วิเคราะห์: ดอกเบี้ยเฟด สงครามการค้า ตลาดหุ้น

วิเคราะห์: ดอกเบี้ยเฟด สงครามการค้า ตลาดหุ้น

อาทิตย์ที่แล้ว ตลาดเงินโลกเหมือนจะไม่เคลื่อนไหวเรื่องใดๆทั้งสิ้น เกาะติดอยู่อย่างเดียวกับผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธ.กลางสหรัฐว่า

จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงหรือไม่ จากที่เศรษฐกิจโลกช่วงนี้ไม่มีข่าวดีเลย ตลาดการเงินหวังให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะเป็นข่าวดีกระตุ้นให้ตลาดหุ้นทั่วโลกกับมาคึกคัก ถึงกับตลาดหุ้นในหลายประเทศได้ขยับตัวขึ้นล่วงหน้าเหมือนจะต้อนรับข่าวดีที่จะเกิดขึ้น

ที่มาของความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับปัจจุบันที่ 2.25 – 2.50% ก็เพราะ ตั้งแต่หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐครั้งล่าสุดเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจหลายอย่างในเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนไป

  1. สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐได้ทวีความรุนแรงขั้นหลังจากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ สหรัฐได้ประกาศพักรบและได้เลื่อนการขึ้นภาษีออกไประยะหนึ่ง เพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถเจรจากันได้ต่อไป แต่ในเดือนพฤษภาคม สหรัฐก็ขึ้นภาษีสินค้าจากจีนจากอัตรา 10 % เป็น 20% ครอบคลุมสินค้า ในมูลค่า 200 พันล้านบาท ซึ่งจีนก็ตอบโต้ทันทีโดยขึ้นภาษีสินค้าจากสหรัฐในวงเงิน 60 พันล้านบาท และส่งสัญญาณว่าจีนพร้อมที่จะเดินทางไกลในประเด็นสงครามการค้ากับสหรัฐ ซึ่ง ณ วันที่ธนาคารกลางสหรับประชุม เรื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาทิตย์ที่แล้ว ก็ยังไม่มีวี่แววว่าความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐจะผ่อนคลายลง
  2. เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากผลกระทบของสงครามการค้าที่กดดันให้การเติบโตของการค้าโลกปีนี้ลดลงเหลือ 2.6% ซึ่งจะเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 2008 นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของนโยบาย เช่น กรณี Brexit ก็กระทบความเชื่อมั่นและการลงทุนของภาคเอกชน กองทุนการเงินระหว่างประเทศปรับประมาณเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงให้ขยายตัว 3.3% ขณะที่ธนาคารโลกปรับประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 2.6%

 3.กรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐบางคน เช่น นายเจมส์ บูลลาด(James Bullard) เริ่มให้ความเห็นในที่สาธารณะว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจมีเหตุมีผลเพื่อป้องกันการอ่อนตัวของเศรษฐกิจและการลดลงของอัตราเงินเฟ้อคาดหวัง(Inflation Expectation) แม้แถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อเดือนเมษายน จะยืนยันว่า ธนาคารกลางพร้อมที่จะรอและยังไม่ดำเนินการใดๆ เพราะอัตราเงินเฟ้ออยู่ในเกณฑ์ต่ำ

การเปลี่ยนแปลงทั้ง 3 ด้านนี้ ทำให้ตลาดการเงินมีความหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเมื่อวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมา ต่างจากนักเศรษฐศาสตร์ที่ส่วนใหญ่วิเคราะห์ว่า ธนาคารสหรัฐคงไม่ทำอะไร คงจะยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมในการประชุมที่จะมีขึ้น

ผลการประชุมที่ออกมาเมื่อวันพุธที่ผ่านมาคือ ธนาคารกลางสหรัฐคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ 2.25 – 2.50% ไม่เปลี่ยนแปลง สร้างความแปลกใจและไม่แปลกใจให้กับผู้ร่วมตลาดกลุ่มที่แปลกใจ คือ นักลงทุนที่หวังว่า การลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ช่วยประคับประคองผลกระทบของสงครามการค้า และลดโอกาสที่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอต่อเนื่องจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย

ส่วนกลุ่มที่ไม่แปลกใจคือ นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ที่มองว่า การตัดสินใจของธนาคารกลางสหรัฐจะให้ความสำคัญต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐเป็นหลัก โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อและการมีงานทำตามพันธกิจขององค์กร ซึ่งถ้าเราอ่านแถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐหลังการประชุมเมื่อวันพุธที่ออกมาก็ชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐใช้เหตุผลเศรษฐกิจสหรัฐยังอยู่ในเกณฑ์ดี การจ้างงานเข้มแข็งและอัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นเหตุผลของการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คือ เมื่อทุกอย่างอยู่ในเป้าหมายของการดำเนินนโยบายแล้ว ก็คงไม่ต้องทำอะไร ที่สำคัญไม่มีการพูดถึงผลกระทบของสงครามการค้าในแถลงการณ์ของเฟด ทำให้ชัดเจนว่า ธนาคารกลางสหรัฐให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายภายในประเทศในการดำเนินนโยบายการเงิน คือ อัตราเงินเฟ้อและการมีงานทำมากกว่าปัจจัยเศรษฐกิจโลก หรือผลกระทบที่นโยบายอื่นๆ ของสหรัฐอาจมีต่อเศรษฐกิจโลก เช่น สงครามการค้า

แต่ที่สำคัญ แถลงการณ์คณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐย้ำว่า จะติดตามภาวะเศรษฐกิจต่อไปทั้งในและต่างประเทศเพื่อการปรับเปลี่ยนของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต

ประโยคสุดท้ายนี้เพียงพอแล้วที่ ตลาดการเงินจะใช้เป็นเหตุผลให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวขึ้น เราจึงเห็นตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรทั่วโลกปรับตัวขึ้นในช่วงปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ภายใต้ความหวังว่าเฟตกำลังปูทางไปสู่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งต่อๆไป