วิจัยเชิงพาณิชย์: หากความรู้ผุดพ้นมายาคติ

วิจัยเชิงพาณิชย์: หากความรู้ผุดพ้นมายาคติ

ในช่วงสองเดือนกว่าที่ผ่านมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

ในระบบหน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการและส่งเสริมวิทยาศาสตร์ งานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งกระทรวงใหม่คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งกระทรวงใหม่นี้มีภารกิจหลักอยู่อย่างน้อย 2 เรื่องใหญ่คือ เรื่องการเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 และเรื่องการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมไปพัฒนาประเทศ

หน่วยงานใหม่ด้านวิจัยของกระทรวงใหม่นี้จะมีหน้าที่ในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามกรอบภารกิจหลักในการปฏิรูประบบงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศให้ตอบสนองต่อเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ ใน 3 เป้าหมายด้วยกันคือ เป้าหมายการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน เป้าหมายการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และเป้าหมายในการวิจัยเพื่อสร้างคนและสถาบันความรู้ ที่ผ่านมาได้มีการจัดประชุมเครือข่ายประชาคมวิจัยแล้วหลายครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจในหมู่นักวิจัยด้วยกันเกี่ยวกับความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานและกฎระเบียบข้อบังคับที่จะใช้สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยจำนวนมากที่มีคุณภาพและมุ่งตอบโจทย์หลักของยุทธศาสตร์ชาติต่อจากนี้

ผลพลอยได้สำคัญจากการประชุมประชาคมวิจัยเหล่านี้ก็คือ การมีโอกาสได้รับฟังแง่คิดจากมุมมองที่หลากหลายของนักวิจัยชั้นยอดของประเทศจำนวนมากที่มาช่วยกันสะท้อนปัญหาข้อจำกัดเรื่องการทำงานวิจัย ทั้งวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมของประเทศ และการช่วยให้ข้อเสนอแนะแนวทางการจัดสรรทุนวิจัยที่มีอยู่จำกัดเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม บริการ และการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเอกชนที่เข้าร่วมโครงการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ตัวชี้วัดของหน่วยงานด้านการสนับสนุนทุนวิจัยที่ถูกใช้ในการตัดสินใจเรื่องการให้ทุนวิจัย จึงมักให้น้ำหนักที่มากกว่าแก่โครงการวิจัยที่สามารถระบุชัดเจนเกี่ยวกับเรื่อง (ก) ประเภทผลผลิต ที่คาดว่าจะได้อย่างชัดเจนและจับต้องได้ (output) (ข) ผลการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่มีการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (outcome) และ (ค) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (impact) ของโครงการวิจัยนั้น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาตัดสินเลือกโครงการวิจัยที่จะได้รับการสนับสนุนต่อไป

 ตัวอย่างเรื่องจริงในบ้านเราก็คือว่า บ่อยครั้งที่มีข้อเสนอโครงการวิจัยทางด้านนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสินค้าตัวใหม่ที่มีคุณภาพดีกว่าสินค้าเดิมที่มีอยู่ในตลาดมาก่อนแล้ว แต่โครงการวิจัยเหล่านี้กลับไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาให้ได้รับทุนวิจัยเนื่องจากว่าเหตุผลที่ว่า ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เหล่านี้นั้น ยังมีต้นทุนที่สูงกว่าผลิตภัณฑ์ตัวเดิมที่ขายกันในตลาดอีกหลายเท่าตัว จึงทำให้โครงการวิจัยในลักษณะนี้ถูกตัดสินว่ายังไม่ผ่านการพิจารณา เพราะยังไม่สามารถสร้างนวัตกรรมในแบบที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้

