แผนยุทธศาสตร์ตลาดร่วมดิจิทัลยุโรป: กรณีศึกษาอาเซียน

แผนยุทธศาสตร์ตลาดร่วมดิจิทัลยุโรป: กรณีศึกษาอาเซียน

แผนยุทธศาสตร์ตลาดร่วมดิจิทัล (Digital Single Market Strategy) เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ

ภายใต้การบริหารของนาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปคนปัจจุบัน ซึ่งกำลังจะหมดวาระลงในเดือนต.ค. ศกนี้ โดยเขาเคยกล่าวก่อนเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2557 ว่า “เราควรจะใช้โอกาสของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ซึ่งไม่มีพรมแดนให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเพื่อบรรลุผลสำเร็จเราจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การจัดการควบคุมคลื่นความถี่ ตลอดจนข้อบัญญัติกฎหมายการแข่งขันที่เป็นธรรม เพื่อที่เราจะสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้เข้าถึง บริการ ดนตรี ภาพยนตร์ และกิจกรรมกีฬาจากเครื่องมือสื่อสารทั่วทั้งยุโรป ซึ่งปัจจุบันข้อเสนอทางกฎหมายภายใต้แผนยุทธศาสตร์ตลาดร่วมดิจิทัลจำนวน 30 ข้อ มี 28 ข้อที่ได้รับการเห็นชอบโดยสภายุโรปและคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปแล้ว เหลือเพียง 2 ข้อที่อยู่ระหว่างการหารือ

โดยภาพรวม ตลาดร่วมดิจิทัลคือการส่งเสริมตลาดการค้าภายในอียูที่ซึ่งสินค้า บริการ และเงินทุนสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี ปราศจากข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์ โดยมี 3 เสาหลักสำคัญ ดังนี้ 1) การส่งเสริมการเข้าถึงสินค้าและบริการดิจิทัลทั่วยุโรปแก่บุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ 2) การสร้างเงื่อนไขและสนามการแข่งขันที่เหมาะสมสำหรับเครือข่ายดิจิทัลและบริการทางนวัตกรรมให้เจริญเติบโตยิ่งขึ้น 3) การใช้เศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด

กลยุทธ์ด้านตลาดร่วมดิจิทัลประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ได้แก่ ความเชื่อมโยง (Connectivity) พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) ข้อมูล (Data) สื่อและลิขสิทธิ์ (Media/Copyright) การสร้างความเชื่อใจ (Trust) และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government) กฎระเบียบซึ่งถูกผลักดันและมีผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมามีหลายประการด้วยกัน อย่างเช่น การวางแผนยกเลิกการจำกัดข้อมูล สินค้า และบริการตามพิกัดประเทศ (Geo-blocking) เมื่อต้นปี 2561 การออกกฎข้อบังคับเรื่องการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของการสื่อสารหรือธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (General Data Protection Regulation) เมื่อเดือน พ.ค.2561 การออกกฎหมายร่วมความมั่นคงด้านไซเบอร์ (Common Cybersecurity Law) เป็นครั้งแรกในปีเดียวกัน และการยกเลิกการคิดค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านแดน (Roaming) อย่างเป็นทางการระหว่างประเทศสมาชิกทั้ง 28 ประเทศเมื่อ 15 มิ.ย. 2560 ภายใต้นโยบายด้านโทรคมนาคมที่เรียกว่า “Roam Like at Home” และเมื่อไม่นานมานี้ ในวันที่ 15 พ.ค. 2562 อียูก็ได้ออกกฎระเบียบที่สำคัญอีกหนึ่งประการด้านการสื่อสารเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเกี่ยวกับการกำหนดเพดานค่าโทรศัพท์และส่งข้อความสั้น (SMS) ภายในอียู

