นักเศรษฐศาสตร์ที่ ‘เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์’

นักเศรษฐศาสตร์ที่ ‘เห็นมนุษย์เป็นมนุษย์’

การว่างงานเป็นสิ่งที่สร้างความเจ็บปวด สร้างความรู้สึกสิ้นหวังและไร้ค่ามากกว่าความรู้สึกที่เป็นลบอื่นๆ อย่างมาก

ในยามที่เทคโนโลยี ‘ป่วนโลก’ อยู่ในปัจจุบันและจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องจนการว่างงานเกิดขึ้นดาษดื่นนั้น ความรู้อย่างถ่องแท้ในเรื่องการว่างงานจะมีส่วนอย่างสำคัญในการช่วยบำบัดความเจ็บปวดโดยนายจ้างและภาครัฐ และสร้างพลังใจขึ้นใหม่ได้อย่างชะงัด อย่างไรก็ดีในการศึกษา เรื่องนี้มีผู้ศึกษาคนสำคัญของโลกคนหนึ่งที่เข้าใจกันว่า อินกับเรื่องความเจ็บปวดนี้มากจนถึงขั้นปลิดชีวิตตนเองอย่างน่าเสียดาย

นักเศรษฐศาสตร์ได้ชื่อว่าเป็นผู้สนใจเรื่องแรงงานมากกว่านักวิชาการในศาสตร์อื่นๆ จนถึงกับมีสาขาที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์แรงงาน( labor economics )มายาวนาน

Alan Krueger ปลิดชีพตนเองในวัย 58 ปี เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ มือดีของโลกเขียนสาระพัดเรื่องโดยใช้เศรษฐศาสตร์เป็นเครื่องมือในการศึกษาและสร้างความรู้ความเข้าใจ สาขาที่เขาเชี่ยวชาญที่สุดคือlabor economics จนเป็นนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าคนหนึ่งของโลกในเรื่องนี้

Krueger เขียนบทความวิเคราะห์เรื่องราคาตั๋วคอนเสิร์ต Rock n' Roll ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังเขียนหนังสือเกี่ยวกับสาเหตุของการก่อการร้ายเศรษฐศาสตร์ของอุตสาหกรรมดนตรี(หนังสือกำลังจะวางตลาด)ผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำฯลฯ

“Great Gatsby Curve” เป็นชื่อที่เขาใช้เรียกปรากฏการณ์ที่ประเทศซึ่งมีความเหลื่อมล้ำมากจะทำให้มีความคล่องตัวในการไต่เต้าฐานะทางเศรษฐกิจ(economic mobility)ผ่านชั่วอายุคนยากยิ่งขึ้น กล่าวคือการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในกลุ่มคนหนึ่งในชั่วคนหนึ่งจะทำให้ลูกหลานของกลุ่มอื่นที่ยากจนในชั่วคนต่อๆ ไปยากที่จะเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจของตนขึ้นมาได้(Great Gatsbyเป็นชื่อนิยายดังของF. Scott Fitzgerald ซึ่งเน้นเรื่องความเหลื่อมล้ำและการแบ่งชนชั้นของคนอเมริกันในทศวรรษ 1920)

พูดอีกอย่างหนึ่งคือ“เส้น Great Gatsby”ชี้ให้เห็นว่าการเกิดในครอบครัวที่ยากจนมีความเป็นไปได้น้อยที่จะสามารถยกฐานะทางเศรษฐกิจของตนเองในอนาคต ยิ่งประเทศมีความเหลื่อมล้ำมากเท่าใดก็ยิ่งยากเพียงนั้น

ข้อสรุปเช่นนี้อาจคาดเดาได้โดยใช้เหตุผลและทฤษฎี แต่หลายสิ่งก็ไม่เป็นจริงดังเรื่องของค่าจ้างขั้นต่ำที่เชื่อกันมานานว่าการเพิ่มขึ้นจะทำให้มีการจ้างงานน้อยลงในหมู่คนงานที่มีค่าจ้างต่ำ Alan Krueger ใช้หลักฐานจริงผสมกับเศรษฐศาสตร์พิสูจน์ว่า ในเศรษฐกิจอเมริกันในทศวรรษ1980 นั้น ไม่เป็นความจริง กล่าวคือ ไม่เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานแต่อย่างใด ข้อสรุปนี้มีผลอย่างสำคัญต่อการกำหนดนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำของสหรัฐในเวลาต่อมา

Krueger เป็นนักเศรษฐศาสตร์แรงงานหัวสมัยใหม่ที่ดังที่สุดคนหนึ่งในรอบ 30 ปีที่ใช้ข้อมูลซึ่งจัดเก็บอย่างเป็นระบบมาวิเคราะห์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบ โดยไม่ใช้เหตุผลตามทฤษฎีแต่เพียงอย่างเดียวในการสรุปดังที่มักทำกันในอดีต การใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ทำให้เขามีชื่อเสียงในด้านเศรษฐศาสตร์แรงงานการศึกษาสาธารณสุข ฯลฯ

เขาได้รับการชักชวนจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโอบามา ให้ไปทำงานในกระทรวงการคลังในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจคือ ปี 2009-2010 Krueger มีผลงานโดดเด่นในการใช้ข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์ด้วยความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจนประธานาธิบดีโอบามา เลือกเขามาเป็น Chairman of the Council of Economic Advisers (หัวหน้าที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี)ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากโดยดำรงตำแหน่งระหว่าง ปี 2011-2013

