“กับดักความยากจน สมรภูมิรบที่แท้จริงของรัฐบาล”

“กับดักความยากจน สมรภูมิรบที่แท้จริงของรัฐบาล”

2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนคนจนของประเทศไทยลดลงทุกปี ทำให้สัดส่วนจำนวนคนจนต่อจำนวนประชากรก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จาก 65% ของประชากร

เหลือ 8% ของประชากรพอเห็นแนวโน้มแบบนี้หลายคนก็สบายใจว่า อีก 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี จำนวนคนจนคงลดลงเรื่อย ๆ จนหมดจากประเทศไทย แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่รัฐบาลจะนั่งอยู่เฉย ๆ ไม่เข้าไปแก้ปัญหาความยากจน ไม่เช่นนั้นคงไม่กำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ คงไม่มีมีโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และคงไม่มีบัตรคนจน อย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้

เมื่อลงไปดูในระดับจังหวัดก็มีแนวโน้มไม่ต่างกัน แต่การลดลงของจำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนต่อประชากร มีอัตราความเร็วแตกต่างกัน แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ 

กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรสูงติด 10 อันดับแรก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2551 – 2560)  ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี นราธิวาส กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ตาก ชัยนาท นครพนม น่าน และมุกดาหาร กลุ่มนี้ผมเรียกว่า จังหวัดที่ติดกับดักความยากจน เพียง 10 จังหวัดนี้ มีจำนวนคนจนรวมกัน 1.5 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 29% ของคนจนทั้งประเทศ 5.3 ล้านคน จังหวัดเหล่านี้ย่อมมีเหตุแห่งความยากจนต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าไม้ภูเขา มีที่ดินทำการเกษตรน้อย การคมนาคมไม่สะดวกไม่ทั่วถึง ไม่มีเส้นทางรถไฟ เด็กในครัวเรือนไม่ได้เรียนหนังสือในสัดส่วนที่มากกว่าจังหวัดอื่น อัตราการได้รับการตรวจสุขภาพต่ำโดยเปรียบเทียบ เป็นต้น ในขณะที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นจังหวัดไกลปืนเที่ยง อาจจะมีปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เป็นปัจจัยสำคัญ ฉะนั้น โจทย์ของรัฐบาลใหม่ คือ จะต้องทำอย่างไรให้จังหวัดเหล่านี้หลุด

กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรเพิ่มขึ้น โดยเปรียบเทียบสัดส่วนคนจนต่อประชากรระหว่างปี 2551 – 2555 และ 2556 – 2560 พบว่า มีอยู่ 5 จังหวัด มีความยากจนเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ จังหวัดชัยนาท เพิ่มขึ้น 17.3% จังหวัดบึงกาฬ เพิ่มขึ้น 17.2% จังหวัดระนอง เพิ่มขึ้น 6.3% จังหวัดพัทลุง เพิ่มขึ้น 3.4% และจังหวัดพังงา เพิ่มขึ้น 1.4% คงต้องไปค้นข้อมูลว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สัดส่วนคนจนเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม 5 จังหวัดนี้ ยังไม่เข้าขั้นติดกับดักความยากจน เพราะสัดส่วนคนจนต่อประชากรยังไม่สูงมากนัก จึงไม่น่าห่วงเท่าไร  

กลุ่มที่ 3 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ใช้ตัวเลขเปรียบเทียบ 2 ช่วงเหมือนกลุ่มที่ 2 พบว่า หลายจังหวัดมีอัตราการลดลงของสัดส่วนคนจนอย่างรวดเร็ว ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ ลดลง 94.6% 80.3% และ 78.7% ตามลำดับ นี่คือ TOP 3 ของประเทศที่ลดจำนวนคนจนได้เร็วที่สุดในรอบ 10 ปี แต่ผมไม่ค่อยแปลกใจเพราะความเป็นมหานครกำลังขยายตัวไปยัง 3 จังหวัดนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่กลุ่มที่ผมสนใจมาก ๆ และขอเรียกว่า จังหวัดมหัศจรรย์ในการลดจำนวน คนจน มีอยู่หลายจังหวัด เช่น จังหวัดเพชรบูรณ์ ลดลง 77.6% จังหวัดศรีสะเกษ ลดลง 77.2% จังหวัดชัยภูมิ ลดลง 71.9% จังหวัดพิษณุโลก ลดลง 68.2% จังหวัดสระแก้ว ลดลง 58.1% เป็นต้น ซึ่งหากมีเวลาจะลองศึกษาเชิงลึกดูว่า จังหวัดเหล่านี้มีอะไรดีที่สามารถลดจำนวนคนจนได้รวดเร็วขนาดนี้ มี Engine of Growth ในเชิงเศรษฐกิจอะไร หรือมีนโยบายเศรษฐกิจและสังคมอะไรในช่วงนั้น ที่สามารถลดจำนวนคนจนได้อย่างน่าประหลาดใจ เพื่อเอามาเป็น Model ในการลดจำนวนคนจนในจังหวัดที่ติดกับดักความยากจนหรือเสี่ยงที่จะติดกับดักความยากจนในอนาคต

กลุ่มที่ 4 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนต่อประชากรลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป มีประมาณ 10 – 20 จังหวัด

ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคงไม่ใช่เพียงแค่ยกคนพ้นจนในภาพรวม แต่ต้องยกคนพ้นจนในระดับจังหวัดด้วย โดยเฉพาะใน 10 จังหวัดที่ติดกับดักความยากจน และทำนโยบาย Safe zone ไม่ให้จังหวัดอื่นลงมาติดกับดักความยากจน ... นี่คือสมรภูมิรบของรัฐบาลใหม่อย่างแท้จริง

โดย... 

พงศ์นคร โภชากรณ์

ผู้อำนวยการส่วนการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง