“ความฉลาดรู้อารมณ์” สร้างความสุข​

“ความฉลาดรู้อารมณ์” สร้างความสุข​

Literacy ในความหมายตรงๆ หมายถึงการอ่านออกเขียนได้ แต่ปัจจุบันกินความไปถึงเรื่องความรู้ หรือสมรรถนะในด้านใดด้านหนึ่ง

ในภาษาไทยก็ใช้กันบ่อยอย่างไม่ตรงกัน บัดนี้ราชบัณฑิตยสภาได้ตีพิมพ์ “พจนานุกรม ศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ชุดความฉลาดรู้ (literacy)” เมื่อเร็ว ๆ นี้ จนเป็นที่ยุติว่าเราจะแปลเป็นไทยว่า ความฉลาดรู้ เหตุใดจึงเป็น “ความฉลาดรู้” ต้องติดตามครับ

ในภาษาอังกฤษมี business literacy / economic literacy / civil literacy / consumer literacy / digital literacy ฯลฯ ซึ่งพจนานุกรมชุดนี้ครอบคลุมอย่างค่อนข้างกว้างขวาง ผู้เขียนขอยกประเด็นเรื่อง “literacy” แปลว่า “ฉลาดรู้” ก่อน และขอนำเรื่อง emotional literacy มาให้อ่านกัน

หนังสือชื่อ “ความฉลาดรู้” (literacy) โดยศาสตราจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ มาจากปาฐกถาเฉลิมพระเกียรติ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการพัฒนาปัญญาคนไทยสมบูรณ์แบบ” ในปี พ.ศ. 2555 ที่ท่านอาจารย์ได้เป็นองค์ปาฐก ตอนหนึ่งของปาฐกถา “.....ความฉลาดรู้แตกต่างจากฉลาด มีคนฉลาดจำนวนมากที่ได้ใช้ความฉลาดไม่ถูกต้อง ความฉลาดรู้นั้นมีความหมายลึกซึ้งมาก ลึกกว่าความฉลาดธรรมดา พระองค์ (พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทรงอธิบายว่า ความฉลาดรู้เน้นการใช้ประโยชน์ ใช้แล้วต้องไม่เป็นพิษเป็นโทษ ต้องประกอบด้วยหลักสำคัญอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดก็ตามให้รู้จริง ควรจะได้ศึกษาให้ตลอด ศึกษาอย่างตั้งใจครบถ้วน ที่พระองค์ทรงเน้นมาก คือ จะต้องรู้จักคิดพิจารณา อีกประการหนึ่ง ผู้ฉลาดรู้ต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้นด้วยความคิด จิตใจ ที่ตั้งมั่น เป็นปกติ เที่ยงตรง เป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ.....

ศาสตราจารย์สุมน ได้เขียนไว้อย่างละเอียดชัดเจนถึงพระราชกรณียกิจและการทรงมีประสบการณ์ตรงในการรับรู้ความทุกข์ยากและปัญหาของประชาชนและพระราชทานข้อวินิจฉัยในการแก้ปัญหาแก่บรรดาผู้ตามเสด็จฯ อันเป็นแนวคิดในเรื่องความฉลาดรู้ประกอบกับเนื้อหาจากสากลจนเป็นพจนานุกรมชุดที่กล่าวถึงนี้

เรื่องหนึ่งที่ถกเถียงกันมากก็คือ emotional intelligence ซึ่งเป็นที่มาของ emotional literacy ในพจนานุกรมชุดนี้ ควรแปลเป็นไทยว่าอย่างไร บ้างก็ว่า “ความฉลาดทางอารมณ์” บ้างก็ว่า “ความเป็นผู้ใหญ่ทางอารมณ์” หรือ “ความมีวุฒิภาวะทางอารมณ์” ผู้เขียนขอนำนิยามที่พจนานุกรมชุดนี้ให้ไว้อย่างน่าสนใจมาสื่อสารต่อดังนี้

“.....emotional literacy หรือความฉลาดรู้อารมณ์ หมายถึงความสามารถในการบ่งชี้ เข้าใจ และตอบสนองต่ออารมณ์ของตนเองและผู้อื่นอย่างเหมาะสม สามารถจัดการกับอารมณ์ด้านบวกและด้านลบต่าง ๆ ในวิถีทางที่เพิ่มพลังแห่งตน พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองและบุคคลแวดล้อม ความฉลาดรู้อารมณ์ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สร้างความรักความเข้าใจ ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเสริมสร้างความรู้สึกเป็นหมู่คณะ