เมื่อพ้นจากตำแหน่งเขากลับไปสอนหนังสือที่Princeton มหาวิทยาลัยที่เขาสอนมากว่า 30 ปีจนเสียชีวิต Kruege rเริ่มมีชื่อเสียงจากการใช้ข้อมูลที่เขาเก็บเองจากการสำรวจในยุคที่วิธีการนี้ยังไม่เป็นที่นิยมและมีส่วนในการช่วยเปลี่ยนแปลงให้เศรษฐศาสตร์หันมาใช้การทดลองในห้อง“แล็บธรรมชาติ” (การสำรวจข้อมูลชีวิตและพฤติกรรมของผู้คน)เพื่อศึกษาผลกระทบจากนโยบายของภาครัฐ สิ่งที่เขาสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมตลอดจนผลกระทบจากนโยบายและวิธีการเยียวยา

อุดมการณ์ในชีวิตของการใช้วิชาการเพื่อทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้เขาต้องการเข้าใจความทุกข์ทรมานของมนุษย์และการใช้นโยบายสาธารณะช่วยเหลือ Kruegerได้ชื่อว่าเป็นผู้เสนอนโยบายเศรษฐกิจอย่างเข้าถึงหัวใจมนุษย์โดยเห็นมนุษย์เป็นมนุษย์ มิใช่เป็นเพียงตัวเลข

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์มักพิจารณาก็คือตัวเลขการว่างงาน(หรือการจ้างงานที่เป็นตัวเลขกลับกันคนละด้าน)ซึ่งถึงแม้จะรู้ว่าเป็นตัวเลขที่สำคัญมากเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและครอบครัว ตลอดจนกำลังซื้อและฐานภาษี แต่ก็มักหยุดเพียงแค่นั่น มิได้ลงลึกไปกว่านั้นว่าคนว่างงานมีความรู้สึกที่แท้จริงอย่างไรและมีผลกระทบต่อเรื่องต่างๆมากน้อยเพียงใด

ตรรกะของKruegerในเรื่องการว่างงานก็คือ ถ้าไม่เข้าใจความรู้สึกลึกๆ ของคนว่างงานแล้วการเยียวยาที่ถูกต้องโดยภาครัฐก็ไม่มีประสิทธิภาพ เขาพบว่าสิ่งที่เจ็บปวดที่สุดของคนว่างงานก็คือการ ดิ้นรนหางาน ถ้าไม่เข้าใจประเด็นนี้อย่างลึกซึ้งแล้วนโยบายช่วยบำบัดความเจ็บปวดและช่วยให้กลับมายืนบนขาตัวเองก็จะผิดพลาด

ก่อนหน้าเขาเสียชีวิตไม่กี่ปี Kruegerศึกษาแรงงานอเมริกันและพบความเชื่อมโยงระหว่าง 2 เรื่องที่ดูเผินๆ เหมือนอยู่ห่างกันนั่นก็คือ อัตราการอยู่ในแรงงานกับอัตราการเพิ่มขึ้นของการติดยาระงับความปวดชนิดมีฐานจากฝิ่น(opioid painkillers) ซึ่งการค้นพบนี้สร้างความตกใจให้แก่ผู้กำหนดนโยบายอย่างนึกไม่ถึง

เขาพบว่าเกือบครึ่งหนึ่งของชายในวัยแรงงานที่อยู่ในการทำงานนอกระบบใช้ยาระงับความปวดในแต่ละวัน แรงงานชายเหล่านี้บอกว่าเขาขาดสภาพที่ดีทางจิตใจตลอดมาและรู้สึกว่างานที่ทำนั้นมีความหมายน้อย

การใช้ยาแก้ปวดประเภทนี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสหรัฐ opioids เป็นประเภทของยาชนิดแรงเพื่อระงับความปวดที่มีฐานจากฝิ่น (opium) เช่น oxycodone / hydrocodone / fentanyl และtramadol ยาเหล่านี้ใช้ระงับความปวดที่เรื้อรังและจากโรคมะเร็ง หากใช้ในปริมาณน้อยและเป็นระยะเวลาสั้นก็เป็นผลดีและไม่เป็นอันตราย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความเสี่ยงในการพึ่งพิงหรือติดยาเอาเลยโดยใช้ต่อไปเรื่อยๆจนอาจถึงจุดที่บริโภคเกินขนาดจนถึงแก่ชีวิต

ในปี 2016 มีใบสั่งยาประเภทนี้อยู่66.5% ในจำนวน 100 คน  1 ใน 5 คนใช้ยาประเภทนี้สำหรับความปวดที่มิได้เกิดจากมะเร็ง ในปี2016 มีคนตายเพราะใช้ยาเกินขนาด 64,000 คน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้มาจากการใช้ยาประเภทนี้

แรงงานที่ Krueger กล่าวถึงเป็นส่วนหนึ่งของสถิติเหล่านี้ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอนถ้าไม่มีนโยบายที่เหมาะสมจากภาครัฐภายใต้การผลักดันของ Krueger นักเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ “economics as if people matter” (เศรษฐศาสตร์ที่ราวกับว่าคนมีความสำคัญ)

ชีวิตของ Krueger สอนให้นักเศรษฐศาสตร์ศึกษาอย่างลงลึกกับข้อมูลปฐมภูมิเพื่อค้นหาหลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ โดยต้องเข้าใจความรู้สึกของเขาอย่างแท้จริง มิใช่เห็นเป็นเพียงสิ่งของหรือตัวเลข