ไทยกับการประชุม G20 ส่งผลอะไรกับสิ่งแวดล้อม

ไทยกับการประชุม G20 ส่งผลอะไรกับสิ่งแวดล้อม

ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย. 2562 มีการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ครั้งที่ 14 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยและอยู่ในฐานะประธานอาเซียน เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ด้วย สมัยก่อนในที่ประชุมมักถกถึงเรื่องอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ เงินทุน อัตราดอกเบี้ย แต่ในช่วงหลังเวทีการประชุมสำคัญระดับโลกจะให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยหารือในการประชุม G20 ครั้งนี้ต่อเนื่อง

 โดยญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพราะเห็นว่า 80% ของก๊าซเรือนกระจกถูกปล่อยออกมาจากกลุ่มประเทศ G20 จึงควรมีส่วนในการแก้ไขปัญหานี้ อีกทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจะลดปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและหลักการ 3R (Reduce Reuse Recycle) อีกประเด็นสำคัญที่ญี่ปุ่นให้ความสนใจคือเรื่องพลังงานในฐานะกลุ่มประเทศที่มีการใช้พลังงานคิดเป็น 80% ประเทศ สมาชิก G20 เน้นย้ำความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางด้านพลังงานไปสู่ระบบที่เข้าถึงได้มีความน่าเชื่อถือ ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศสมาชิก G20 ย้ำบทบาทการเป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ไปสู่ระบบที่เข้าถึงได้ น่าเชื่อถือ มีความยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อจัดการกับความท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อมโลก

สำหรับการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ 20% ภายในปี 2573 นั้น ได้มีการจัดทำแผนลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ.2564 – 2573 โดยมี แนวทางและมาตรการในรายละเอียดที่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามที่กำหนดไว้ และยังได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนและการติดตามการประเมินผล เพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจนในการนำแผนที่นำทางฯ ไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่กำหนดไว้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความตระหนักในสังคมทุกภาคส่วนและทุกระดับโดยมุ่งหมายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนักต่อปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตแบบคาร์บอนต่ำหรือการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำ

วิธีการหนึ่งที่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือและกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยการสร้างแรงจูงใจ โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เช่น ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ลดอัตราภาษี ยกเว้นอากรศุลกากรเครื่องจักร วัสดุและอุปกรณ์สำหรับกระบวนการทำงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ หรือมาตราที่ไม่ใช่การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ การให้รางวัล หรือการประกาศเกียรติคุณ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรวมถึงการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจก และสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การจัดเก็บภาษีมลพิษ การเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้สินค้าที่ก่อมลพิษสูง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผลิตภัณฑ์ ระบบมัดจำ คืนเงิน ( Deposit-Refund System) บรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยเน้นหลัก 3Rs (Reduce Reuse และ Recycle) การจัดเก็บค่าธรรมเนียมฝังกลบขยะ (Landfill Tax) เป็นต้น

นอกจากนี้ แผนที่นำทางฯ ยังให้ความสำคัญกับการใช้เกณฑ์มาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการติดฉลาก เพื่อสร้างความตระหนักให้ผู้บริโภคเลือกใช้หรือเลือกบริการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ ยังผลให้ผู้ประกอบการต้องพัฒนาระบบการผลิต ปรับตัวตามกลไกตลาดเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องให้ความร่วมมือและสร้างความตระหนักรู้อย่างจริงจังเพราะภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน

โดย... 

ดร.นายวัฒนา โอภานนท์อมตะ