ความฉลาดรู้อารมณ์ประกอบด้วยสมรรถนะที่สำคัญ 5 ประการ ดังนี้ (1) การรู้จักตนเอง (self-knowledge) เป็นความสามารถที่จะมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง รู้จุดเด่น จุดด้อย และยอมรับข้อจำกัดของตน พัฒนาความเป็นตัวตนของตนจากความสัมพันธ์กับผู้อื่น สามารถสร้างคำพูดที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกและอารมณ์ได้อย่างหลากหลาย รู้จักและบรรยายความรู้สึกของอารณ์ต่าง ๆ ได้ เข้าใจผลกระทบของอารมณ์ต่อตนเองและผู้อื่น การรู้จักตนเองเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยให้บุคคลเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น

(2) การจัดการตนเอง (self-management) เป็นความสามารถที่จะเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ของตนอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ มีความรับผิดชอยต่อการกระทำของตน ซื่อตรง รอบคอบ มีสติ รู้ผิดรู้ชอบ และระมัดระวังในการตัดสินใจ รู้ว่าการกระทำของตนจะส่งผลอย่างไร เลือกตัดสินใจให้สอดคล้องกับค่านิยมของตน คำนึงถึงคุณธรรมจริยธรรม ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตนเองและผู้อื่น

(3) แรงจูงใจ (motivation) เป็นความสามารถที่จะจดจ่อ ประยุกต์ใช้ความคิดและทักษะการจัดการตนเองเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ความคิดและอารมณ์มีอิทธิพลสูงมากต่อแรงจูงใจ ความฉลาดรู้อารมณ์ช่วยให้บุคคลควบคุมและใช้อารมณ์เพื่อสร้างแรงจูใจให้ตนเองตั้งเป้าหมายและมุ่งมั่นในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ

(4) การรู้ซึ้งถึงความรู้สึก (empathy) เป็นความสามารถที่จะบ่งชี้และเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อสถานการณ์ อารมณ์ และแรงจูงใจของผู้อื่น เข้าใจมุมมองและการกระทำของผู้อื่น แสดงออกถึงการยอมรับและเห็นคุณค่าของผู้อื่น มีเมตตา การรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของผู้อื่นช่วยให้บุคคลยอมรับและอดทนต่อความแตกต่างและความหลากหลายของบุคคลและสถานการณ์

(5) ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (interpersonal skills) เป็นความสามารถที่จะสร้าง พัฒนา และดำรงรักษาความสัมพันธ์อันดี และมีคุณค่ากับกลุ่มคนต่าง ๆ ทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลประกอบด้วยความสามารถในการสื่อสารอย่างชัดเจน เปิดเผย ตรงไปตรงมา การฟังผู้อื่นอย่างใส่ใจ การจัดการกับความขัดแย้ง และการทำงานแบบร่วมมือรวมพลัง การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่นช่วยเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองและส่งเสริมความเข้มแข็งทางอารมณ์

พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู จำเป็นต้องร่วมมือกันสอนทักษะทางสังคมและอารมณ์ เพื่อพัฒนาความฉลาดรู้อารมณ์ให้แก่เด็กทุกคนด้วยการสร้างบรรยากาศที่อบอุ่น เป็นมิตร และผ่อนคลาย ให้เด็กได้สำรวจ บอกเล่า และอภิปรายความรู้สึกต่าง ๆ ด้วยประโยคง่าย ๆ เช่น “หนูมีความสุข” “เพื่อนทำให้หนูเสียใจ” แล้วค่อยๆ ให้เด็กบอกเล่าและอภิปรายความรู้สึกและอารมณ์ที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเด็กมีวุฒิภาวะและมีความมั่นใจมากขึ้น ส่งเสริมให้เด็กทำงานร่วมกับผู้อื่น สร้างสถานการณ์ให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์ทางบวกกับเพื่อนและบุคคลอื่น ๆ ให้เด็กได้เห็นแบบอย่างที่ดีของการแสดงอารมณ์และการจัดการกับอารมณ์ รวมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กได้รับรู้ ได้อภิปรายถึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่นในสถานการณ์ต่าง ๆ

ผู้เรียนทุกคนจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาด้านความฉลาดรู้อารมณ์ตั้งแต่เด็กปฐมวัย เพราะเด็กจำเป็นต้องรู้จักอารมณ์ต่าง ๆ ของตนเพื่อจะได้รู้ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไร สังคมปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตทางสังคมและอารมณ์ของบุคคล การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่าความฉลาดรู้อารมณ์มีความสำคัญต่อการสร้างมิตรภาพ การได้รับการสนับสนุนทางสังคม การประสบความสำเร็จในการเรียน การส่งเสริมความสุข ความพึงพอใจและความภาคภูมิใจในตนเอง รวมทั้งช่วยให้บุคคลมีเครื่องมือที่จะรับมือกับอุปสรรคและสิ่งท้าทายต่าง ๆ ในชีวิต.....”

มนุษย์มีความสุขจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นและกับตนเอง ถ้าหากขาด ความฉลาดรู้อารมณ์แล้ว ยากมากที่จะมีความสุขทางใจอย่างแท้จริงในชีวิตได้