ปลุกฟื้นจิตวิญญาณชาวพุทธ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี !!

ปลุกฟื้นจิตวิญญาณชาวพุทธ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในเวลานี้ เสียงชื่นชมยินดีที่ประชาชนน้อมถวายสดุดีใน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ที่ทรงพระสรวลตลอดเวลาในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎในแต่ละสถาบัน ประจำปีการศึกษา 2559-2560 ได้แพร่ไปทั่ว พร้อมเสียงจากข้อความทรงพระเจริญ ที่ส่งกันมากมายในโลกอินเทอร์เน็ตของสังคมไร้พรมแดน ขอพระองค์ทรงพระเจริญ !

ห้วงเวลา 13-20 มิถุนายน 2562 ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจที่ ฟลอริดา และ วอชิงตัน ดีซี ตามกิจนิมนต์ โดยได้ไปแสดงธรรมที่วัดฟลอริดาธรรมาราม ถวายแด่ พระเดชพระคุณพระธรรมเมธาจารย์ คณะสงฆ์ และศรัทธาชาวพุทธในฟลอริดา และได้รับนิมนต์ไปแสดงธรรมที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน

การแสดงธรรมนำปฏิบัติบูชาทั้งสองแห่งมีคุณค่ายิ่งต่อการฟื้นฟูหรือปลูกฝังจิตวิญญาณวิถีพุทธให้เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้นในจิตใจของชาวพุทธ

พุทธศาสนาจะสืบเนื่องต่อไปในโลกนี้ได้ยาวนานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับความเคารพด้วยการศึกษาปฏิบัติที่ถูกต้องตรงพระธรรมวินัย

ผู้ที่จะแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ได้อย่างถูกต้องตรงคุณประโยชน์นั้น จะต้องเรียนรู้หรือศึกษา เพื่อเข้าให้ถึงคุณพระทั้งสามด้วยตนเอง จนสามารถปลูกฝังความศรัทธาปสาทะลงไปในจิตใจของตนเองได้อย่างมั่นคง จนนำไปสู่การแสดงความเคารพ ด้วยการประพฤติปฏิบัติบูชาถูกต้องเหมาะสมกับความเป็นชาวพุทธ

ความศรัทธาที่ถูกต้องตรงตามธรรมนั้นจะนำไปสู่ความสังวรหรือแวดระวัง กาย วาจา ใจ ให้มีความสำรวมอยู่ในฐานความสุจริตในทุกขณะ จนดำรงอยู่อย่างเป็นปกติต่อการไม่ทำชั่ว มุ่งทำความดี

การละชั่ว ทำดี จึงเป็นหลักเป็นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติที่มีพุทธศาสนาเป็นสรณะ นั่นหมายถึง จะต้องมี ศีลสังวร สติสังวร สัมปชัญญะหรือปัญญาสังวร

ความสังวร 3 ประการดังกล่าวจะเป็นทักษะของการพัฒนาชีวิต เพื่อดำเนินไปในโลกนี้อย่างไม่หวั่นไหวในโลก ที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพธรรมอันเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ

ชาวพุทธแท้จริงที่มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จึงมีลักษณะความสำรวมระวังหรือมีความสงบเป็นลักษณะธรรม ดังพระอริยสาวกทั้งหลายที่แม้จะมาประชุมกันเนืองแน่นเป็นพันเป็นหมื่น แต่จะอยู่กันอย่างสงบ กล่าวว่าแม้เสียงกระแอมก็ไม่ได้ยิน จนเป็นที่น่าเลื่อมใสศรัทธาในหมู่ชน แม้คนต่างศาสนาที่พบเห็น

การมีความสังวรหรือแวดระวังด้วย ศีล สติ และปัญญา ที่นำไปสู่ความเป็นผู้มีขันติสังวร จะถูกพัฒนาให้เป็นผู้มีวิริยสังวร เพื่อการพัฒนาชีวิตให้มีคุณค่าแห่งความดีไม่เสื่อมสูญ จนก่อเกิดเป็นพลังคุณธรรมในการ

ขับเคลื่อนชีวิตผ่านปัญหาอุปสรรคนานาประการไปได้อย่างกล้าหาญ สมฐานะสัตว์ประเสริฐผู้สามารถสร้างปัญญาญาณให้เกิดขึ้นในชีวิตได้

ชาวพุทธ จึงสวดบูชา ตั้ง นะโม กระทำความนอบน้อมด้วย มโน คือ จิตใจ เพื่อถวายสักการบูชาแด่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง เราจึงเห็นความนอบน้อมจากการตั้งนะโม ตัสสะฯ ขึ้น ด้วยกาย วาจา ใจ ครบองค์ 3 แห่งกุศลกรรมบถ ถวายบูชาแทนดอกไม้ธูปเทียนทองที่เป็นอามิสบูชา

ความเป็นผู้มีใจนอบน้อมจึงนำไปสู่การพัฒนาจิตให้มีคุณธรรมของความเป็นมนุษยชาติ ที่เรียกว่า มนุษยธรรม ได้อย่างไม่ยาก และนั่นคือ ที่มาของการรับศีล 5 ข้อ ที่เรียกว่า เบญจศีล มาศึกษาปฏิบัติ ด้วยจิตใจที่ก่อเกิดพรหมวิหารธรรม มีเมตตากรุณาเกิดขึ้น

ชาวพุทธเราจึงมีเมตตากรุณา อย่างเป็นปกติ จึงนำไปสู่การทำทาน การพูดจาที่เป็นประโยชน์ไพเราะอ่อนหวานสมานมิตร (ปิยวาจา) การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อนในสังคมนั้น

การร้อยเรียงจิตใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนก่อเกิดความรักสามัคคีกันในหมู่คณะจึงเกิดขึ้นในหมู่ชาวพุทธ ที่มีคติธรรมว่า “ความสามัคคีในหมู่คณะย่อมนาความสุขมาให้”

ชาวพุทธจึงมีธรรมนิยมที่มุ่งตรงไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างไม่เบียดเบียนกัน ด้วยกาย วาจา ใจ มีความเมตตากรุณาต่อกัน อย่างมีสติปัญญาประกอบความเพียรชอบ

การก้าวย่างไปสู่โลกแห่งสันติและความสุข ด้วยการปฏิบัติตนด้วยการมีสังวรธรรม จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวพุทธที่มีธรรมคติ คือ สันติภาพ สันติสุขโดยธรรม ด้วยการพัฒนาตนเองให้มีธรรม เพื่อการมีอำนาจคุ้มครองตนเอง ตามหลักพึ่งตน พึ่งธรรม ที่พระบรมศาสดาทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว และนี่คือ จิตวิญญาณของชาวพุทธที่ควรฟื้นฟูให้คืนกลับมาในจิตใจของชาวพุทธในทศวรรษนี้ !!

เจริญพร