ทีมงาน Thaieurope.net สนใจศึกษาพัฒนาการด้านโทรคมนาคมของอียูซึ่งเป็นประสบการณ์ที่สำคัญที่ภูมิภาคอาเซียนสามารถเรียนรู้เพื่อปรับใช้ในภูมิภาคได้ เช่น การยกเลิกค่าบริการโรมมิ่ง (Roaming) ภายใต้นโยบาย Roam Like at Home คือ การที่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของอียูที่ใช้บริการโรมมิ่งชั่วคราวภายในอียูสามารถใช้บริการโทรศัพท์ ข้อความ และอินเตอร์เน็ต ได้ในอัตราเดียวกับการใช้งานภายในประเทศ ทั้งนี้ อียูได้กำหนดแนวทางป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้ให้บริการของประเทศที่มีค่าบริการต่ำ เพื่อป้องกันการใช้งานระยะยาวนอกประเทศ โดยให้ผู้ให้บริการสามารถคิดค่าบริการเพิ่มเติมสำหรับผู้ใช้บริการโรมมิ่งที่มีการใช้งานนอกประเทศมากกว่าในประเทศได้ ส่วนรายละเอียดของกฎระเบียบใหม่ที่เกี่ยวกับการกำหนดเพดานค่าโทรศัพท์และส่งข้อความสั้น (SMS) ภายในอียูนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกฎระเบียบในการจัดตั้ง Body of European Regulators for Electronic Communications (BEREC) โดยกำหนดให้ลดอัตราค่าโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมถึงการส่งข้อความสั้นภายในอียู ลงเป็นไม่เกิน 0.19 ยูโร/นาที และไม่เกิน 0.06 ยูโร/ข้อความ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยกฎระเบียบด้านโทรคมนาคมทั้งสองมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการทำธุรกิจ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอียู ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้คน และวางรากฐานสำหรับเครือข่าย 5G

หากเราศึกษามาตรการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของอียู จะเห็นได้ว่าระบบการสื่อสารที่เปิดกว้าง เสรี และเป็นธรรมไม่ได้เกิดขึ้นภายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่สามารถย้อนกลับราวเกือบ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่สหพันธ์ผู้ใช้งานโทรคมนาคมของสหราชอาณาจักรตีพิมพ์รายงานค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านแดนทั่วยุโรป ที่ชี้ให้เห็นว่ามีอัตราสูงกว่าปกติ อียูจึงเริ่มศึกษาข้อมูลการใช้งานโรมมิ่งในช่วงระหว่างปี 2540 – 2543 อย่างละเอียด จนนำไปสู่การเริ่มต้นจัดการกับปัญหาเรื่องความโปร่งใสของค่าบริการโรมมิ่งในปี 2548 ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งเว็บไซต์เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเปรียบเทียบค่าบริการโรมมิ่งในต่างประเทศได้ด้วยตนเอง ด้วยหวังให้ผู้ให้บริการใช้กฎที่เข้มงวดเรื่องความโปร่งใสเป็นแรงกระตุ้นในการจัดการกับอัตราโรมมิ่งที่แพงเกินจริง อย่างไรก็ดีมาตรการดังกล่าวยังไม่ช่วยลดค่าบริการโรมมิ่งที่แพงเกินจริง อียูจึงออกกฎระเบียบ Roaming I ครั้งแรกในปี 2550 โดยกฎระเบียบฉบับนี้กำหนดอัตราภาษีที่เรียกว่า “Eurotariff” ที่ต่ำลงกว่าเดิมอย่างมาก ทำให้ค่าบริการโรมมิ่งในอียูลดลงถึง 60 %

อย่างไรก็ดี กฎระเบียบ Roaming I ไม่ได้รวมถึงการส่งข้อความสั้นและการใช้งานอินเตอร์เน็ตซึ่งมีค่าบริการที่สูงกว่าการใช้ภายในประเทศถึง 10 เท่า ดังนั้น จึงมีการทบทวนกฎระเบียบครั้งแรก ในปี 2551 โดยได้เพิ่มข้อกำหนดบางส่วน เช่น การลดค่าบริการการส่งข้อความสั้นและการใช้งานอินเตอร์เน็ตที่เรียกเก็บโดยบริษัทผู้ให้บริการในต่างประเทศ ตลอดจนการลดค่าโทรลงอีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่กฎระเบียบฉบับที่ 2 (Roaming II) ในปี 2552 โดยขยายการบังคับใช้ให้ครอบคลุมประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area) และขยายระยะเวลาไปจนถึงปี 2555 ตลอดจนการพัฒนากลไกเรื่องความโปร่งใสเพื่อป้องกันใบแจ้งหนี้ที่คิดเงินเกินจำนวนการใช้งานจริง ผลจากกฎระเบียบ Roaming II ทำให้ภายในเดือน มิ.ย. 2554 อัตราค่าโทรออกและรับโทรศัพท์ในอียูลดลง 46 % และ 55 % เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2550 ในขณะที่อัตราค่าบริการส่งข้อความสั้นก็ลดลงถึง 60 %

