กฎหมายกับการจัดการขยะอวกาศ

กฎหมายกับการจัดการขยะอวกาศ

ในสมัยก่อนที่มนุษย์เริ่มส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศนั้น คำว่า ‘เศษซากอวกาศ’ (Space Debris) มักจำกัดความหมายไว้แต่ เศษหิน, ดาวเคราะห์น้อย, ดาวหาง

คำว่า ‘เศษซากอวกาศ’ (Space Debris) มักจำกัดความหมายไว้แต่ เศษหิน, ดาวเคราะห์น้อย, ดาวหาง ภายในระบบสุริยะ อันเกิดขึ้นมาในช่วงก่อร่างสร้างดวงอาทิตย์ ต่อมานับตั้งแต่มนุษย์ทยอยส่งสิ่งประดิษฐ์ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกตั้งแต่ปี 1957 จนถึงปัจจุบันเพียง 60 ปีเท่านั้น หน่วยบัญชาการทางยุทธศาสตร์ของกองทัพสหรัฐ ฯ (United States Strategic Command) ซึ่งมีหน้าที่ในการสอดส่องและติดตามเฝ้าระวังภัยทางอากาศก็พบว่า มีสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์อยู่ในชั้นอวกาศโลกเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้นมีดาวเทียมรวมอยู่ด้วย เมื่อเวลาผ่านไปดาวเทียม เหล่านี้หมดอายุการใช้งานก็กลายเป็นขยะที่ยังโคจรอยู่รอบโลก ปัจจุบันมีมากกว่า 750,000 ชิ้น อย่างไรก็ดี จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงวัตถุที่มีขนาดใหญ่พอที่จะสามารถตรวจพบได้ นั่นหมายความว่า ยังมีเศษซากอวกาศอีกมากมายในวงโคจรโลกที่ยังไม่ได้ถูกตรวจพบ

ปัจจุบันดาวเทียมแต่ละดวงมีอายุการใช้งานขึ้นอยู่กับประเภท บางประเภทมีอายุการใช้งาน 5-7 ปี บางประเภทมีอายุการใช้งาน 10-15 ปี โดยดาวเทียมที่หมดอายุ หากอยู่ในตำแหน่งวงโคจรต่ำก็อาจสลายตัวไป แต่หากลอยอยู่ในชั้นอวกาศตำแหน่งสูงๆ ก็จะกลายเป็นขยะอวกาศ เป็นเหตุให้มีดาวเทียมที่หมดอายุแล้วในปริมาณมหาศาล อาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งแก่อวกาศ และเกิดความเสี่ยงที่ดาวเทียมที่หมดสภาพแล้วจะตกลงสู่พื้นโลกและเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ได้ นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาการรบกวนคลื่นของสัญญาณดาวเทียม หรือสัญญาณวิทยุซึ่งจะส่งผลต่อการติดต่อสื่อสาร การถ่ายทอดสัญญาณจากดาวเทียมได้ รวมถึงอาจมีโอกาสที่จะชนกับดาวเทียมที่ยังปฏิบัติงานอยู่ ในปัจจุบัน “ขยะอวกาศ” จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญในการประกอบกิจกรรมอวกาศ

ในปัจจุบันหลายหน่วยงานได้มีการวางแผนเพื่อจัดการกับปัญหาขยะอวกาศนี้ อาทิ ประเทศจีน เสนอให้ใช้เลเซอร์ขนาดใหญ่ที่จะทำให้ชิ้นส่วนเหล่านี้มีขนาดเล็กลงเพื่อป้องกันการชนกับดาวเทียมที่ยังใช้งานอยู่ หรือองค์การนาซ่า วางแผนโครงการที่เรียกว่า Space Debris Elimination โดยการยิงก๊าซไปที่ขยะอวกาศเหล่านี้เพื่อให้หลุดจากวงโคจร ขยะอวกาศจะตกกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และเกิดการเผาไหม้ก่อนตกลงสู่พื้นดิน สำหรับยุโรปมีแนวคิดที่จะส่งดาวเทียมที่ติดตาข่ายขนาดยักษ์เพื่อดักขยะอวกาศและนำกลับลงมายังโลก สำหรับญี่ปุ่นมีความคิดที่จะใช้ตาข่ายไฟฟ้าเพื่อดักเศษซากและนำกลับลงมายังโลกเช่นกัน

