “ถือเป็นเรื่องน่าห่วงยิ่งสำหรับสังคมไทย”

ทำไมภาษีบุหรี่จึงสำคัญ  ทั้งองค์กรใหญ่ๆ ต่างชี้แนะให้ทั่วโลกกำหนดนโยบายและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนลด ละ เลิกบุหรี่ ธนาคารโลกมีนโยบายชัดเจนไม่สนับสนุนการผลิตจำหน่ายยาสูบตั้งแต่ปี 2534 และในปี 2542 ได้จัดทำรายงานสำคัญที่มีการแปลเป็นภาษาไทย ในชื่อ การพัฒนาทางปฏิบัติ หยุดการแพร่ภัยบุหรี่ สิ่งที่รัฐต้องทำและผลได้ผลเสียทางเศรษฐกิจของการควบคุมยาสูบ เสนอแนะว่าประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมยาสูบมีการใช้มาตรการหลากหลาย และการขึ้นภาษีบุหรี่เป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยลดการบริโภคยาสูบอย่างได้ผล

ปี 2547 องค์การอนามัยโลกจัดทำรายงานชี้ให้เห็นความเกี่ยวเนื่องระหว่างบุหรี่กับความยากจน และสรุปว่าการสูบบุหรี่ ทำให้ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจำนวนมาก วันงดสูบบุหรี่โลกปี 2560 องค์กรแห่งนี้ ยังได้กำหนดคำขวัญ ที่แปลเป็นไทยว่า บุหรี่ ภัยคุกคามต่อการพัฒนา เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า บุหรี่เป็นตัวการสำคัญในการทำลายสุขภาพ ทำลายเศรษฐกิจ

เดือน ก.ย.2560 ธนาคารโลก เสนอรายงานเรื่องการปฏิรูปภาษียาสูบ ชี้ให้เห็นว่า มาตรการนโยบายที่สามารถช่วยชีวิตผู้คนนับล้าน ช่วยลดความยากจน และช่วยให้ประเทศมีทรัพยากรในการพัฒนาประเทศก็คือ การขึ้นภาษียาสูบ เพราะจะทำให้ราคาสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคลดลง ภาษียาสูบยังเป็นมาตรการสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ในส่วนของเป้าหมายการลดการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อลงอย่างน้อย 1 ใน 3 ภายในปี 2573 ด้วย

นอกจาก เรายังพบเห็นการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ในด้านการใช้ข้อมูลร่วมกัน ความร่วมมือทางวิชาการและการบังคับใช้กฎหมาย ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย รวมทั้งการส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีการทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลก มูลนิธิ Bill & Melinda Gates มูลนิธิ Bloomberg และหน่วยงานต่าง ๆ ระดับโลกและระดับประเทศ มีความพยายามร่วมกันในการปฏิรูปภาษียาสูบ โดยธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ การวิจัยและจัดการความรู้ มีบทบาทในการจัดประชุมและถกแถลงนโยบายเพื่อกำจัดหายนะจากยาสูบให้สิ้นไป

เกียรติภูมิของไทยในการต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนจากพิษภัยยาสูบ  ในอดีตเมื่อครั้งที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ใช้มาตรการทางการค้าบีบบังคับหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทยให้เปิดตลาดบุหรี่ เราได้รับการยกย่องจากประชาคมโลกและถือเป็นกรณีตัวอย่างในการต่อสู้กับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน ปัจจุบันไทยเป็น 1 ใน 181 ภาคีสมาชิกที่ร่วมลงนามให้สัตยาบันกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) หรือที่รู้จักเรียกกันว่า กฎหมายบุหรี่โลก ซึ่งมีข้อผูกพันในการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

มาตรา 6 ของ FCTC เป็นเรื่องมาตรการด้านราคาและภาษีเพื่อลดอุปสงค์ของยาสูบ ซึ่งการที่บริษัทแจ้งราคานำเข้าต่ำส่งผลให้รัฐจัดเก็บภาษีบุหรี่ได้น้อยกว่า ที่ควรถึง 68,000 ล้านบาท หากมีข้อมูลชัดเจนที่สามารถคำนวณต่อเพิ่มเติม เชื่อว่าความเสียหายเกิดแล้วนับแสนล้านบาท

จากวัตถุประสงค์ด้านภาษีดังกล่าว ที่มุ่งเน้นให้ลดการบริโภคยาสูบ การเลี่ยงภาษีโดยแจ้งราคานำเข้าต่ำ ได้บั่นทอนความเข้มแข็งของมาตรการควบคุม ขัดกับหลักการของ FCTC ที่ต้องการให้ยาสูบมีราคาสูง การบริโภคจึงไม่ลดลงตามเป้าหมาย การยุติคดีเท่ากับยอมรับว่าราคานำเข้าที่แจ้งนั้นถูกต้อง และหมายถึง รัฐยอมให้บริษัทบุหรี่แทรกแซงการควบคุมยาสูบได้

กรณีพิพาทเรื่องบุหรี่ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เป็นมหากาพย์มายาวนานเกิดขึ้น โดยมีเอกชน ยักษ์ใหญ๋ ชักใยอยู่เบื้องหลัง หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ ต้องให้ความสำคัญและร่วมกันคิดแก้ไขเพื่อให้ได้คำตอบที่หลายคนข้องใจว่า ทำไมประเทศไทยจึงถูกองค์การการค้าโลกตัดสินให้แพ้คดี ทั้งที่เป็นผู้เสียหายจากการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่นับหมื่น นับแสนล้านบาท จากบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ 

โดย... 

สุชาดา ตั้งทางธรรม

สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