ในประเด็นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่าความเชื่อในลักษณะเช่นนี้เองที่ถือเป็น มายาคติที่คอยปิดกั้นไม่ให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในระดับก้าวกระโดด (leapfrog)” โดยแท้ เพราะในความเป็นจริงแล้ว นักวิจัยที่สามารถคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่จากความรู้ใหม่ที่ล้ำหน้า (state of the art) และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีกว่าสินค้าเดิมก็ตาม แต่นักวิจัยเหล่านี้ก็ยังเปรียบเสมือนไม้ซีกเท่านั้น เมื่อเจอกับผู้ผลิตใหญ่รายเดิมที่ครองตลาดมาก่อนแล้วที่เปรียบเสมือนไม้ซุงท่อนใหญ่กว่า ดังนั้นไม้ซีกย่อมไม่สามารถเอาไปงัดไม้ซุงได้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐจะต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือกับผู้ผลิตความรู้ใหม่เหล่านี้ในระยะแรกก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อให้นักวิจัยเหล่านี้ได้เติบโตแข็งแรงมากขึ้นจนสามารถยืนต่อได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่าต้นทุนในการอุดหนุนของรัฐนั้นยังน้อยกว่าผลประโยชน์ที่คาดว่าสังคมจะได้รับในระยะยาวเมื่อผู้ผลิตนวัตกรรมใหม่ ๆ เหล่านี้เติบโตเข้มแข็งมากขึ้นนั่นเอง

ขอยกตัวอย่างอุปมาอุปไมยที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ในกรณีของบริษัทหัวเว่ย (Huawei) ซึ่งในยุคที่เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อราว 30 กว่าปีก่อนนั้น ก็เริ่มจากบริษัทที่ล้าหลังกว่าบริษัทอื่นๆ มาก หากทว่าในปัจจุบัน ได้กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นผู้นำในการผลิตระบบอุปกรณ์เครือข่ายสื่อสารในระบบ 5G สาเหตุที่บริษัทหัวเว่ยสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันสั้นก็เป็นเพราะการสนับสนุนของภาครัฐนั่นเอง กล่าวคือ ในเริ่มแรกนั้นบริษัทหัวเว่ยได้ประโยชน์จากสนับสนุนของรัฐในการครองตลาดลูกค้าในพื้นที่ชนบททั่วประเทศก่อนที่จะหันไปหาตลาดในต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญในยุโรปบางคนที่ระบุว่ามีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าบริษัทหัวเว่ยน่าจะได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากรัฐบาลจีนโดยผ่านระบบการให้สินเชื่อของ the China Development Bank ในวงเงินที่สูงถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์อีกด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทหัวเว่ยสามารถเติบโตและขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเหนือบริษัทคู่แข่งในต่างประเทศ

ตัวอย่างนี้ชี้ให้เห็นว่าผลผลิตจากงานวิจัยด้านนวัตกรรมใหม่นั้น โดยลำพังตัวของมันเองแล้วก็มักจะยังไม่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ในระยะแรก จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างเหมาะสมหากว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ต่อสังคมในระยะยาว ซึ่งเราจะทราบคำตอบนี้ได้จากการวิจัยในเชิงนโยบายที่ต้องอาศัยความรู้ที่หลากหลายจากทั้งสาขาเศรษฐศาสตร์ สาขากฎหมายและสาขาอื่น ๆ ทางด้านสังคมศาสตร์และมานุษยวิทยาประกอบไปด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพเหล่านั้น ในที่สุดแล้วจะสามารถออกไปแข่งขันได้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง ดังเช่นกรณีของบริษัทหัวเว่ย เป็นต้น

ท้ายที่สุดแล้ว เรื่องการประสานความรู้จากต่างศาสตร์ต่างสาขาที่เหมาะสมลงตัวนี้ ก็ยังจะสามารถทำให้คณะวิจัยนั้นเกิดความรู้ใหม่ที่รอบด้านมากขึ้น จึงสามารถจะนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดให้ได้ข้อเสนอแนะใหม่ที่มีศักยภาพที่จะถูกส่งต่อย้อนกลับ (feedback) ไปเพื่อใช้ปรับปรุงแก้ไขจุดอ่อนของตัวยุทธศาสตร์ชาติเองได้ในที่สุดอีกด้วย