อนาคตมหาวิทยาลัย พลิกตัวสู่โลกใบใหม่ผ่านโมเดล 5Fs

อนาคตมหาวิทยาลัย พลิกตัวสู่โลกใบใหม่ผ่านโมเดล 5Fs

โมเดลการศึกษามหาวิทยาลัยที่ใช้กันมานาน กำลังถูกปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในโลกยุคใหม่นี้

แรงขับเคลื่อนหลักที่ส่งผลต่ออนาคตมหาวิทยาลัยไทยมีหลายด้าน โดยเฉพาะเทคโนโลยีดิสรัปชั่น แนวโน้มนักศึกษาที่ลดลง ข้อจำกัดของงบประมาณแผ่นดิน ความคาดหวังจากตลาดแรงงานยุคใหม่ การแข่งขันจากมหาวิทยาลัยระดับโลกผ่านช่องทางออนไลน์และการเข้ามาของมหาวิทยาลัยชั้นนำในอีอีซี (EEC) การแข่งขันกับแพลตฟอร์มการศึกษาที่มีคุณภาพและราคาถูก รวมถึงความคาดหวังของสังคมต่อบทบาทมหาวิทยาลัย แรงขับเคลื่อนดังกล่าวเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อมหาวิทยาลัยไทยซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายและขีดความสามารถในการปรับตัว

อย่างไรก็ตาม พลังการปรับตัวของมหาวิทยาลัยหลายแห่งยังอาจขับเคลื่อนในอัตราที่ช้ากว่าความเร็วของการเปลี่ยนแปลงในยุคใหม่นี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากแรงเฉื่อยหรือแรงต้านเหมือนกับองค์กรโดยทั่วไป ทั้งอาจเนื่องจากการอยู่ภายใต้ระบบราชการของมหาวิทยาลัยรัฐที่กฎระเบียบไม่เอื้อให้ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเหมือนดังบริษัทเอกชน ความใหญ่ขององค์กรซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรและสถานที่ซึ่งไม่เอื้อต่อการเปิดปิดหลักสูตรหรือการเลิกจ้างบุคลากรได้ในทันทีทันใด ความสามารถในการปรับตัวของคณาจารย์หรือพนักงาน หรือแม้แต่อาจเกิดจากการขาดวิสัยทัศน์ร่วม ยุทธศาสตร์การปรับตัว โมเดลการศึกษาใหม่ หรือการลงมือปฏิบัติเพื่อปรับตัวอย่างจริงจัง

สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้มีโอกาสได้ออกแบบและเข้าร่วมใน การจัดทำยุทธศาสตร์อนาคต (Strategic Foresight) ให้กับมหาวิทยาลัยบางแห่ง รวมทั้งรับทราบถึงการจัดเวิร์คช้อปเพื่อออกแบบโมเดลมหาวิทยาลัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ทราบว่าหลายมหาวิทยาลัยไทยได้ตระหนักถึงความท้าทายของอนาคตและพยายามค้นหาโมเดลใหม่กันอย่างจริงจัง

ผู้เขียนคิดว่าเพื่อปรับตัวกับโลกยุคใหม่ โมเดลมหาวิทยาลัยในยุค 4.0 นี้จะต้องตอบโจทย์อนาคตที่สำคัญ 5 ประการ หรือ 5Fs คือ

(1) ตอบโจทย์ทักษะและงานในอนาคตของนักศึกษา รวมถึงการยกระดับทักษะและปรับเปลี่ยนทักษะสำหรับช่วงวัยทำงานเพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Future of Work)

(2) ตอบโจทย์ประสบการณ์การเรียนรู้ของนักศึกษาที่เป็นดิจิทัลเนทีฟซึ่งเติบโตพร้อมกับยุคดิจิทัลผ่านความยืดหยุ่นของหลักสูตรและช่องทางการเรียนรู้ผสมผสานแพลตฟอร์มกายภาพและออนไลน์ (Future of Course)

(3) ตอบโจทย์การสร้างงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมแห่งอนาคต (Future of RDI)

(4) ตอบโจทย์อนาคตความท้าทายของสังคมและชุมชนท้องถิ่น (Future of Society) และ

(5) ตอบโจทย์ด้านโมเดลรายได้และความมั่นคงทางการเงินของมหาวิทยาลัยในระยะยาว นอกเหนือจากการได้รับจากงบประมาณแผ่นดิน (Future of Revenue Model)

มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจึงต้องทบทวนและประเมินจุดแข็งของตนเองอย่างจริงจังเพื่อวางตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน โดยการตอบโจทย์ทั้ง 5Fs อาจมีระดับความเข้มข้นในแต่ละข้อที่แตกต่างกัน