ประชาคมระหว่างประเทศตื่นตัวกับปัญหาขยะอวกาศเพิ่มมากขึ้น โดยกฎหมายภายในของรัฐหลายประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการดาวเทียมต้องเสนอแผนงานในการลดขยะอวกาศต่อหน่วยงานที่มีอำนาจพิจารณาให้ใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียม ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดไม่ทำตามก็อาจไม่ได้รับการพิจารณาให้ใบอนุญาตในการประกอบกิจการดาวเทียมได้ ทั้งนี้แผนการดังกล่าวต้องสอดคล้องกับ Recommendation ITU-R S.1003-2 – environmental protection of the GSO ของหน่วยงาน International Telecommunication Union (ITU) อีกด้วย

สำหรับ Space Debris Mitigation Guidelines of the Committee on the Peaceful Uses of Outer Space ได้มีการกำหนดสาระสำคัญเกี่ยวกับการลดขยะอวกาศ เช่น การออกแบบชิ้นส่วนวัตถุอวกาศนั้นจะต้องออกแบบให้มีการปล่อยชิ้นส่วนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หรือ หลีกเลี่ยงการออกแบบที่จะก่อให้เกิดการแตกตัวของชิ้นส่วนด้วย เป็นต้น เป็นที่น่าเสียดายที่สาระสำคัญดังกล่าว เป็นเพียงแค่ Guidelines เท่านั้น จึงไม่มีผลผูกพันให้แต่ละประเทศต้องปฏิบัติตามอย่างจริงจังดังเช่นกฎหมายระหว่างประเทศ

ขยะอวกาศเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีกหลายร้อยหลายพันปี หากไม่มีการเก็บกวาดทำความสะอาดครั้งใหญ่ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานก็จะยิ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะขยะอวกาศมักแตกตัวออกเป็นชิ้นส่วนที่เล็กลงเรื่อยๆ ซึ่งตรวจจับมองเห็นได้ยาก สิ่งที่ทำได้ทุกวันนี้คือการเฝ้าระวังทิศทางการโคจรของขยะอวกาศ ไม่ให้ชนเข้ากับดาวเทียมหรือยานต่าง ๆ โดยบางหน่วยงานของสหรัฐฯ มีการจัดบุคลากรทำหน้าที่ดังกล่าว เช่น ตำรวจจราจรอวกาศ ที่ศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ดของนาซา ในรัฐแมริแลนด์

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัญหาเรื่องการเป็นผู้แบกรับค่าใช้จ่ายในการจัดการกับปัญหาขยะอวกาศ ซึ่งในปี 1959 สหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการใช้พื้นที่อวกาศอย่างสันติ (COPUOS) โดยมีชาติสมาชิกทั้งหมด 85 ชาติเข้าร่วมก็ตาม แต่คาดว่าจะเป็นเรื่องยากในการเจรจาหว่านล้อมให้ชาติอื่น ๆ เข้าร่วมรับภาระในส่วนนี้อย่างจริงจัง

สำหรับกฎหมายไทยควรกำหนดให้ผู้ประกอบการจัดทำแผนการเกี่ยวกับการบรรเทาการสะสมของขยะอวกาศ โดยอาจระบุเกี่ยวกับมาตรฐานการออกแบบดาวเทียม การกำหนดขั้นตอนการยิงจรวดที่ต้องอาศัยการแตกตัวน้อยที่สุด รวมทั้งอาจต้องมีการกำหนดให้แบตเตอรี่มีระบบป้องกันการระเบิดในตัวเอง เป็นต้น

จากที่กล่าวมาทั้งหมดหมายความว่า หากมนุษย์ยังไม่มีมาตรการใดๆ มา ‘จำกัด’ หรือ ‘กำจัด’ ขยะเหล่านี้ ในอนาคต อุปสรรคด่านแรกที่เราจะต้องเจอก่อนจะออกผจญภัยในห้วงอวกาศอันไกลโพ้นก็คือ ‘วงแหวนขยะ’ ของโลกเรานั่นเอง.

โดย... 

ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์