ต่อมา ในปี 2553 ภายใต้วิสัยทัศน์ Digital Agenda for Europe อียูพยายามผลักดันการลดค่าบริการโรมมิ่งให้เหลือศูนย์ โดยได้ทบทวนกฎระเบียบ Roaming II อีกครั้ง จนนำไปสู่การยกเลิกการคิดค่าบริการโรมมิ่งในวันที่ 15 มิถุนายน 2560

กรณีศึกษาข้างต้นชี้ให้เห็นว่า การพัฒนากฎระเบียบด้านโทรนาคมดังกล่าวเกิดจากข้อกังวลของอียูที่เห็นว่าค่าบริการที่สูงเกินจริงเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจและการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนภายในอียู โดยกฎระเบียบที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนภายในยุโรปได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเป็นตลาดร่วมของอียู นอกจากนั้น ประชาชนจากประเทศที่สามไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจหรือนักท่องเที่ยวก็ยังได้รับประโยชน์จากกฎระเบียบฉบับนี้เมื่อเดินทางมาติดต่อธุรกิจหรือท่องเที่ยวภายในยุโรป ดังนั้น หากอาเซียนสามารถนำประสบการณ์ของอียูมาปรับใช้เพื่อสร้างตลาดร่วมด้านโทรคมนาคมของอาเซียนได้ ก็จะเป็นการเอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจภายในอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่า ปัจจุบันอาเซียนมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลกและมีอุปสงค์หลากหลาย ตลอดจนมีประชากรกว่า 628 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อตลาดในอาเซียนเปิดโอกาสและศักยภาพในการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการทุกขนาด แต่อาเซียนยังคงพึ่งพาการค้ากับโลกภายนอกมากถึง 3 ใน 4 ของการค้าทั้งหมด ซึ่งตรงกันข้ามกับอียูที่มีการค้าภายในระหว่างกันถึง 3 ใน 4 ของการค้าทั้งหมด

การส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทำการค้าขายหรือการลงทุนระหว่างกันจึงควรเร่งพัฒนาความร่วมมือในหลายๆ ด้าน สำหรับด้านโทรคมนาคม อาเซียนมีความพยายามที่จะลดค่าบริการโรมมิ่งระหว่างกันภายในภูมิภาค ซึ่งได้ระบุไว้เป็นหนึ่งในกิจกรรมของแผ่นแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอาเซียนปี 2563 หรือ ASEAN ICT Masterplan 2020 โดยมีเป้าหมายเพื่อนำอาเซียนไปสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างมั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน โดยวางแผนเพื่อลดอัตราค่าบริการโทรศัพท์ การส่งข้อความสั้น และการใช้งานอินเตอร์เน็ตภายในภูมิภาคอาเซียน โดยทุกฝ่ายต่างเห็นว่าการมีค่าบริการโรมมิ่งที่ถูกลงจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจและช่วยดึงดูดให้นักลงทุนอาเซียนเข้ามาลงทุนในประเทศของตน ที่สำคัญจะสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันของอาเซียน (ASEAN Connectivity) โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน

อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีเพียงแค่ข้อตกลงทวิภาคีระหว่าง สิงคโปร์-มาเลเซีย และสิงคโปร์-บรูไนที่สามารถลดค่าบริการโรมมิ่งระหว่างกันและใช้อัตราเดียวกัน ดังนั้น ประเทศอาเซียนที่เหลือควรพยายามผลักดันให้มีความร่วมมือกันต่อไปทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี โดยไทยอาจใช้โอกาสการเป็นประธานอาเซียนในปี นี้ผลักดันความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลและโทรคมนาคม เพื่อสร้างความต้องการ สร้างงาน และสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคต่อไป