สำหรับโจทย์ข้อที่ 1 คือการตอบโจทย์ทักษะและงานในอนาคต เนื่องจากเทคโนโลยียุคใหม่ที่ก้าวหน้าส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจเกิดขึ้นในอัตราที่รวดเร็วมาก งานใหม่ต้องการองค์ความรู้และทักษะใหม่ได้เข้ามาทดแทนงานเก่าที่กำลังหายไป ส่งผลให้วิชาที่นักศึกษาเรียนในชั้นปี 1 อาจใช้การไม่ได้ในวันที่จบการศึกษา หรือบางวิชาอาจล้าสมัยเร็วกว่านั้น ดังนั้น นอกจากการเรียนรู้หลักคิด ปรัชญา และเทคนิคเฉพาะจากวิชาต่างๆ แล้ว ทักษะที่สำคัญที่มหาวิทยาลัยจะต้องส่งมอบให้นักศึกษาคือทักษะการทำงาน (Employability skill) เช่น การสื่อสาร การแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การทำงานเป็นทีม เนื่องจากเป็นทักษะที่สำคัญต่อการทำงานและสามารถโอนย้ายระหว่างงานได้

นอกจากนี้ วิธีที่ดีที่สุดเพื่อที่จะตามทันการเปลี่ยนแปลงคือการเข้าไปเรียนรู้ในสถานที่ทำงานจริงโดยตรง ซึ่งโมเดลการศึกษาแบบคู่ขนาน หรือ Dual Education System ของเยอรมนีเป็นตัวอย่างที่ดีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปมีประสบการณ์จริงในสถานที่ทำงานควบคู่ไปกับการเรียนรู้ทฤษฎี ซึ่งโมเดลดังกล่าวได้ปรับใช้อย่างจริงจังในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป จีนและอินโดนีเซีย

ตัวอย่างมหาวิทยาลัย Mines ParisTech แห่งฝรั่งเศส ได้กำหนดให้นักศึกษาต้องใช้เวลาฝึกงานอย่างน้อย 560 ชั่วโมงในระยะเวลาเรียน 3 ปี และต้องทำโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานที่ตนทำ จึงทำให้นักศึกษาเข้าถึงปัญหาปัจจุบันและนวัตกรรมที่ทันสมัย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังจัดให้มีที่ปรึกษาเพื่อให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัวสำหรับการเลือกอาชีพ วิธีสมัครงาน จนถึงการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ ซึ่งก่อนจบการศึกษาพบว่า นักศึกษาจะได้รับข้อเสนอรับเข้าทำงานเฉลี่ยถึงคนละ 6 งาน โมเดลการศึกษาแบบคู่ขนานทำให้รับประกันได้ว่านักศึกษาจะมีความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ จึงทำให้ตอบโจทย์งานแห่งอนาคตได้เป็นอย่างดี

 แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแนวคิดของโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของไทยที่ริเริ่มโดยรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเน้นการเรียนรู้จากสถานประกอบการจริงไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาเรียน

ในกรณีมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) มีโมเดลตอบโจทย์งานในอนาคตที่น่าสนใจ โดยมหาวิทยาลัยจะส่งนักศึกษาที่มีทักษะความเป็นผู้ประกอบการที่สุด 200 คนไปอยู่ที่ต่างประเทศ 6 เดือนถึง 1 ปี เพื่อทำงานกับสตาร์ทอัพทั่วโลก และเข้าเรียนวิชาความเป็นผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีในตอนเย็น เมื่อกลับมานักศึกษาจะมาอยู่ในแคมปัสที่มีบรรยากาศที่เหมาะสมกับการสร้างธุรกิจ มหาวิทยาลัยจะส่งเสริมให้นักศึกษาสร้างธุรกิจของตนเองพร้อมแบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อน ซึ่งนับจากปี 2001 เป็นต้นมา นักศึกษาเหล่านี้ได้สร้างบริษัทใหม่ขึ้นมามากกว่า 350 แห่ง อีกทั้งนักศึกษาเหล่านี้ล้วนเป็นที่ต้องการสูงของภาคเอกชนสิงคโปร์

การเตรียมพร้อมให้นักศึกษาตอบโจทย์งานในอนาคตถือเป็นบทบาทที่สำคัญของมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะในโลกใหม่ ในบทความครั้งต่อไปเราจะมาสำรวจโจทย์ที่สำคัญ 5Fs ข้ออื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยจะต้องนำมาคิดเพื่อออกแบบอนาคต

โดย... 

ธราธร รัตนนฤมิตศร

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา  Facebook.com/thailandfuturefoundation