ขยับการผลิตเข้าใกล้ตลาด…อีกกลยุทธ์ทางธุรกิจที่กำลังมาแรง

ขยับการผลิตเข้าใกล้ตลาด…อีกกลยุทธ์ทางธุรกิจที่กำลังมาแรง

หนึ่งในพฤติกรรมเด่นของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คือ ไม่ชอบการรอคอย เนื่องจากเคยชินกับการได้รับสิ่งที่ต้องการแทบจะทันที

ยืนยันได้จากการที่มีผู้บริโภคหันไปเลือกชมรายการโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ผ่านช่องทาง Streaming มากขึ้น เพราะสามารถข้ามช่วงที่ไม่ต้องการชมและเลือกชมเฉพาะตอนที่ต้องการได้ หรือแม้กระทั่งการใช้ Video Calling เพื่อเห็นหน้าเพื่อนทันทีที่นึกถึงกันจนเป็นเรื่องปกติ ความคุ้นชินเหล่านี้ ทำให้ช่วงเวลาของการรอคอยสิ่งต่างๆ ที่ต้องการมีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคจึงยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้น เพื่อให้ระยะเวลาของการรอคอยสั้นลง ยอมเสียเงินมากขึ้นเพื่อให้ได้รับสินค้าและบริการที่เร็วขึ้น พฤติกรรมดังกล่าวกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต่างหาวิธีตอบสนองผู้บริโภคยุคใหม่ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการย้ายฐานการผลิตเข้าใกล้ตลาดเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่หลายบริษัทชั้นนำของโลกใช้เพื่อตอบสนองผู้ซื้อให้รวดเร็วขึ้น (Speed to Market)

 Adidas เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ แม้ปัจจุบัน Adidas ผู้ผลิตรองเท้าและเครื่องกีฬาชั้นนำสัญชาติเยอรมันจะยังครองความเป็นผู้นำตลาดรองเท้ากีฬาของโลก แต่ Adidas ก็ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนา โดยการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งสำคัญด้วยการตั้งโรงงานผลิตแบบอัตโนมัติ หรือ “Speed Factory” ทั้งในเยอรมนี และสหรัฐฯ ระบบ Speed Factory นอกจากทำให้ Adidas ผลิตสินค้าได้เร็วขึ้นกว่าการผลิตแบบปกติถึง 3 เท่า ขณะที่ยังคงรักษาราคาได้ใกล้เคียงกับสินค้าที่ผลิตจากฐานการผลิตในเอเชียแล้ว

ที่สำคัญการขยับการผลิตมาอยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค โดยเฉพาะใน EU และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักอันดับ 1 และอันดับ 2 นั้น ยังทำให้ Adidas สามารถเสนอบริการใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ปัจจุบันต้องการความแตกต่าง และไม่ชอบการรอคอย ได้เป็นอย่างดี อาทิ การให้ลูกค้าใน EU และสหรัฐฯ สามารถเลือกออกแบบและสั่งผลิตรองเท้ากีฬาในลักษณะที่ต้องการได้ทันทีผ่านช่องทางจำหน่ายแบบออนไลน์ ล่าสุด Adidas มีแผนสร้าง Speed Factory เพิ่มขึ้นในอังกฤษและฝรั่งเศส

อีกบริษัทหนึ่งที่ใช้กลยุทธ์ขยับเข้าใกล้ตลาดได้อย่างน่าสนใจ คือ Zara แบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นระดับโลกสัญชาติสเปนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำในธุรกิจ Fast Fashion ความสำเร็จของแบรนด์ Zara เกิดขึ้นจากการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจโดยเน้นการเข้าถึงความต้องการของลูกค้าให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการกระจายโรงงานผลิตเสื้อผ้าให้อยู่ใกล้ตลาดเป็นหลัก เพื่อให้เสื้อผ้าถึงมือผู้บริโภคในประเทศต่างๆ ได้เร็วขึ้นทันกับกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ การใช้โรงงานในสเปน โปรตุเกส ตุรกี และโมร็อกโก ผลิตเสื้อผ้าป้อนตลาดยุโรป แทนโรงงานตัดเย็บในเอเชียซึ่งแม้มีค่าจ้างถูก
แต่ต้องใช้เวลาขนส่งสินค้านานนับเดือน ซึ่งรูปแบบการดำเนินธุรกิจเช่นนี้ ทำให้ Zara สามารถเสนอสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดได้เร็วกว่าแบรนด์ทั่วไปถึง 4 เท่า

 ผมคิดว่าทิศทางการลงทุนตั้งโรงงานผลิตสินค้าใกล้ตลาดจะมีให้เห็นเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อจากนี้ โดยธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่นำมาใช้ คือ ธุรกิจ Fast Fashion อย่างเสื้อผ้าและรองเท้าที่แบบของสินค้ามีรอบอายุ (Life Cycle) สั้น จึงจำเป็นต้องผลิตและส่งมอบสินค้าถึงมือผู้บริโภคให้เร็วที่สุดก่อนที่กระแสแฟชั่นจะเปลี่ยนไป นอกจากนี้ กระแสการลงทุนผลิตสินค้าใกล้ตลาดอาจเป็นคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ตอกย้ำว่าการค้าภายในภูมิภาคจะทวีบทบาทสำคัญมากขึ้น ส่วนการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย ทั้งความรุนแรงของสงครามการค้า และมาตรการกีดกันในตลาดโลก ตลอดจนการรวมตัวเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง Technology Disruption รวมถึงต้นทุนของการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการผลิตสินค้าแต่ละประเภท

แม้ที่ผ่านมาอาจยังไม่เห็นผู้ประกอบการไทยนำกลยุทธ์ย้ายฐานผลิตเข้าใกล้ตลาดเพื่อตอบสนอบความต้องการของผู้ซื้อให้เร็วขึ้นอย่าง Adidas และ Zara การย้ายฐานผลิตส่วนใหญ่ยังเกิดจากเหตุผลเดิม เช่น แสวงหาแรงงานราคาถูก แหล่งวัตถุดิบ และหลีกเลี่ยงระเบียบนำเข้าที่เข้มงวด แต่ภายใต้บริบทโลกใหม่ที่ทุกอย่างรอบตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ท่านช่วงชิงความได้เปรียบทางธุรกิจได้ก่อนคนอื่น นอกจากนี้  การหมั่นวิเคราะห์ตลาดและกลุ่มผู้ซื้อที่แท้จริงจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดได้อย่างแม่นยำ และทำให้ท่านมีเวลาในการเตรียมตัว อาทิ การปรับปรุงแผนธุรกิจ หรือปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ให้สอดคล้องกับโอกาสหรือข้อจำกัดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตครับ