การศึกษาศักยภาพของเมืองท่องเที่ยว

การศึกษาศักยภาพของเมืองท่องเที่ยว

ผู้วางนโยบายและผู้บริหารระดับสูงมักคิดว่าการท่องเที่ยวเป็นวิธีการพัฒนาพื้นที่ได้ทุกแห่ง แต่ข้อเท็จจริง คือ

เมืองต่างๆ ของไทยมีศักยภาพแตกต่างกันมากระหว่างเมืองท่องเที่ยวหลัก เมืองท่องเที่ยวรอง และเมืองที่ไม่มีการท่องเที่ยว ดังนั้น จึงควรมีความตระหนักในเบื้องต้นว่าการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองท่องเที่ยวได้ ยังต้องอาศัยการวางแผนการออกแบบและการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนอีกมาก เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นการพัฒนาที่มีต้นทุน

ความแตกต่างของศักยภาพนี้เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1) ทุนประเดิมด้านทรัพยากรท่องเที่ยว ซึ่งเมืองท่องเที่ยวหลักมักจะเป็นเมืองที่มีอากาศเย็นในฤดูหนาวหรือเมืองที่มีชายทะเล เป็นสาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่กระจุกตัวสูงในเมืองท่องเที่ยวหลักที่มีแม่เหล็กด้านการท่องเที่ยว 2) การเข้าถึงโดยการขนส่งทางอากาศ และ 3) จำนวนผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ดังนั้น ดัชนีความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยววัดจากค่าจีนี่ (GINI) จึงมีค่าสูง (0.84) และสูงกว่าการกระจายรายได้ของคนไทยถึงประมาณ 1 เท่า แสดงรายละเอียดดังตารางที่ 1 ปัจจัยที่มีความเหลื่อมล้ำสูงมากก็คือการกระจุกตัวของจำนวนผู้ประกอบการสูงมี ค่าจีนี่ ถึง 0.82 ในขณะที่ตัวชี้วัดด้านการเข้าถึงและดัชนีการขนส่งระหว่างจังหวัดมีความเหลื่อมล้ำต่ำกว่า 

การศึกษาศักยภาพของเมืองท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าถึงแม้การคมนาคมและการเข้าถึงทางบกจะมีศักยภาพสูงในเมืองเอกของทุกจังหวัด แต่ในด้านห่วงโซ่อุปทาน เช่น ที่พัก ร้านอาหารและผู้ประกอบการนำเที่ยวก็ยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง อุปสรรคของการขยายการท่องเที่ยวทั้งในเมืองหลักและเมืองรองเป็นเรื่องการขนส่งสาธารณะภายในจังหวัดและภายในตัวเมือง ถ้าไม่เชื่อก็ลองหิ้วกระเป๋าไปเที่ยวเมืองรองจังหวัดไหนก็ได้ เช่น ลำปางหรือพัทลุง พอนักท่องเที่ยวไปถึงถ้าไม่เช่ารถและคิดจะอาศัยการขนส่งสาธารณะก็จะตกอยู่ในภาวะไปต่อไม่ถูก(ดังตาราง ค่าสัมประสิทธฺ์ GINI ของประเทศไทยด้านการท่องเที่ยว) 

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้มีการลงทุนมหาศาลในการสร้างการเข้าถึงเมืองท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งการลงทุนนี้เป็นการลงทุนของรัฐบาลกลางในด้านการเข้าถึงเมืองศูนย์กลางของจังหวัด แต่สาธารณูปโภคอื่นๆ หรือแม้แต่การเดินทางภายในเมืองศูนย์กลางเพื่อการรองรับการท่องเที่ยวต้องอาศัยการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีงบประมาณจำกัดกว่าดังนั้น ศักยภาพด้านการเข้าถึงและการรองรับในแต่ละเมืองจึงแตกต่างและไม่สมดุล และแม้แต่เมืองหลักเช่น ภูเก็ต มีการลงทุนด้านการนำเข้านักท่องเที่ยวกับความสามารถในการรองรับไม่สมดุลกันจนกระทั่งเกินขีดจำกัดของสาธารณูปโภค

แผนงานคนไทย 4.0 ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้มอบหมายให้ ดร.อัครพงศ์ อั้นทองการศึกษาเกี่ยวกับรายได้จากการท่องเที่ยวขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ของจังหวัดต่างๆ พบว่า มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูง (ตารางที่ 1) นอกจากนั้น อบจ. ยังเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เช่น ภูเก็ต มีรายได้จากการการท่องเที่ยวในปี พ.ศ. 2560 ถึง 3.75 แสนล้านบาท มีห้องพักถึงกว่า 80,000 ห้อง แต่เก็บค่าธรรมเนียมได้เพียง 168.93 ล้านบาท ดังนั้น ในสภาพปัจจุบัน อบจ. เกือบทุกจังหวัดจึงยังไม่มีศักยภาพในด้านการคลังเพียงพอที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เป็นกิจจะลักษณะ

เมืองท่องเที่ยวหลักที่อาศัยการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการอนุรักษ์เมืองเก่า เช่น เชียงใหม่ ประสบปัญหาการขยายตัวอย่างไร้ทิศทางของการลงทุนของภาคเอกชน และที่ขาดการบูรณาการของ การดำเนินการภาครัฐ ความหย่อนยานของการดูแลพื้นที่สาธารณะและพื้นที่วัดร้าง ทำให้ลดทอนคุณค่าด้านสุนทรีย์และวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่ ส่วนเมืองท่องเที่ยวชายแดน เช่น เชียงราย ยังประสบปัญหาความไม่มีเอกภาพของรัฐที่บริหารด่านชายแดนของไทย ซึ่งต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับเมืองท่องเที่ยวรอง เช่น ลำปางและพัทลุง ยังอาศัยการท่องเที่ยวจากของนักทัศนาจรเป็นหลัก เนื่องจากยังไม่มีความพร้อมทั้งในด้านการขนส่งภายในเมือง ที่พัก และผู้ประกอบการท่องเที่ยวดังที่กล่าวมาแล้ว

การโหมโฆษณาเมืองรองโดยไม่สนใจการขยายการรองรับของเมืองให้มีประสิทธิภาพก็จะทำให้เกิดปัญหาทั้งด้านภาพลักษณ์และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติตามมา

บทบาทของรัฐมนตรีใหม่น่าจะอยู่ที่การทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนในพื้นที่ ก่อนมากกว่าการติดต่อกับภาคท่องเที่ยวระดับนานาชาติ